ข้อพิพาทจากการซื้ออาคารชุด และอนุญาโตตุลาการ

ข้อพิพาทจากการซื้ออาคารชุด และอนุญาโตตุลาการ

อนุญาโตตุลาการ คือบุคคลหรือคณะบุคคลที่คู่สัญญากำหนดให้เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น โดยไม่ต้องฟ้องต่อศาล

ซึ่งเป็นที่นิยมกันในการทำสัญญาซื้อขายสินค้าหรือบริการระหว่างประเทศ โดยอาจกำหนดให้เป็นอนุญาโตตุลาการในประเทศคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือในประเทศที่สาม หรือสถาบันอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศก็ได้  

แม้อนุญาโตตุลาการไม่เป็นที่นิยมในการทำสัญญาซื้อขายสินค้าหรือบริการภายในประเทศ แต่ก็มีอยู่บ้าง เช่น ตามแบบของสัญญาซื้อขายอาคารชุดของผู้ประกอบการบางรายกำหนดให้อนุญาโตตุลาการ ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นผู้ชี้ขาดกรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้น

ในกรณีที่สัญญากำหนดให้อนุญาโตตุลาการของสถาบันอนุญาโตตุลาการฯ เป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาท การดำเนินกระบวนการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการจะเป็นไปตามข้อบังคับของสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ ภายใต้ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 

แต่เนื่องจากคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ไม่ว่าในประเทศไทยหรือต่างประเทศ หรือสถาบันอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศไม่มีสภาพบังคับในตัวเอง หากต้องการให้มีคำบังคับตามคำชี้ขาดนั้นต้องยื่นคำร้องต่อศาล ที่มีเขตอำนาจให้มีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดนั้นอีกขั้นตอนหนึ่ง

ในปี 2551ได้มีการตรา พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ออกใช้บังคับ เจตนารมณ์เพื่อให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยความรวดเร็วประหยัดและมีประสิทธิภาพ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค

โดยให้ความหมายของคดีผู้บริโภคไว้ คือคดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจ คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค กับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งพิพาทการเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ

ดังนั้น คดีที่ฟ้องร้องกันอันเนื่องจากข้อพิพาทที่เกิดขึ้นตามสัญญาซื้อขายสินค้าหรือบริการระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจ ที่เข้าข่ายเป็นคดีผู้บริโภค ขั้นตอนกระบวนการฟ้อง การพิจารณาคดีจะเป็นไปตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ซึ่งมีขั้นตอนที่สะดวกไม่ยุ่งยาก

ในกรณีที่สัญญาซื้อขายอาคารชุด มีข้อกำหนดในสัญญาว่า หากมีปัญหาข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างผู้ซื้อและผู้ประกอบกิจการขายอาคารชุด ให้เสนอให้อนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการฯ ชี้ขาด แต่ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเข้าข่ายเป็นคดีผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 เช่นนี้จะต้องดำเนินการอย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาต่อไปนี้ เป็นคำตอบ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4183/2565 คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการ ด.3 ห้อง กับจำเลย โดยชำระเงินค่าห้องชุดแก่จำเลยบางส่วนแล้ว แต่จำเลยผิดสัญญา

ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินและค่าเสียหาย รวม 1,194,765 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 981,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ 

ก่อนยื่นคำให้การ จำเลยยื่นคำร้องว่าสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดตามที่โจทก์ฟ้องมีข้อสัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเสียก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการตามขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการต่อไป

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดที่โจทก์ฟ้องมีข้อสัญญาที่เป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเพื่อไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีของโจทก์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ เป็นบทกฎหมายที่กำหนดวิธีการระงับข้อพิพาทในคดีผู้บริโภคไว้โดยเฉพาะ เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ ส่วนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการ

แม้จะเป็นวิธีการที่คู่สัญญาอาจเลือกใช้ในการระงับข้อพิพาท และมีผลใช้บังคับกันได้ตามข้อตกลงของคู่สัญญาตามหลักเสรีภาพของการแสดงเจตนา แต่ก็ต้องเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของผู้บริโภคอย่างแท้จริง 

ผู้บริโภคต้องมีโอกาสต่อรองหรือตระหนักดีว่า การดำเนินกระบวนการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ซึ่งกล่าวเฉพาะคดีนี้ต้องบังคับตามข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติแตกต่างจากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ หลายประการ ซึ่งโดยรวมแล้วอาจเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้บริโภคที่พึงมี 

แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการลดทอนสิทธิที่ผู้บริโภคพึงได้รับตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ อยู่มาก โดยที่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดซึ่งต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 6/2 กล่าวคือ แบบของสัญญาต้องเป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด 

การที่จำเลยผู้ประกอบธุรกิจจัดทำสัญญาเป็นแบบมาตรฐาน ให้ผู้บริโภคที่จะซื้อห้องชุดต้องยอมรับข้อสัญญา ข้อ 10.4 ที่บังคับให้การระงับข้อพิพาทต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการสถานเดียว โดยไม่ได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมายว่าด้วยการนี้โดยเฉพาะเช่นนี้ 

นอกจากจะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในอันที่จะคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นข้อตกลงที่นอกเหนือไปจากแบบที่รัฐมนตรีกำหนดและไม่เป็นคุณต่อโจทก์ผู้จะซื้อ ซึ่งไม่มีผลใช้บังคับตามมาตรา 6/2 วรรคสอง กับมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระเกินกว่าที่โจทก์พึงมีตามบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

อันถือได้ว่าข้อสัญญาข้อนี้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคสามด้วย กรณีจึงมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาข้อ 10.4 ใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ย่อมฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้โดยไม่จำต้องไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง

ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 4184/2565 จำเลยคนเดียวกันกับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4183/2565 อีกคดีหนึ่งซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยแนวเดียวกันกับคดีข้างต้น