ร่วมค้า-ร่วมทุนโมเดลรอด-ลดเสี่ยงอสังหาฯรับมือที่ดินพุ่ง

ร่วมค้า-ร่วมทุนโมเดลรอด-ลดเสี่ยงอสังหาฯรับมือที่ดินพุ่ง

หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้นทุนราคาที่ดินขยับขึ้นต่อเนื่องและความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินมากขึ้น ทำให้ดีเวลลอปเปอร์ชูโมเดลร่วมค้า-ร่วมทุน เข้ามาแก้ปัญหาเพื่อลดต้นทุน ความเสี่ยง และเพิ่มสปีดของการพัฒนาโครงการแบบวิน วิน

สรนันท์ เศรษฐี กรรมการผู้จัดการ บริษัท นอร์ทเทิร์น เรียลเอสเตท จำกัด ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันเทรนด์การร่วมค้า-ร่วมทุนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาที่ดินสูงขึ้น ต้นทุนในการพัฒนา ต้นทุนในการก่อสร้าง การทำการตลาดเรียกว่าทุกอย่างสูงขึ้นหมด! ทำให้การลงทุนคนเดียวทำไม่ไหวจึงต้องมาร่วมทุน 

หรืออีกกลุ่มหนึ่งมีที่ดินแต่ทำไม่เป็น และไม่อยากขาย จึงชักชวนดีเวลลอปเปอร์ที่มีความรู้เข้ามาร่วมทุนพัฒนาโครงการทำให้ลงทุนไม่สูงมาก เมื่อได้กำไรก็แบ่งกันตามสัดส่วนที่ตกลงกัน

ในจังหวัดเชียงใหม่มีบริษัทร่วมทุนแบบนี้ ทั้งจากทุนส่วนกลางกรุงเทพฯ ร่วมกับเจ้าของที่ดิน หรือลงทุนร่วมดีเวลลอปเปอร์ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะนโยบายการปล่อยสินเชื่อจากธนาคารที่คุมเข้ม การที่ดีเวลลอปเปอร์รายใหม่จะไปกู้เงินธนาคารเพื่อพัฒนาโครงการทำได้ยากขึ้นทำให้เกิดโมเดลร่วมค้า-ร่วมทุนกันมากขึ้น ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ กลางและเล็ก ทำให้ไม่ต้องกู้เงินธนาคารหรือกู้แค่เล็กน้อยเท่านั้น

“ยิ่งถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ ที่เป็นดีเวลลอปเปอร์ หรือลูกหลานของแลนด์ลอร์ดมองว่า การร่วมทุนไม่ใช่เรื่องที่เสียหายอะไร แทนที่จะต้องทำคนเดียวเหนื่อยหนัก แต่ถ้าร่วมกันทำมีเพื่อนช่วยกันคิดช่วยกันทำงาน เพราะตลาดเปลี่ยนแปลงเร็ว ไม่เหมือนสมัยก่อนที่พูดว่าทำอย่างไรก็ขายได้อีกต่อไป ปัจจุบันต้องคิดต้องคำนวณให้ดีก่อนว่าแบบไหนดีหลายหัวดีกว่าหัวเดียว

ทิศทางดังกล่าวทำให้ นอร์ทเทิร์น เรียลเอสเตท เข้าร่วมพัฒนาโครงการกับพันธมิตรซึ่งต่างมีจุดแข็งที่เข้ามาเสริมซึ่งกันและกันได้ เป็นที่มาของการจัดตั้ง บริษัท ธีร่า แอสเสท จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนพัฒนาโครงการอสังหาฯ ร่วมกัน 

“ไม่ใช่แค่มีเงิน แต่ต้องการคนที่มีความรู้ความถนัดในการพัฒนาสินค้าแต่ละด้านราคาแมส กลางและพรีเมี่ยม หรือมีประสบการณ์ในการทำโรงแรม หรืออาคารสำนักงาน จึงมาร่วมกันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทั้งในแง่เงินทุน ความรู้ ให้สามารถพัฒนาทัดเทียมกับทุนส่วนกลาง หรือว่าท้องถิ่นรายใหญ่”

ทางด้าน ปราชญ์ วงศ์วรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไวซ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หนึ่งในผู้ร่วมทุน กล่าวว่า ธีร่า แอสเสท พัฒนาโครงการ ธีร์-ทาวน์ ท่ารั้ว วงแหวน 3 ระดับราคา 1.5-3 ล้านบาท เป็นทาวน์โฮมและบ้านแฝด เตรียมเปิดตัวโครงการที่ 2 ภายในปี 2566

“ข้อดีการร่วมทุนคือช่วยลดความเสี่ยง สามารถดึงคนที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านเข้ามาพัฒนาโครงการร่วมกันบางคนเชี่ยวชาญการบริการต้นทุน เราไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่งแต่เป็นพาร์ทเนอร์ที่เข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กันและกันเพราะตลาดใหญ่ไม่จำเป็นจะต้องมองทุกคนเป็นคู่แข่งไปหมด”

การทำธุรกิจอสังหาฯ ให้อยู่รอดได้ในยุคนี้ต้องพลิกแพลงเร็ว มิเช่นอาจต้องหายไปจากตลาดเหลือแต่รายใหญ่เท่านั้นถึงจะอยู่รอด เพราะมีช่องทางในการหาเงินมาพัฒนาโครงการ เช่น ออกหุ้นกู้ทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง ดังนั้นโมเดลร่วมค้า-ร่วมทุนเป็นหนทางรอดที่ดีอย่างหนึ่ง แม้กระทั่งรายใหญ่อย่าง “ออริจิ้น” ยังเปิดกว้างให้แลนด์ลอร์ดเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการ หรืออาร์เอสกับแกรมมี่ยังต้องร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอด

“เพราะทุกคนไม่ได้เก่งทุกเรื่อง ถ้าจุดไหนที่เสริมกันได้จะเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งคนรุ่นใหม่ มองการทำธุรกิจแบบนี้ ต่างจากคนรุ่นก่อนที่ต้องการผลักดันให้ตนเองเป็นเบอร์หนึ่ง แต่ผมมองว่า การร่วมกันทำเป็นสิ่งที่ดี และยังสามารถพัฒนาของตนเองได้อีกด้วย”