ไทยพร้อมจัดประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 34

ไทยพร้อมจัดประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 34

 

ในปี 2562 สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่   บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ก้าวสู่ความร่วมมือปีที่ 52 ภายใต้ 3 เสาหลัก คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งในปีนี้ ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียน มีบทบาทสำคัญในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 และครั้งที่ 35 โดยมุ่งเน้นให้เกิดการหารือและสร้างฉันทามติร่วมกัน รวมทั้งผลักดันแผนดำเนินงานใหม่ ๆ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรับมือกับสิ่งท้าทายและสถานการณ์โลกในทุกมิติ

ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดประชุม    สุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 20 - 23 มิ.ย. 2562 ที่จะมีขึ้นที่กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิดหลัก    “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) เปรียบได้เป็นหัวใจการดำเนินงานของอาเซียน ซึ่งมีความหมายเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของไทย ในการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และบ่งบอกถึง ทิศทางการขับเคลื่อนอาเซียนที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ ความเชื่อมโยง และการมองไปสู่อนาคตร่วมกัน

รมว.ดอน ชี้ว่า อาเซียนจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดภายในภูมิภาค และจับมือกระชับความสัมพันธ์ไว้ให้มั่นกับมิตรประเทศต่าง ๆ ที่นับวันต้องการมาจับมือกับอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศคู่เจรจา 10 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย สหรัฐฯ แคนาดา และอียู บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน    เพื่อก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคตที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ นำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีและอยู่เย็นเป็นสุขในภูมิภาคอาเซียนอย่างกว้างขวาง โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งข้อนี้สะท้อนแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ” หรือ Partnership

"ความยั่งยืนเหมือนกับเหรียญดีที่มีสองด้าน ทั้งในด้านคงความสันติสุขและด้านการพัฒนาที่มุ่งสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" รมว.ดอนกล่าว พร้อมกับย้ำว่า ประชาชนก็ยังเป็นหัวใจและคำตอบสุดท้ายของทุกเรื่องที่อาเซียนดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน

รมว. กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานในปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียนตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เป็นต้นมา     ดั่งจะเห็นผลงานเป็นรูปธรรมในหลายเรื่อง อย่างการผลักดันความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอาเซียนต่อผู้ประสบภัยในรัฐยะไข่ ซึ่งตนได้ลงพื้นที่และพูดคุยกับผู้แทนระดับสูงทั้งเมียนมาและบังกลาเทศ จนทำให้ทั้งสองมีท่าทีเชิงบวกและรับประกันจะดำเนินการส่งผู้ประสบภัยชาวรัฐยะไข่ที่ลี้ภัยอยู่ในศูนย์พักพิงประเทศบังกลาเทศได้กลับคืนถิ่นฐาน  อย่างปลอดภัยในปีนี้

ขณะเดียวกัน ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้สร้างบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจที่ดี จนเกิดการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง ว่าด้วยการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ครั้งที่ 17 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน มุ่งผลักดันการเจรจาให้กระบวนการกำหนดระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct – COC) เกิดผลคืบหน้า และมีประสิทธิภาพ โดยร่างแรก (First Reading) จะสำเร็จในปีนี้ และใช้เวลาเจรจาให้แล้วเสร็จภายใน   3 ปี เพื่อนำไปสู่สันติภาพและเสถียรภาพระยะยาวในทะเลจีนใต้

รมว.ดอน มองว่า การที่สหภาพยุโรป (อียู) ปลดใบเหลืองหรือเพิกถอนประเทศไทยออกจากชื่อกลุ่มประเทศที่ถูกเตือนทำประมงผิดกฎหมาย หรือไอยูยู นับเป็นความสำเร็จของรัฐบาลไทย ในการยกระดับประมงไทยให้ปลอดไอยูยู และสามารถแบ่งปันประสบการณ์ผ่านเครือข่ายไอยูยูอาเซียนเน็ตเวิร์คให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน

ส่วนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือน มิ.ย. นั้น นอกจากไทยจะให้ความสำคัญกับประเด็นข้างต้น และประเด็นอื่น ๆ ที่ไทยผลักดันมาตั้งแต่ต้นปี เช่น การกำจัดขยะทะเล การต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายแล้ว ยังจะให้ความสำคัญกับข้อริเริ่มต่าง ๆ ที่ยังดำเนินการไม่เสร็จ เช่น การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาร์เซ็ปให้บรรลุได้ในปีนี้ และประเด็นที่ประธานในอดีตผลักดันด้วย เพื่อสร้างความต่อเนื่อง มีการติดตามผล  เกิดกระบวนการสานต่อ สร้างความยั่งยืนให้อาเซียนก้าวหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน