ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์ เปลี่ยนอนาคต

ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์ เปลี่ยนอนาคต

ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้าสูงมากขึ้นถึง 17.5% หรือ 2.4 ล้านคน จากการประเมินของกรมสุขภาพจิตปี 64 ถึงกรกฎาคม 65 ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจและให้ความสำคัญถึงการใช้เวลาว่างของลูกหลาน ควรจัดหากิจกรรมเรียนรู้นอกห้องเรียน เพื่อสุขภาพกายและใจที่ดีของเด็ก

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กล่าวในงานเปิดตัวกิจกรรม "BKK-เรนเจอร์ x ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง" จัดโดย สสส. ร่วมกับกรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่าย ว่าการเปลี่ยนวันว่างปีละไม่ต่ำกว่า 150 วัน ให้กลายเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์ สังคมจะได้ประโยชน์ทั่วหน้าจากการมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเต็มเปี่ยม

"ปิดเทอมสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมที่ สสส. จัดมาหลายปี แต่มาชะงักไปในปี 2563 เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 นั่นเพราะพบว่าในปีหนึ่ง เด็กไทยมีวันว่างหรือวันหยุดมากกว่า 150 วัน ซึ่งมองว่าเผลอๆ เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้มากกว่าเวลาในห้องเรียน ทั้งจากการศึกษา เรียนรู้และลงมือทำ ยิ่งหากมีผู้ปกครองช่วยส่งเสริม หรือเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ประสบการณ์ในช่วงปิดเทอมยิ่งดี" ดร.สุปรีดา กล่าว

ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์ เปลี่ยนอนาคต

ปัจจุบันสถิติเด็กไทยอยู่หน้าจอสูงมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็น โรคซึมเศร้า เราจึงมองว่าน่าจะมีพื้นที่กลาง เพื่อพัฒนาสุขภาวะเด็กและเยาวชนทั้งกาย จิต ปัญญา สังคม ได้ จึงรวบรวมองค์กรต่างๆ มีผู้ใหญ่ที่ยินดีจะเปิดโอกาสจัดกิจกรรมให้เด็กเข้าร่วมและกระจายทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งเรื่องนันทนาการ การเรียนรู้ทักษะต่างๆ หารายได้ การเข้าค่าย หรือศึกษาธรรมะอยู่ โดยแม้หยุดจัดกิจกรรมไป 2 ปี จากสถานการณ์โควิด-19 แต่ปิดเทอมสร้างสรรค์ได้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ happyschoolbreak.com ที่เยาวชนเข้าร่วมได้เพียงปลายนิ้วคลิก

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม 2565 สสส. ได้วิจัยกิจกรรมวันว่างและกิจกรรมสร้างสรรค์ของเยาวชนในกรุงเทพและ 4 ภาคๆ ละ 1 จังหวัด รวม 1,013 ตัวอย่าง พบว่าอาชีพในฝันกลุ่มเด็กมัธยมต้นคือ พยาบาล รองลงมาเป็นนักธุรกิจหรือเจ้าของกิจการ แพทย์ ทักษะที่ต้องการคือ ภาษา ดนตรี กีฬา วิชาชีพ ขณะที่กลุ่มเด็กมัธยมปลายและอุดมศึกษา อาชีพในฝันคือนักธุรกิจ หรือเจ้าของกิจการรองลงมาคือ ครู พยาบาล ยูทูบเบอร์ นักแสดง ทักษะที่อยากได้คือ วิชาชีพ ดนตรี ภาษา การแสดงออกในสังคม การขายออนไลน์ การทำอาหาร

"เด็กรุ่นใหม่พูดชัดเจนมากว่าสิ่งที่เขาชอบ สิ่งที่เขาอยากทำ และเรื่องวิชาชีพที่เขาสนใจเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ที่จากการเป็นหมอ ครู มาอาชีพแนวใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์ ทำวิชาชีพในโลกออนไลน์ วิศวกรด้านหุ่นยนต์ AI เป็นต้น"

ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์ เปลี่ยนอนาคต

ผลสำรวจดังกล่าว ถูกนำมาจัดเป็นกิจกรรมวันว่างและกิจกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมด 6 โซน ของกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ ซึ่งได้กลับมาจัดอีกครั้งในช่วงปิดเทอมเล็กเดือนตุลาคม 2565 ของปีนี้ หลังต้องเว้นวรรคไป เพราะพิษโควิด-19 มากว่าสองปี ซึ่งได้แก่ 1) Music & Performance 2) Learn & Earn 3) IT (Platform & Content Creator) 4) Book & Language 5) Cooking & Cafe 6.Dream &Do สอดคล้องความต้องการของเยาวชน สามารถศึกษา ค้นหา ลงมือทำสิ่งที่ชอบ พัฒนาสู่อาชีพในฝันได้จริง และยังได้รวบรวมแหล่งงานพาร์ทไทม์สำหรับนักเรียน นักศึกษา ทุกสาขาวิชา กว่า 500 องค์กร เพื่อให้น้องๆ ที่สนใจสามารถมีรายได้เสริม หาประสบการณ์ใหม่ โดยใช้แค่ "วันว่าง" ไม่ละทิ้งการเรียนหลัก และลดเวลาเล่นมือถือ

"ในอนาคต สสส. จะใช้งานนี้ เป็นต้นแบบดำเนินโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์กระจายสู่จังหวัดต่างๆ ต่อไป โดยคาดว่าปิดเทอมใหญ่ จะมีกิจกรรมสร้างสรรค์กว่า 2,000 กิจกรรม กระจายทุกภูมิภาค" ผู้จัดการ สสส. ย้ำ

BKK-เรนเจอร์ x ปิดเทอมสร้างสรรค์

อีกหนึ่งหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุน ที่ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในช่วง "วันว่าง" คือ กรุงเทพมหานคร

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกถึงนโยบายการทำงานว่า ท่านผู้ว่า กทม. พูดเสมอว่า การเรียนรู้ สำคัญกว่าการศึกษา ตัวผมเองมองว่าแนวคิดนี้จริงมากผมเป็นคนเรียนในห้องเรียนแบบถูๆ ไถๆ แต่ได้ความรู้จากกิจกรรมนอกห้องเรียนเยอะมาก ถ้าให้น้ำหนักทักษะการเรียนรู้มากกว่าศึกษาจะทำให้การสนับสนุนส่งเสริมการรู้ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย

พร้อมเล่าว่ากิจกรรมนี้ สอดคล้องกับการดำเนินงานของ กทม. ที่มีแผนระยะยาวในการสนับสนุนให้เยาวชนได้คิด ได้ทำ ได้สนุกไปกับกิจกรรมสร้างสรรค์ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ หรือปิดเทอมเพื่อให้เยาวชนไทยได้ร่วมกันสร้างอาชีพในฝันสู่อนาคตที่สดใส ก้าวสู่การสร้างเมืองของคนรุ่นใหม่ พัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

หนึ่งในนั้นคือ กิจกรรมผ่าน BKK Ranger เวทีที่เปิดให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพตนเอง และพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่และเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้

การที่ กทม. จัดเทศกาลต่างๆ ไม่ได้มุ่งแค่เรื่องนันทนาการอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับแต่ละเทศกาลนั้นๆ ด้วย

"เชื่อว่าเมืองที่น่าอยู่เราต้องทำหลายมิติ คนชอบพูดว่าเด็กและเยาวชนคืออนาคต แต่ไม่ใช่เขาคือปัจจุบันด้วย จึงมองว่าเราให้ความสำคัญกับเด็ก ผ่านเทศกาลนี้ ซึ่งต้องการภาคีร่วมเยอะมาก หนึ่งในนั้นคือ สสส. ที่ทำกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ให้เด็กๆ มานานแล้ว รวมถึงสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ให้เด็กมาใช้พื้นที่ ให้เด็กมาพูดเรื่องนโยบายสิ่งที่เขาอยากได้ในอนาคตเราจำเป็นต้องมีกลไกที่ทำเรื่องเด็กและเยาวชนต่อไปด้วย"

ปิดเทอม "สร้างสรรค์" ได้ในทุกพื้นที่

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวเสริมว่า จริงๆ ปิดเทอมสร้างสรรค์ เริ่มเข้มแข็งขึ้นเยอะมาก ถ้าดูในเว็บไซต์ ปิดเทอมสร้างสรรค์ดอทคอม จะเห็นมีหน่วยงานต่างๆ เอาข้อมูลและกิจกรรมที่ตนเองจัดในช่วงปิดเทอมแล้ววันหยุดมากมาย ทำให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศสามารถเข้ามาหากิจกรรมที่เขาสนใจและใกล้กับตัวเขาได้ ซึ่งเราตั้งใจว่าให้แพลตฟอร์มนี้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางจับคู่ระหว่างกันจะเพิ่มโอกาสที่เด็กเข้าถึง แต่เรามีปัญหาหนึ่งที่เรายังแก้ไม่ได้ จากการสำรวจความพึงพอใจ ในช่วงแรกเด็กอยากได้กิจกรรมโดนใจและกิจกรรมใกล้บ้าน เราได้ปรับเรื่องรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะกับความต้องการของเขาแล้ว แต่ยังเหลือที่การแก้ปัญหาเรื่องที่เด็กอยากได้กิจกรรมใกล้บ้าน

ณัฐยา กล่าวว่า เนื่องจากในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในอำเภอที่ห่างไกล การจะหากิจกรรมวันว่างสำหรับเด็กต่างอำเภอยากมาก แต่คาดว่าในปี 2566 จะเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ หรือนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาช่วยกันทำกิจกรรมแบบที่เราทำนี้ขึ้นเองในพื้นที่ของเขา ส่งเสริมให้เขาสร้างความเข้มแข็ง ระดมทรัพยากรของแต่ละจังหวัดต่างๆ มาสนับสนุนน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะจริงๆ ภาคธุรกิจเองก็มีโครงการแนว CSR ที่พร้อมช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์กับเด็กอยู่เยอะ แต่ภาครัฐต้องลุกขึ้นมาจัดการเชิญชวนให้เกิดระบบความร่วมมือหน่อย โดยอาจไม่ต้องใช้งบจากภาครัฐมาก

"ส่วนการจัดกิจกรรมในพื้นที่ กทม. ในเดือนนี้จะทำร่วมกับ BKK Ranger เราเป็นหนึ่งภาคีมาร่วมมือโดยจากการเห็นว่าผู้บริหาร กทม. ชุดปัจจุบันมีศักยภาพในการทำงานแบบเครือข่าย สังเกตจากงานเทศกาลต่างๆ ที่จัดมา เปิดพื้นที่และเชื้อเชิญให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมมือกัน โดยแทบไม่ต้องใช้งบประมาณตัวเงินเลย ภาคีต่างๆ สามารถนำกิจกรรมที่ตัวเองทำอยู่แล้วออกมาทำ ซึ่งแนวคิดเดียวกันกับปิดเทอมสร้างสรรค์ เราเลยร่วมมือกับกทม. หวังว่างานเทศกาลแบบปิดเทอมสร้างสรรค์ในปีต่อไป กทม. น่าจะทำได้เองไม่ยาก ซึ่งเราคาดว่าปีหน้า กทม. ก็จะ kick off กิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์เองได้แล้ว" ณัฐยา กล่าวทิ้งท้าย

ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์ เปลี่ยนอนาคต

ใครเลยจะคิดว่ากิจกรรมที่เราชอบทำในวันว่างๆ หรือกิจกรรมที่รักในวัยเด็ก จะสามารถเปลี่ยนเป็นอาชีพในฝัน หรือเป็นอนาคตที่รุ่งเรืองของเราได้วันข้างหน้า ปิดเทอมคือเวลาอิสระที่จะได้เล่น เรียนรู้ หรือเลือกทำสิ่งที่อยากทำ แต่น้องๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง พวกเขาใช้เวลาวันว่างและปิดเทอมอย่างสร้างสรรค์ จนกลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญที่สร้างอาชีพในวันนี้

"นักเขียนการ์ตูน" กิจกรรมวันว่างที่รัก กลายเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ของ "สาวปลาแห้ง"

"แพร" อีกหนึ่งสาวรุ่นใหม่ที่กล้าไล่ล่าความฝัน เล่าถึงเส้นทางเริ่มต้น ก่อนจะมาเป็น "แพร PrayerGirl" หรือสาวปลาแห้ง นักเขียนการ์ตูนคนไทยใน Line Webtoon แพลตฟอร์มการ์ตูนออนไลน์อันลือชื่อที่วันนี้ผลงานเธอมีคนติดตามอ่านหลายแสนคนและยังมีแฟนเพจถึงแปดหมื่นรายอีกต่างหาก

แพร เริ่มเส้นทางนักเขียนการ์ตูนมาตั้งแต่เมื่อหกปีก่อน ตอนนั้นแม้จะทำงานประจำเป็นกราฟิกดีไซน์อยู่บริษัทออกแบบเกมแล้ว แต่ด้วยความชอบวาดการ์ตูน ทำให้พอมีเวลาว่างแพรมักชอบลองวาดภาพส่งประกวดที่มีประกาศรับสมัครอยู่เสมอ

"ตอนส่งประกวดไลน์เว็บตูนไม่คิดว่าจะได้ แต่อยากแค่จะทำพอร์ตตัวเอง เลยลองส่งเล่นๆ สนุกๆ"

แต่แล้วกิจกรรมวันว่างที่รัก ได้กลายเป็นอาชีพหลักที่สร้างทั้งชื่อเสียงและรายได้หลักเลี้ยงตัวเองในทุกวันนี้ แพรใช้ทักษะความสามารถจากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ตอนเรียน มาเปลี่ยนชีวิต สร้างอาชีพในฝัน

เธอเอ่ยต่อว่าตอนเรียนอยู่ แม้ใจรักการวาดการ์ตูน แต่ไม่กล้าฝันไกล เพราะในเวลานั้นวงการการ์ตูนในบ้านเรายังไม่เฟื่องฟู

"ตอนเรียนอยู่ชมรมวาดการ์ตูน เลยได้ทำกิจกรรมบ่อย มีส่งประกวดบ้าง ซึ่งก็ได้รางวัลบ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ข้อดีคือเวลาเรียนครูพาไปออกงาน วาดรูปโชว์ ประกวด ทำให้เรากล้าขึ้น เราเลยกล้าทำผลงานมากขึ้น ทำให้มีผลงานเป็นพอร์ตของตัวเอง แม้ไม่ได้รางวัลไม่เป็นไร"

ด้วยลายเส้นสวยงามอ่อนหวาน สีสันสดใส ผสานกับการเล่าเรื่องที่สนุกน่าติดตาม จึงทำให้ผลงานเว็บตูน เรื่องแรกของแพร "โบตัน ภูตสาวจอมยุ่ง" ก็ได้ถูกคัดเลือก และเป็นอีกหนึ่งเรื่องยอดนิยมมายาวนานถึง 6 ปี และปัจจุบันมีจำนวนตอนถึง 240 กว่าตอนไปแล้ว

เพราะงานการ์ตูนใช้เวลาค่อนข้างมาก เพราะปริมาณภาพที่ต้องวาดต่อตอนเยอะมาก ทำให้หลังเขียนการ์ตูนได้ปีสองปี แพรตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเขียนการ์ตูนเป็นหลัก ซึ่งการเป็นนักเขียนการ์ตูนได้สร้างรายได้สำหรับเธอไม่น้อย เธอเผยถึงรายได้แต่ละเดือนอยู่ที่หลักหลายหมื่นบาท

"ช่วงแรกเราจะได้รับเป็นเงินเดือน แต่พอช่วงหลังทางเว็บจะมีเปิดรับการสนับสนุนจากผู้อ่านเรียกว่า ตอนเปย์ ซึ่งเราก็จะได้รับส่วนแบ่งเปอร์เซ็นจากตรงนั้นเพิ่มขึ้นด้วย ยิ่งช่วงหลังยิ่งมีแฟนคลับตามอ่านมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็ได้ส่วนแบ่งมากขึ้น"

หลังเป็นนักวาดการ์ตูนมีชื่อแล้ว คนเริ่มรู้จักมากขึ้น จึงมีคนติดต่อมาที่เพจจ้างทำงานต่อเนื่อง ทั้งยังสามารถต่อยอดนำตัวคาแรคเตอร์จากการ์ตูนมาทำสินค้าของพรีเมียมขายได้อีกต่อ

ถามถึงการเลือกแนวการเขียนเรื่องที่จะถ่ายทอด แพรเผยเคล็ดลับว่า เธอเลือกจากสิ่งที่ชอบหรือสนใจก่อน หรือไม่ก็เป็นแนวที่เราถนัด แต่หลังๆ เราก็เริ่มเสิร์ชหาข้อมูลมากขึ้น ดูกระแส ดูเทรนด์สังคมตอนนี้เขาต้องการเสพแนวไหน อย่างของแพรเน้นไปทางเรื่องที่อ่านแล้วมีความสุข รู้สึกอบอุ่น เราอยากสร้างรอยยิ้มให้คนอ่าน

ตอนนี้แพรเริ่มเขียนเรื่องที่สอง Give Me Your Love ตอนนี้ผลตอบรับยิ่งดีกว่าเรื่องแรกมากกว่าเท่าตัว

แพร ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจว่า ถ้าไม่ได้ส่งประกวดก็สามารถส่งผลงานไปให้ทางเว็บตูนพิจารณาได้มีช่องทางเปิดให้มือสมัครเล่นส่งผลงานเข้ามาหากใครมียอดวิวเยอะ ก็จะได้รับค่าตอบแทนเหมือนกัน หรือเรื่องไหนโดนใจมีคนชอบเยอะก็มีทีมงานติดต่อไป ซึ่งเมื่อถามความฝันสูงสุดของแพร เธอตอบว่า "อยากมีผลงานการ์ตูนจากฝีมือคนไทย เขียนให้คนต่างชาติทั่วโลกอ่านบ้าง"

วันว่างสร้างสุขของนักธุรกิจเพื่อสังคม

"ชาใบฟักผมได้นำมาจากกลุ่มคนพิการที่ปลูกชา แต่เราเห็นว่าแพ็กเกจเขาไม่สวย เราเลยเข้าไปช่วยออกแบบแพ็กเกจผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สวย ทำการตลาดและช่วยขายให้ด้วย ทั้งตั้งราคาใหม่"

เสียงจาก พชร ด่านประภา เขาบอกว่าตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนรินทร์วิโรฒ

"ระหว่างเรียนผมคิดว่า น่าจะลองหาอะไรทำแล้วเราเรียนด้านบริหารธุรกิจมา แล้วผมมี Insight ส่วนตัวว่าผมเป็นคนพิการทางสายตา ซึ่งที่ผ่านมาเราเป็นคนพิการและเป็นฝ่ายได้รับมาตลอด คนอื่นมาช่วยแก้ปัญหาให้เราตลอด แล้วทำไมเราไม่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาให้ตัวเองบ้าง" พชร เปิดเผยแรงบันดาลใจ

ในการใช้เวลาว่างสร้างกิจการเล็กๆ ของตัวเองกับการปั้น "บริษัทกลุ่มพลังธุรกิจเพื่อสังคม"

"ผมเริ่มตั้งบริษัทตัวเองตอนปี 3 เริ่มจากลงพื้นที่ไปดูคนพิการในชุมชนต่างๆ ว่าเขาเป็นไง เขาทำอะไรกันบ้าง ไปดูว่าสินค้าตัวไหนพอจะนำมาขายได้บ้าง อย่างชาฟักเรามองว่ามีคนกินแน่นอน ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ เป็นสินค้าที่น่าสนใจ แล้วก็ข้าวหอมใบเตยเป็นสายพันธุ์ที่หายาก จากจังหวัดลำปาง แต่ปัญหาที่พบคือ นอกจากแพ็กเกจไม่ดึงดูดใจแล้ว เขายังขายไม่เป็นด้วย เพราะเป็นกลุ่มคนพิการที่อยู่ต่างจังหวัดไม่มีความรู้ด้านการตลาด เขาได้แต่ทำ ไม่รู้ว่าจะต้องขายยังไง"

หลังจากเริ่มผลักดันสินค้าจากผู้พิการเปลี่ยนรูปลักษณ์โดนใจตลาด และนำสินค้ามาวางจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และออกบูธตามงานอีเวนต์ ซึ่งได้ผลตอบรับดีทั้งด้านรายได้และยังช่วยให้กลุ่มผู้พิการที่เขาลงไปช่วยเหลือนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งเรียนรู้การทำสต็อกสินค้า รู้จักการทำบัญชีมากขึ้น โดยเขาคอยขยายตลาดให้กับชุมชน

เมื่อถามว่าทำไม เขาถึงคิดอยากมาทำธุรกิจตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ พชรตอบพร้อมเสียงหัวเราะว่า

