แรงสั่นสะเทือนตัวแปรใหม่ตลาดสำนักงาน เปลี่ยนพฤติกรรมผู้เช่า

เหตุการณ์แผ่นดินไหวตัวแปรใหม่ ที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้เช่าสำนักงานความปลอดภัยทางกลายเป็นปัจจัยชี้ชะตาว่าธุรกิจจะอยู่หรือย้าย เจ้าของอาคารต้องสร้างความเชื่อมั่น
โชติกา ทั้งศิริทรัพย์ หัวหน้าแผนกที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการและวิจัยตลาด ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ฉายภาพการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจว่า แม้ซัพพลายใหม่จะยังคงกดดันอัตราค่าเช่าโดยรวมในไตรมาสแรก แต่ตัวเลขการเช่าสุทธิ (Net Take-up) กลับสูงเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกลุ่มอาคารสำนักงานเกรด A+ และ A ทั้งในเขต CBD และนอกเมือง
ขณะเดียวกัน อาคารสำนักงานเกรด B กลับเผชิญกับยอดการเช่าสุทธิที่ติดลบสะท้อนจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดที่ไม่ได้วัดกันแค่ทำเลหรือราคา แต่ “ความมั่นใจ” กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ตัดสินใจ
“ปลอดภัย” คือคำตอบใหม่ที่ผู้เช่าต้องการฟัง
ในวันที่ความมั่นคงของโครงสร้างกลายเป็นคำถามแรกที่บริษัทถามหาก่อนเซ็นสัญญาเช่า มณีรัตน์ วิจิตรรัตนะ ผู้อำนวยการอาวุโส แผนกพื้นที่สำนักงาน ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ชี้ว่า สิ่งที่ผู้เช่าให้ความสำคัญสูงสุดหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวคือ “ความมั่นใจว่าอาคารได้ผ่านการตรวจสอบโครงสร้างอย่างครบถ้วน และประกาศรับรองความปลอดภัยอย่างเป็นทางการ”
ยิ่งไปกว่านั้น การสื่อสารจากเจ้าของอาคารกลายเป็นเรื่อง “ห้ามพลาด” ในช่วงเวลาวิกฤต ผู้เช่าคาดหวังข้อมูลที่ “รวดเร็ว-ชัดเจน-หลากหลายช่องทาง” ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน จอดิจิทัล หรืออีเมล โดยเฉพาะคู่มือรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ชัดเจนและอัปเดต ถือเป็นความคาดหวังพื้นฐานในยุคใหม่
“โลว์ไรส์ – ชั้นล่าง” ทางเลือกใหม่ขององค์กรใหญ่
ความเปลี่ยนแปลงยังปรากฏในระดับกลยุทธ์ของหลายองค์กรที่เคยปักหลักอยู่ในอาคารเก่าและสูง การตัดสินใจย้ายหรือมองหาพื้นที่สำนักงานใหม่ในอาคารโลว์ไรส์ หรือเลือกเช่าชั้นล่างมากขึ้น สะท้อนพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหลังเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ขณะเดียวกันดีมานด์ในกลุ่มอาคารสำนักงานใหม่ที่ได้รับการรับรองด้านความปลอดภัย ยังคงเติบโตต่อเนื่อง
แต่บางดีล...เริ่ม “ชะลอ” ไม่ใช่เพราะขาดงบประมาณ แต่เพราะ “ขาดความมั่นใจ”
หลายองค์กรต้องการเวลาในการประเมินอาคารใหม่อย่างละเอียด และรอให้เจ้าของอาคารสามารถแสดงแผนรับมือความเสี่ยง รวมถึงมาตรการรองรับเหตุฉุกเฉินที่เป็นรูปธรรม
เจ้าของอาคารต้องปรับตัว หากไม่อยาก “ตกขบวน”
ภาพรวมตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ ยังคงแข็งแรงในด้านโครงสร้างโดยทั่วไป แต่ผู้เล่นที่สามารถ “สื่อสารได้เร็ว-ชัดเจน-มีระบบ” คือผู้ที่กำลังได้เปรียบในตลาดอย่างชัดเจน
เจ้าของอาคารที่ดำเนินการตรวจสอบโครงสร้าง ซ่อมแซมจุดอ่อน และสื่อสารกับผู้เช่าอย่างตรงจุด กลายเป็นผู้ชนะในสมรภูมิความมั่นใจ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง อาคารที่นิ่งเงียบ ขาดการชี้แจง และไม่มีมาตรการชัดเจนกำลังกลายเป็นจุดเสี่ยง ที่ผู้เช่าหลายรายพิจารณาย้ายออกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ตลาดสำนักงานไม่ได้แข่งขันกันแค่ “วิวดี ทำเลเด่น” อีกต่อไป แต่คือสนามที่ “ความปลอดภัย” และ “การสื่อสารเชิงรุก” จะกลายเป็นแต้มต่อใหม่ เจ้าของอาคารต้องคิดให้ไกลกว่าเพียงการมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ หากต้องตอบโจทย์ความมั่นใจของผู้เช่าได้ทั้งในยามปกติ และในวันที่เกิดวิกฤต
เพราะในโลกหลังแรงสั่นสะเทือน คำว่า “อาคารพร้อม” ไม่เพียงพอแต่ “แบรนด์ต้องมั่นใจ” จึงจะอยู่รอด