ดร.วิรไท ชี้ไทยต้องปรับโครงสร้างบริหารอย่างจริงจัง

ดร.วิรไท ชี้ไทยต้องปรับโครงสร้างบริหารอย่างจริงจัง

เน้นปรับรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ - เอกชน - ภาคประชาสังคม - สถาบันการศึกษา เพื่อรองรับโลกที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตโควิด-19

 ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ กรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวในงานเสวนา "ฝ่าวิกฤตโควิด-19 พลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ออกแบบอนาคตไทยที่ยั่งยืน" ที่จัดขึ้นโดย กระทรวงมหาดไทย เพื่อร่วมสร้างเข็มทิศประเทศไทยในอนาคตว่า ประเทศไทยโดยเฉพาะภาครัฐต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมและปรับรูปแบบการทำงานอย่างจริงจัง (transformation) เพื่อรับมือกับความท้าทายหลายประการที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19

ดร.วิรไท ชี้ไทยต้องปรับโครงสร้างบริหารอย่างจริงจัง

ดร.วิรไท ได้เสนอแนวทางการปฏิบัติงานของข้าราชการในพื้นที่เพื่อฝ่าวิกฤต โควิค-19 ไว้ดังนี้

        1) ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าเพียงการเยียวยาในช่วงสั้น ๆ เพียงอย่างเดียว เพื่อรองรับความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะมีมากขึ้น

        2) ต้องเน้นการทำงานในลักษณะล่างขึ้นบนให้มากขึ้น มากกว่าการกำหนดสูตรสำเร็จจากส่วนกลาง เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหาต่างกัน มีบริบทต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากร บุคลากร สภาพพื้นที่ และการบริหารจัดการ

        3) ควรต้องเน้นการสร้างงานในชนบทนับล้านตำแหน่ง ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาทักษะใหม่หรือ reskilling ให้ตอบโจทย์ของโลกใหม่

โดยหน่วยงานภาครัฐไม่จำเป็นต้องลงมือทำเอง แต่ต้องทำงานร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคการศึกษา ธุรกิจ ประชาสังคม และชุมชน โดยหน่วยงานภาครัฐควรมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ และติดตามประเมินผล เมื่อมองไปข้างหน้าพบว่าประชาชนมีความเดือดร้อนอีกมากที่ต้องได้รับการแก้ไข ถ้าให้หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ลงมือทำเอง จะไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างเท่าทัน และอาจจะไม่เกิดประสิทธิผลเมื่อเทียบกับการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่มีประสบการณ์ และความชำนาญเฉพาะด้านสูงกว่าหน่วยงานภาครัฐ

ดร.วิรไท ชี้ไทยต้องปรับโครงสร้างบริหารอย่างจริงจัง

ได้ยกตัวอย่างของการทำงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ที่เข้าไปเติมเต็มช่องว่างในการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ และระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับชุมชน โดยหนึ่งปีที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ได้จัดทำโครงการพิเศษเพื่อซ่อมแซมแหล่งน้ำขนาดเล็ก กว่า 650 โครงการใน 9 จังหวัดใช้เงินลงทุนประมาณ 250 ล้านบาท หรือตกโครงการละประมาณ 4 แสนบาท สามารถจ้างแรงงานที่ตกงานกลับบ้านได้ประมาณ 1,000 คน แหล่งน้ำขนาดเล็กเหล่านี้สามารถกลับมาเก็บกักน้ำได้มากกว่า 120 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือรวมกันแล้วมีขนาดใกล้เคียงกับความจุของเขื่อนกิ่วลม ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1,400 ล้านบาท หลักการทำงานที่สำคัญคือ การให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและแสดงความต้องการที่จะอาสาร่วมแรงร่วมใจกันซ่อมแซมแหล่งน้ำเหล่านี้โดยไม่มีค่าจ้าง ไม่มีการจ้างเหมาผู้รับเหมามาดำเนินโครงการ การที่เริ่มจากให้ชาวบ้านอาสาลงแรงร่วมกัน

 

 

เนื่องจากโลกในอนาคตจะมีลักษณะ VUCA (Volatile - ผันผวน, Uncertain - ไม่แน่นอน, Complex - ซับซ้อน, Ambiguous – คลุมเครือ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และผลกระทบในแต่ละพื้นที่จะต่างกัน ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐจึงต้องทำงานในลักษณะล่างขึ้นบนมากขึ้น ไปในทิศทางของ decentralization และต้องทบทวนการแบ่งบทบาทระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นเพื่อให้สอดคล้องกับความท้าทายของอนาคต

        ดร. วิรไท ได้ฝากสามคำถามสำคัญไว้ให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานภาครัฐพิจารณาก่อนที่จะเริ่มทำโครงการใด ๆ ต้องถามตัวเองว่า

(1) โครงการต่าง ๆ ที่จะทำจะมีผลช่วยปรับโครงสร้างและสร้างความยั่งยืนในระยะยาวหรือไม่ จะตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคตอย่างไร

(2) หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องเป็นคนลงมือทำโครงการเหล่านี้เอง หรือควรมีบทบาทสนับสนุนให้ภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชน หรือท้องถิ่นที่เก่งกว่า มีความชำนาญเฉพาะด้านมากกว่าเป็นคนลงมือทำ และ

(3) ใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นกลไกในการดำเนินการหลักหรือไม่ ในโลกปัจจุบัน ทุกเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐคิดจะทำควรต้องให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลก่อน (digital first) เสมอ