“ผมรีบครับคือ เอาจริง คนพิการส่วนใหญ่ เรียนจบไปก็หางานทำยาก ผมเลยรู้สึกว่าอะไรที่จะสร้างอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ก็ควรรีบเริ่มทำตั้งแต่วันนี้น่าจะดีกว่า”

จากกิจกรรมวันว่างในชมรม สู่นวัตกรรมช่วยแปลภาษา ที่ลดข้อจำกัดของผู้พิการทางการได้ยิน

จากความชอบและการได้ลงมือปฏิบัติจริงทำให้ บุญฤทธิ์ ปฐมนันทพงศ์ นักเรียนชั้น ม.5 และเพื่อนๆ พี่ๆ นักเรียนม.ปลาย ทีม ASCLEPIUS ดรีมทีมรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ จับมือร่วมกันพัฒนานวัตกรรม ช่วยแปลภาษากายเป็นตัวอักษร

ด้วยโจทย์ที่ว่า แม้ผู้พิการทางการได้ยินจะใช้ภาษามือเป็นสื่อกลางหลักเพื่อสื่อสารกับผู้อื่น แต่กลับมีประชากรโลกทั้งหมดไม่ถึง 1% ที่สามารถใช้ภาษามือได้ เพราะการสื่อสารต้องมีทั้งผู้ส่ง และผู้รับ หากจะสื่อสารด้วยภาษามือ ทั้งผู้ส่งผู้รับจึงจำเป็นต้องใช้ภาษามือเป็นด้วยทั้งคู่ เพื่อสื่อสารผ่านการใช้ภาษากาย สีหน้าท่าทาง และการเคลื่อนไหวของมือในการสื่อความหมายแทน

"ผลงานนี้เป็นโปรแกรมที่เขียนโปรแกรมกันขึ้นมาเอง พวกผมเป็นสมาชิกของศูนย์การเรียนรู้ SPACE AC เป็นชมรมเกี่ยวกับวิศวกรรมและอวกาศของโรงเรียน เรามองเห็นปัญหานี้ จึงพัฒนาเว็บไซต์ ASCLEPIUS ที่เพียงเปิดกล้อง ผู้ใช้งานก็สามารถแปลงภาษามือเป็นตัวอักษร ผ่านการใช้ AI และ Machine Learning"

โปรแกรมนี้ มีขั้นตอนการทำงานคือ ตรวจจับฝ่ามือ พยากรณ์ด้วย AI แล้วแสดงข้อความความหมายของภาษามือแก่ผู้ใช้งาน ในการทำงานกระบวนการเริ่มคือ เราต้องเทรน AI บอกให้โปรแกรมรู้จักท่าทางและสัญลักษณ์แต่ละท่า โดยเราใช้ เป็นภาษากายที่คนใช้มากที่สุดทั่วโลกมาเป็นภาษาหลักในการพัฒนาโปรแกรม

เขาเล่าว่าตอนนี้เป็นโปรโตไทป์ ยังไม่สามารถใช้งานจริงได้ เพราะต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพมากกกว่านี้ ยังต้องใช้ระยะเวลาและพัฒนามากกว่านี้

"แต่ในเฟสต่อไปผมอยากทำให้เป็นภาษาไทยเอามาปรับใช้ให้คนไทย อีกทั้ง อนาคตเราอยากพัฒนาให้ใช้สะดวกในแอปพลิเคชันมือถือได้"

แม้จะเป็นงานที่ใช้ช่วงเวลาในวันว่าง และเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมในชมรม แต่ผลงานนี้ทำให้พวกเขาเป็นผู้ชนะ Microsoft Hackathon ระดับเอเชีย แปซิฟิก กับผลงานเทคโนโลยี AI แปลงภาษามือสู่ข้อความมาแล้ว ที่สำคัญกิจกรรมนอกห้องเรียน ยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เขามีความสนใจที่จะศึกษาต่อในด้าน Artificial Intelligent หรือ AI ในระดับมหาวิทยาลัยด้วย

"อนาคตตั้งใจไว้แล้วว่า อยากเข้าวิศวกรรมด้านเครื่องกล โดยเฉพาะกี่ยวกับ AI ผมอยากจะนำความรู้มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้คนมากขึ้น" บุญฤทธิ์เอ่ย

ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์ เปลี่ยนอนาคต ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์ เปลี่ยนอนาคต