ทางแยกบทสรุป “เหมืองทองอัครา” ถอนฟ้องหรือขออนุญาโตฯ ชี้ขาด

ทางแยกบทสรุป “เหมืองทองอัครา” ถอนฟ้องหรือขออนุญาโตฯ ชี้ขาด

อัคราเดินเครื่องเหมืองทองคำ ด้านอนุญาโตฯ รัฐบาลไทย-คิงส์เกต เลื่อนอ่านคำชี้ขาดถึงสิ้นปี 2566 แหล่งข่าวเผยกรณีคิงส์เกตถอนฟ้องจะส่งผลเชิงบวกต่ออัครา ทั้งด้านต้นทุนการเงินและยุติประเด็นคาราคาซังกว่า 6 ปี ขณะที่หากอ่านคำชี้ขาดทั้งสองฝ่ายจะต้องสู้อีกหลายประเด็น

เหมืองแร่ทองคำชาตรี หรือ เหมืองทองอัครา ดำเนินการโดย บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โดยมีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ กลับมาเปิดเดินเครื่องจักรเพื่อผลิตทองคำและเงินอีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 หลังจากมีคำสั่งระงับการประกอบกิจการมาตั้งแต่ 1 ม.ค. 2560 ด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 

โดยคณะกรรมการแร่แห่งชาติ เห็นชอบการอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรออกไปอีก 10 ปีตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2564 ถึงวันที่ 29 ธ.ค.2574 ด้วยวิธีการทำเหมืองแร่แบบเหมืองเปิด โดยประทานบัตร 4 แปลง

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสากรรม ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีถอนฟ้องกรณีข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยและคิงส์เกตออกจากอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแต่อย่างใดโดยจะมีการเลือกออกคำพิพากษาชี้ขาดไปจนถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งบทสรุปของอนุญาโตฯ เป็นไปได้หลายกรณี ตั้งแต่การถอนฟ้องจากฝั่งคิงส์เกต และการออกคำชี้ขาดเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่าย ปฏิบัติตาม

“มองว่าการถอนฟ้องคดีของฝั่งคิงส์เกตจะส่งผลเชิงบวกต่อการดำเนินธุรกิจอัครามากกว่า ทั้งด้านต้นทุนทางการเงิน สำหรับบริษัทที่มีคดีอยู่อาจทำให้ธนาคารอาจตัดสินใจปล่อยสินเชื่อยาก จำกัดวงเงิน หรือมีอัตราดอกเบี้ยสูง ขณะที่หากไม่มีการถอนฟ้องและให้มีการออกคำชี้ขาดก็จะเป็นคาราคาซัง ทั้งด้านการเมืองที่อาจนำไปสู่การร้องเรียน”

ขณะที่ฝ่ายไทยเองก็ต้องต่อสู้ต่อในอีกหลายประเด็น เพราะจากข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แล้ว ว่าถ้าอัครา ดำเนินเรื่องการขออนุญาตมาครบถ้วนถูกต้อง ภาครัฐก็อนุญาตให้ และภาครัฐไม่มีเจตนาจะยึดเหมืองทองมาเป็นของรัฐตามที่คิงส์เกตกล่าวหา

สำหรับการกลับมาเปิดดำเนินการเหมืองอีกครั้ง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และอุตสาหกรรมจังหวัด ที่เกี่ยวข้อง จะต้องกำกับดูแลผู้ถือประทานบัตรการทำเหมืองและการประกอบกิจการโลหกรรม ให้ปฏิบัติตามมาตรา 68 ของ พรบ. แร่ 2560

โดยบริษัทฯ ต้องจัดส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กพร. และ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทราบตามกำหนด ปีละ 2 ครั้งและ การบริหารจัดการกองทุน ได้แก่ กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ นำเงินเข้ากองทุนในอัตรา 10% ของค่าภาคหลวง แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อปี,กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ นำเงินเข้ากองทุนในอัตรา 3% ของค่าภาคหลวง แต่ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทต่อปี,กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ นำเงินเข้ากองทุนในอัตรา 5% ของค่าภาคหลวงแต่ต้องไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทต่อปี,กองทุนประกันความเสี่ยง ต้องนำเงินเข้ากองทุนในอัตรา 3% ของค่าภาคหลวง แต่ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2566 คิงส์เกตเปิดเผยบนเว็บไซต์ทางการของบริษัทว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้อนุมัติบัตรส่งเสริมการลงทุนให้กับบริษัท อัครา ในการประกอบกิจการเหมืองสำรวจแร่และการทำเหมืองแร่ โดยบริษัทจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นเวลา 8 ปี ได้แก่ อัตราภาษีนิติบุคคล (CIT) 20% สูงสุดไม่เกิน 3,250 ล้านบาท ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 10% ของเงินปันผลที่นำส่งผู้ถือหุ้นในต่างประเทศ อาการนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนา และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก 

รอสส์ สมิธเคิร์ก ประธานบริหาร  บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ระบุว่า การอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ด้วยมาตรการสิทธิประโยชน์ต่างๆ ย้ำถึงการให้ความสำคัญของรัฐบาลไทยที่กิจการเหมืองทองคำชาตรีมีต่อเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งแสดงถึงความร่วมมือระหว่างคิงส์เกตและรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ในการกลับมาเปิดเดินเครื่องเหมืองอีกครั้ง เพื่อประโยชน์สำหรับคนในชุมชน

เชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายความยั่งยืนขององค์กร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ จะเดินหน้าตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ ซึ่งในระยะแรกนั้นจะใช้โรงประกอบโลหกรรมที่ 2 เพียงโรงเดียว จากนั้นจึงจะเริ่มซ่อมโรงประกอบโลหกรรมที่ 1 และเมื่อโรงประกอบโลหกรรมทั้ง 2 แห่ง 

"หลังจากสามารถกลับมาใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพแล้ว จะเปิดรับพนักงานเพิ่มเพื่อรองรับปริมาณงานที่มากขึ้นต่อไป ซึ่งโดยรวมแล้วจะก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งโดยตรงและผ่านผู้รับเหมาร่วม 1,000 อัตรา ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง ที่บริษัทฯ มีส่วนช่วยให้พี่น้องในชุมชนได้กลับมาอยู่กับครอบครัวอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ส่งผลให้สถาบันครอบครัวแข็งแกร่งยิ่งขึ้น" 

ทั้งนี้ การพิจารณาอนุมัติออกใบอนุญาตการเปิดดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและนโยบายของรัฐ เห็นได้จากการใช้เวลาในกระบวนการอนุญาตที่นานมาก ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลต้องใช้เวลาในการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน

การลงทุนมูลค่าสูงย่อมส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศผู้รับการลงทุน กรณีเหมืองทองอัคราก็ได้สร้างผลทางเศรษฐกิจให้ไทยไม่น้อย ขณะเดียวกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปมความขัดแย้งจนต้องนำข้อพิพาทสู่การพิจารณาหาข้อสรุปก็เป็นเรื่องที่ปล่อยวางไม่ได้เช่นกัน 

อัครา