“ม.39” ประกันตนโดยสมัครใจ จ่ายครบคงความคุ้มครอง 6 กรณี

“ม.39” ประกันตนโดยสมัครใจ จ่ายครบคงความคุ้มครอง 6 กรณี

 

บุคคลที่เคยทำงานในสถานประกอบการและเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนภาคบังคับมาก่อน แม้จะลาออกจากงานนั้นแล้ว ยังคงสามารถรักษาสิทธิประกันสังคมได้ ด้วยการเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ตามมาตรา 39 เพียงนำเงินจ่ายสมทบเดือนละ 432 บาท และไม่ขาดส่งติดต่อกัน 3 เดือน โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์การคุ้มครอง 6 กรณี

ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย.22562 ผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานประกันสังคม(สปส.) มีจำนวน 1,612,388 คน แต่จากการรายงานข้อมูลของผู้ประกันตนมาตรา 39 พบว่ามีผู้ประกันตนมาตรา 39 ยังคงค้างชำระเงินสมทบ จำนวน 20,751 ราย ซึ่งผู้ประกันตนกลุ่มนี้สุ่มเสี่ยงต่อการสิ้นสภาพเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ทันที

“ม.39” ประกันตนโดยสมัครใจ จ่ายครบคงความคุ้มครอง 6 กรณี

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สปส.มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการสิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งเกิดจากสาเหตุสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน เนื่องจากขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือน ทั้งนี้ สปส.ได้ดำเนินการแจ้งเตือนเป็นหนังสือและข้อความ SMS ให้ผู้ประกันตนกลุ่มดังกล่าวรีบมาดำเนินการส่งเงินสมทบให้ครบถ้วนอย่างเร่งด่วนแล้ว

“ขอย้ำถึงผู้ประกันตนมาตรา 39 หมั่นให้ความสำคัญในการตรวจสอบการนำส่งเงินสมทบด้วยตนเองกับสปส.อย่างสม่ำเสมอ และควรนำส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง หากผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบตามที่กำหนด จะสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนทันที ซึ่งสปส.ได้อำนวยความสะดวกในการชำระเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 โดยชำระเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน”นายอนันต์ชัยกล่าว

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตน มาตรา 39 จะได้ มี 6 กรณี คือ 1.กรณีเจ็บป่วย หากเป็นการเจ็บป่วยปกติ มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุสปส.จะเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล 2.กรณีทุพพลภาพ ค่ารักษาพยาบาล กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากรักษาในสถานพยาบาลเอกชน ผู้ป่วยนอกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท กรณีผู้ป่วยในจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท

3.กรณีคลอดบุตร ฝากครรภ์และคลอดบุตรได้ทุกโรงพยาบาล ในการเบิิกค่าคลอด ผู้ประกันตนชาย -หญิง สามารถเบิกค่าคลอดแบบเหมาจ่าย 13,000 บาทไม่จำกัดจำนวนครั้ง และผู้ประกันตนหญิงจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอด 50% ของค่าจ้างเป็นระยะเวลา 90 วัน 4.กรณีสงเคราะห์บุตร เหมาจ่ายเดือนละ 600 บาทต่อบุตรหนึ่งคน โดยสามารถรับได้เมื่อบุตรมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน

5.กรณีชราภาพ หากผู้ประกันตนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ก็จะได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ เงินบำเหน็จชราภาพ หากจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ก็จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนได้จ่ายไป หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน ก็จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ ส่วนเงินบำนาญชราภาพ หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย แต่ถ้าจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นทุก 12 เดือน

และ6.กรณีเสียชีวิต หากจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยจะได้รับเงินค่าทำศพ 40,000 บาท และได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย หากผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ได้รับอัตรา50 %ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน ถ้าส่งเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน

“ม.39” ประกันตนโดยสมัครใจ จ่ายครบคงความคุ้มครอง 6 กรณี