การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM)

การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM)

การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ในประเด็นการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance)

ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกรอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคในปี 2565 ไทยได้กำหนดประเด็นสำคัญที่ต้องการผลักดันภายใต้กรอบความร่วมมือเอเปค ภายใต้แนวคิดหลัก “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืน” ซึ่งประกอบด้วย การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกกันว่า Sustainable Finance และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในงานด้านการเงินการคลัง โดยบทความนี้จะกล่าวถึงประเด็น
การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เน้นการพัฒนาให้ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเหมาะสม เพียงพอ และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งเป็นแนวทางสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมตามแผนการลดการปล่อยมลพิษที่เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ตั้งเป้าหมายไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 เช่น เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป็นต้น

ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 20 ตุลาคม 2565
ณ กรุงเทพมหานคร จะพิจารณารับรองเอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่าง ๆ โดยประเด็นที่ไทยต้องการเห็นผลเป็นรูปธรรมในเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ 1) การปรับปรุงแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน เช่น การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน และธรรมาภิบาลของการลงทุน เพื่อให้นักลงทุนได้มีข้อมูลที่ชัดเจนประกอบการพิจารณาและตัดสินใจในการลงทุน รวมถึงป้องกันการหลอกลวงหรือกล่าวอ้างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม 2) การพัฒนาสภาพแวดล้อมในตลาดทุนที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเงินที่ยั่งยืน และ 3) การพัฒนากลไกการเงินและการลงทุนเพื่อการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดทำกลไกราคาสำหรับการซื้อขายคาร์บอน และเปลี่ยนการลงทุนดั้งเดิมสู่การลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ดำเนินการส่งเสริมด้าน Sustainable Finance อาทิ การออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 โดยไทยเป็นรายแรกในกลุ่มอาเซียน และได้รับการรับรองด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจาก Climate Bonds Initiative หรือ CBI ซึ่งเป็นการยืนยันว่าพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนของไทยผ่านเกณฑ์และมาตรฐานตามแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ความโปร่งใสในการบริหารจัดการเงินจากการระดมทุน และการยอมรับจากนักลงทุน โดยกระทรวงการคลังได้ดำเนินโครงการจากเงินทุนที่ได้มาจากการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนแล้ว อาทิ โครงการรถไฟฟ้า
สายสีส้ม ในช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และโครงการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2565 พันธบัตรดังกล่าวมีมูลค่ารวม 2.47 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ในการประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจโดยคณะกรรมการประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจได้กำหนดให้มีตัวชี้วัดการประเมินผลด้านประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) ซึ่งจะสะท้อนถึงผลลัพธ์การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ของรัฐวิสาหกิจและเป็นการสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งรัฐวิสาหกิจในกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจก็ได้ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเช่นกัน อาทิ การออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่นำไปใช้ในโครงการสินเชื่อรักษ์ป่าไม้ไทยยั่งยืน และโครงการส่งเสริมและสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว หรือการออกหุ้นกู้เพื่อสังคมของธนาคารออมสินเพื่อส่งเสริมและพัฒนาสังคม ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ รวมถึงสินเชื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงิน ส่วนการออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนของภาคเอกชน จะเน้นการดำเนินโครงการที่ส่งเสริมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ และเพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน

อนึ่ง การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคที่กำลังจะถึงนี้ ถือเป็นการพบปะกันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคครั้งแรกในรอบ 2 ปี และเป็นโอกาสอันดีที่แต่ละเขตเศรษฐกิจจะได้ร่วมหารือ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการผลักดันประเด็นการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อจะได้นำมาปรับใช้ในการดำเนินนโยบายการคลังให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมต่อไปในอนาคต