‘บำรุงราษฎร์’ห่วงใยพร้อมดูแลตรวจสุขภาพตำรวจจราจร สน.ลุมพินี

‘บำรุงราษฎร์’ห่วงใยพร้อมดูแลตรวจสุขภาพตำรวจจราจร สน.ลุมพินี

จัดบริการตรวจสมรรถภาพปอด ตำรวจจราจร ภายใต้โครงการบริการตรวจสุขภาพตำรวจจราจร สน.ลุมพินี ประจำปี ต่อเนื่องปีที่ 15

นาย ภัทรพงศ์ กาฬภักดี ผู้อำนวยการด้านการบริหารจัดการธุรกิจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่าปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้นๆ โดยเฉพาะในปีนี้ วิกฤตการณ์ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสะสมด้านสุขภาพของผู้ใช้รถใช้ถนนและตำรวจจราจรยิ่งขึ้น

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จึงมีความตั้งใจจัดบริการตรวจสุขภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สน.ลุมพินี ประจำปี 2562 นี้เป็นปีที่ 15 ติดต่อกัน โดยมุ่งเน้นการตรวจสุขภาพปอดในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศ รวมถึงการให้คำแนะนำในการดูแลรักษาสุขภาพให้แก่ตำรวจจราจรที่ปฎิบัติหน้าที่ท่ามกลางการจราจรคับคั่งในทุกๆวัน เพื่อแสดงถึงความห่วงใย และเป็นขวัญกำลังใจ ในการดูแลรักษาสุขภาพให้แก่ตำรวจจราจรทุกท่านในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยงยุทธ์ พลอยส่องแสง อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการอาวุโส ด้านโรคระบบการหายใจ  โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ กล่าวว่า “ปัจจุบัน โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคปอด แม้ว่าจะเป็นโรคที่ไม่ได้ก่ออันตรายถึงชีวิตผู้ป่วยโดยเฉียบพลัน แต่ก็เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานทั้งทางกายและจิตใจต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาการของโรคจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งประชาชนสามารถดูแลสุขภาพในเชิงป้องกันได้ โดยการตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Test หรือ PFT) เป็นประจำทุกปี” 

การตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งในกระบวนการวินิจฉัย, ประเมิน และติดตามผลการรักษาโรคระบบการหายใจ เช่น โรคหืด, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคปอดจากการทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้ การตรวจสมรรถภาพปอด ยังสามารถบ่งถึงการเสื่อมของการทำงานของปอดก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปรากฏ เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่มีความสามารถสำรองสูง อาการเหนื่อยจึงมักปรากฏหลังจากพยาธิสภาพในปอดเกิดขึ้นมากแล้ว

“สำหรับการตรวจ PFT จะมีวัตถุประสงค์แตกต่างจากการตรวจเอกซเรย์ปอดทั่วไป การตรวจ PFT เป็นการตรวจประสิทธิภาพการทำงาน (Function) ของอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ โดยวัดปริมาตรอากาศเข้าออกจากปอด (Spirometry) วัดขนาดของระบบทางเดินหายใจ (Lung volumes)  วัดการรับปริมาณออกซิเจน (Diffusing capacity)โดยจะบันทึกออกมาเป็นตัวเลขและกราฟ ส่วนการตรวจเอกซเรย์ปอดจะเป็นการตรวจเพื่อดูภาพรังสีอวัยวะปอดว่ามีรอยโรคในปอดหรือไม่ (Structural damage) แต่ไม่สามารถวัดประสิทธิภาพการทำงานของปอดได้ ทั้งนี้ ความผิดปกติจากภาพรังสีจะพบก็ต่อเมื่อการทำงานของปอดมีความเสียหายไปแล้ว การที่พบความผิดปกติในการทำงานของปอดแต่เนิ่นๆ จากการตรวจ PFT จะสามารถทำการรักษาก่อนที่ปอดจะเสียหายไปมากจนรักษาไม่ได้

ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันของโรคระบบทางเดินหายใจและโรคปอด หากพบว่าปอดทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ โดยสามารถนำออกซิเจนเข้าไปในเม็ดเลือดแดง (Hemoglobin) ได้มากเพื่อนำไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในระบบร่างกาย จะส่งผลให้สุขภาพของร่างกายดีขึ้น แข็งแรงขึ้น สามารถทำงานและออกกำลังกายได้ทนและนานขึ้น ดังนั้นในวงการกีฬา จะเห็นว่าการตรวจสมรรถภาพปอดเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ในการคัดเลือกให้ได้นักกีฬาที่แข็งแรง” ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยงยุทธ์ กล่าวเสริม

สำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงว่าจะป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจหรือโรคปอด และควรเข้ามารับการตรวจ PFT แบ่งออกเป็น 1. กลุ่มคนที่สูบบุหรี่หรือใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ 2.กลุ่มคนที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น มีอาการไอเรื้อรัง เหนื่อยง่าย หรือรู้สึกว่าหายใจลำบาก เป็นต้น  3.กลุ่มคนที่ทำงานหรืออาศัยในบริเวณที่มีมลภาวะเป็นพิษสูง เช่น ตำรวจจราจร คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมเหมือง เป็นต้น  4. กลุ่มคนที่มีโรคทางกรรมพันธุ์ เช่น พ่อ-แม่ หรือ ญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคปอด โรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น และ 5. การคัดเลือกนักกีฬาที่แข็งแรงเพื่อไปแข่งขันระดับนานาชาติ

ขณะที่สถิติผู้ป่วยในระบบทางเดินหายใจ หรือ โรคปอด ในประเทศไทย  พบได้ทั้งในกลุ่มผู้ชายและผู้หญิง ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน โดยแนวทางการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันในโรคปอด ผู้ที่มีความเสี่ยง หรือ อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญมลภาวะอากาศโดยตรง หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพคัดกรองฝุ่นขนาดเล็ก และที่สำคัญ ควรตรวจสุขภาพปอดเป็นประจำทุกปี เพราะหากได้รับการตรวจและทราบความเสียหายของปอดตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก จะทำให้ผลลัพธ์ของการรักษามีประสิทธิภาพดีและง่ายยิ่งขึ้น

“การตรวจสมรรถภาพปอดมีความไวในการบอกว่าผู้ป่วยมีภาวะผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจและปอดหรือไม่ แม้จะเริ่มเป็นเพียงเล็กน้อย ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจจะยังไม่มีอาการแสดง ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลที่ดี แต่หากรอให้ถึงระยะที่มีอาการแสดง เช่น เหนื่อย หอบ นั่นหมายถึงสมรรถภาพปอดเสียหายเกิน 50% ไปแล้ว ทำให้การรักษาไม่ค่อยได้ผลและบางครั้งก็อาจสายไป” ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยงยุทธ์ กล่าวทิ้งท้าย

พ.ต.ท.สาธิต สมานภาพ รองผู้กำกับการจราจร สถานีตำรวจนครบาล (ลุมพินี) กล่าวว่า “ปัจจุบัน สน.ลุมพินี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรปฏิบัติหน้าที่งานจราจรในพื้นที่ดูแลของสน.ลุมพินี ทั้งสิ้น 64 นาย เพื่ออำนวยความสะดวกงานด้านจราจรให้กับประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และด้วยลักษณะการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรนับว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และ โรคปอด เนื่องจากมีการปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณที่มีมลภาวะอากาศสูง โดยเฉพาะในช่วงเวลา คือ 6.00 น.-9.00 น. และช่วงเวลา 16.00 น.- 20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การจราจรคับคั่ง”

ขณะที่พื้นที่การจราจรบริเวณถนนสุขุมวิท-เพลินจิต นับว่าเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีมลภาวะทางอากาศสูงของเมืองกรุงเทพฯ และเป็นพื้นที่รับผิดชอบของสน.ลุมพินี ซึ่ง สน.ลุมพินี ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเชิงป้องกัน จึงได้ร่วมกิจกรรมการตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงกิจกรรมการตรวจสมรรถภาพปอดเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร จากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประจำปี 2562 ซึ่งได้เข้าร่วมกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15  และในปีนี้มีตำรวจจราจร สน.ลุมพินี ทั้งสิ้น 22 นาย ให้ความสนใจเข้าร่วมตรวจสมรรถภาพปอด