จากโครงการเลี้ยงไก่ไข่ ซีพีเอฟ สู่ BKS BAKERY

จากโครงการเลี้ยงไก่ไข่ ซีพีเอฟ สู่ BKS BAKERY

จาก "โครงการเลี้ยงไก่ไข่" สู่ BKS BAKERY (บ้านโคกสูง เบเกอรี) ซีพีเอฟ พัฒนาทักษะอาชีพน้องๆ โรงเรียนในโครงการคอนเน็กซ์ อีดี

"เค้กไข่ลาวา" จากฝีมือของน้องๆ โรงเรียนบ้านโคกสูง จังหวัดนครราชสีมา ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติ ( Learning  by doing)ในโครงการ BKS BAKERY หรือ "บ้านโคกสูง เบเกอรี" ที่มุ่งเน้นเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตและทักษะอาชีพ ให้กับนักเรียนของโรงเรียนในโครงการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา (Connext ED) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในฐานะภาคเอกชนที่ร่วมก่อตั้งมูลนิธิฯ ให้ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ เมื่อปี 2562 ต่อยอดสู่การทำโครงการ BKS BAKERY ซึ่งใช้วัตถุดิบไข่ไก่ที่โรงเรียนผลิตได้เอง เรียกได้ว่าทั้งสองกิจกรรมที่ซีพีเอฟให้การสนับสนุน เป็นการส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียน ฝึกทักษะชีวิตและทักษะอาชีพให้นักเรียน และสร้างวินัยในการเก็บออมเงินตั้งแต่วัยเยาว์

โรงเรียนบ้านโคกสูง เป็นโรงเรียนขนาดกลาง จำนวนนักเรียน 297 คน นักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและส่วนหนึ่งไม่ใช่คนในพื้นที่ เป็นการย้ายตามผู้ปกครองที่เข้ามาประกอบอาชีพ เช่น ก่อสร้าง รับจ้าง โดยในปี 2563 โรงเรียนฯ ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ โดยได้รับการสนับสนุนนวัตกรรมการเรียนรู้จากซีพีเอฟ ส่งมอบโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิด รวมถึงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ไข่ การดูแลสุขภาพสัตว์การจัดการโรงเรือน ตามหลักวิชาการและสุขาภิบาล เป็นแหล่งในการเรียนรู้ที่หลากหลายให้กับทางโรงเรียนและชุมชน เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางอาชีพในอนาคต ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนฯสามารถดำเนินโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ได้อย่างต่อเนื่องด้วยเงินหมุนเวียนจากการขายผลผลิตไข่ไก่ มีแม่ไก่ที่ลงรอบใหม่ 144 ตัว เก็บผลผลิตไข่ไก่ได้ประมาณ 4-5 แผงต่อวัน      

ล่าสุดปี 2565 ซีพีเอฟ ให้การสนับสนุนโครงการ BKS BAKERY ของโรงเรียนบ้านโคกสูง เป็นโครงการต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตไข่ไก่ แปรรูปเป็นเบเกอรี อาทิ เค้กไข่ลาวา เค้กช็อกโกแล็ต เค้กส้ม ซอฟต์คุกกี้ ฯลฯ เป็นการถ่ายทอดทักษะการประกอบอาชีพให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 รวมทั้งจะบรรจุโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่และ BKS BAKERY ในชั่วโมงการเรียนการสอนของนักเรียนด้วย      

จากโครงการเลี้ยงไก่ไข่ ซีพีเอฟ สู่ BKS BAKERY

BKS BAKERY ยังเป็นโครงการที่เสริมสร้างรายได้ระหว่างเรียนและแบ่งเบาภาระของครอบครัว โดยที่ชุมนุม BKS BAKERY มีการแบ่งผลผลิตไข่ไก่จำนวน 15 ฟอง มาใช้เพื่อทำเบเกอรีจำหน่ายทุกวันอังคาร อาทิ เค้กไข่ลาวา เค้กช็อกโกแล็ต เค้กส้ม ซอฟต์คุกกี้ เป็นต้น มีทั้งทางขายผ่านร้านสหกรณ์โรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง ตลาดนัดในชุมชน ช่องทางการขายฝากร้านค้าและขายออนไลน์ เช่น ร้านค้าในชุมชน ร้านค้าตลาดสด ร้านค้าตลาดนัด เพจเฟซบุ๊กของโรงเรียน ในราคาจำหน่ายเค้ก 15 บาทต่อชิ้น ซอฟต์คุกกี้ 5 บาทต่อชิ้น และมีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้กับทางร้าน 20% โดยตั้งแต่เริ่มนับหนึ่งโครงการ BKS BAKERY เมื่อเดือนกันยายน 2565 จนถึง กุมภาพันธ์ 2566 มียอดรายรับจากการขายเบเกอรีรวมกว่าหมื่นบาท              

นายเอนก รั้งกลาง อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ และ BKS BAKERY ของโรงเรียนบ้านโคกสูง กล่าวว่า ทั้งสองโครงการซึ่งเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ เป็นการฝึกทักษะอาชีพให้นักเรียนที่สามารถนำความรู้และประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริงไปใช้ และส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียน ปลูกฝังความมีวินัยในการเก็บออม จากการที่เด็กๆ จะได้รับส่วนแบ่งค่าตอบแทนจากการจำหน่ายผลผลิตไข่ไก่ และจากรายรับในการจำหน่ายเค้กไข่ลาวา และซอฟต์คุ้กกี้   

จากโครงการเลี้ยงไก่ไข่ ซีพีเอฟ สู่ BKS BAKERY

ด.ญ.นันทิตา อินกลาง นักเรียนชั้นป.5/1 กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากโครงการคือ ได้ทำขนมเค้กไข่ลาวา ได้ฝึกทำซอฟต์คุกกี้ ได้ฝึกขายให้กับน้องๆ เพื่อนๆ ในโรงเรียน หนูชอบตอนที่ครูให้ทำแต่งหน้าเค้ก เพราะได้ฝึกสร้างสรรค์หน้าเค้กด้วยตัวเองกับเพื่อน ฝึกการพูดวิธีการทำเค้ก รู้จักการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม    

"โรงเรียนคาดหวังว่า BKS BAKERY จะช่วยพัฒนาทักษะ ความรับผิดชอบของเด็กนักเรียน ได้เรียนรู้ว่าตนเองมีความชอบในเรื่องใด" คุณครูผู้รับผิดชอบโครงการ   กล่าว         

ซีพีเอฟ ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา เป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เดินหน้าร่วมยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียน ตามเป้าหมายของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี สร้าง "เด็กดี เด็กเก่ง" และมุ่งมั่นมีส่วนร่วมส่งมอบโอกาสให้กับเด็กไทยในพื้นที่ห่างไกล ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในปี 2566 ซีพีเอฟมีแผนสนับสนุนโครงการฯ ทั้งด้านวิชาการ และวิชาชีพ โดยปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการคอนเน็กซ์ อีดี ในความดูแลของซีพีเอฟรวมทั้งสิ้น 297 โรงเรียน ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสระบุรี 

จากโครงการเลี้ยงไก่ไข่ ซีพีเอฟ สู่ BKS BAKERY