สิทธิ์และเสียงของแม่วัยใส

สิทธิ์และเสียงของแม่วัยใส

 

“รักแท้” ในวัยที่ชั่วโมงบินยังน้อย เป็นอีกโอกาสเสี่ยงที่อาจพลาดพลั้งได้ง่าย

ช่วงเวลาหนุ่มสาว มักมีมุมมองการใช้ชีวิตที่เพิ่งเริ่มต้น ประกอบกับ “ฮอร์โมน” แห่งวัยที่กำลังทำงานเต็มที่ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ “ความรัก” และ “เรื่องเพศ” ในวัยรุ่นนำไปสู่อุบัติเหตุที่ไม่ได้ตั้งใจ

แม้ “ท้องก่อนวัยอันควร” เป็นปัญหาคลาสสิคที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย แต่ยิ่งอยู่ในสังคมยุคใหม่ที่มีเทคโนโลยีเป็นสื่อช่วยกระตุ้นเร้า ก็เหมือนจะยิ่งส่งเสริมให้ปัญหานี้ยิ่งขยาย สุดท้ายสถานการณ์บานปลาย ที่ทำให้เกิดหลายปัญหาที่ตามมา ไม่ว่าเป็นสุขภาพจิตและสุขภาพกาย เนื่องจากเป็นวัยที่ยังไม่เหมาะสม

 

สิทธิ์ของแม่วัยใส

เพื่อกระตุกให้ทุกฝ่ายในสังคมได้รู้จักและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น นำมาสู่การชูประเด็นการแก้ปัญหา“การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” จนสามารถขับเคลื่อนผลักดัน พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่ได้ประกาศให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2559

ความคาดหวังของ พ.ร.บ.ดังกล่าวคือการให้ “วัยใส” เข้าถึงสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และการทำงานอย่างบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาท้องในวัยรุ่นได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน

นั่นคือวัยรุ่นมีสิทธิที่จะตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ มีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ การได้รับบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ การได้รับจัดการสวัสดิการสังคม ไปจนถึงสิทธิการได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค และการได้รับรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว เป็นต้น

ซึ่งหากจะส่องพฤติกรรมปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ในไทย มีข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพวัยรุ่น ศาสตราจารย์ซูซาน เอ็ม ลอว์เยอร์ (Professor Susan M Sawyer)  จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ที่เกิดจากการเสวนา Overview of adolescent health and teenage pregnancy: from global analysis to community actions  ในการจัดประชุมเรื่องสุขภาวะทางเพศครั้งที่ 3 พบว่า

จากการศึกษาวิจัยเรื่องสุขภาพและปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจากทั่วโลกว่า สาเหตุส่วนใหญ่ล้วนเกิดโดยความไม่ตั้งใจ  หรืออุบัติเหตุที่ไม่ได้มีการวางแผน ซึ่งหากทุกฝ่ายสามารถเตรียมการป้องกันไม่ให้วัยรุ่นพลาดพลั้งได้ ก็เชื่อว่าแนวโน้มสถานการณ์นี้จะลดลง

ศ.ซูซานเอ่ยต่อว่า นอกจากการแต่งงานตามความเชื่อของแต่ละชุมชนและการเข้าไม่ถึงความรู้ด้านเพศแล้ว ผลวิจัยยังสะท้อนว่าต้นตอปัญหายังมีปัจจัยทางสังคมและปัจจัยแวดล้อม อาทิ ชุมชน หรือสังคม ล้วนส่งผลกระทบทั้งสิ้น ดังนั้นการทำงานเรื่องการลดการตั้งครรภ์วัยรุ่น ไม่สามารถทำได้แค่ด้านเดียว หรือเฉพาะแค่การให้ความรู้เรื่องเพศ แต่จำเป็นต้องมองในมุมที่กว้างมากขึ้น นั่นคือการทำงานแบบองค์รวมของการส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนทั้งทางกายและจิตใจ

ไปจนถึงการส่งเสริมความรู้สึกเชิงบวกในตัวเอง การเพิ่มคุณค่า และทักษะการใช้ชีวิต เพราะปัจจัยเหล่านี้จะช่วยป้องกันเป็นภูมิคุ้มกันปัญหาหลายๆ เรื่อง

 

บริการสุขภาพวัยรุ่นเข้าถึงแค่ไหน?

ศ.ซูซานเผยต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพวัยรุ่น ประเทศไทยสามารถดำเนินการเรื่องที่เป็นอุบัติการณ์เห็นชัด อาทิ โรคติดเชื้อ ประเด็นการตั้งครรภ์ หรือการบาดเจ็บได้ดี

“แต่ในด้านที่เราไม่ค่อยเห็นคือในเรื่องการให้บริการด้านสุขภาพแก่เด็กและวัยรุ่น อาทิ ปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งกว่าหน่วยงานจะดำเนินการจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดปัญหาใหญ่โตแล้ว รวมถึงบริการต่างๆ หรือ ความต้องการใหม่ๆ ที่กลับยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน อาทิ กระบวนการป้องกัน เช่นการใช้วัคซีน หรือมาตรการต่างๆ เป็นต้น

ดร.ซูซานจึงนำเสนอว่าทางเลือกของการให้บริการ ควรมีการปรับรูปแบบการให้บริการสุขภาพในเชิงรุก โดยยึดพื้นฐานจากความต้องการของเด็กและเยาวชน และตอบสนองความต้องการนั้นให้มากที่สุด

โดย 4 องค์ประกอบหลักสำหรับการทำงานด้านวัยรุ่น หนึ่ง คือวัยรุ่นต้องเป็นศูนย์กลางของการทำงาน ทั้งการมีส่วนร่วมและทำงานที่คำนึงถึงวัยรุ่นเป็นหลัก สอง นโยบายและกระบวนการทำงานตอบโจทย์บริการ สามครอบครัวต้องมีส่วนร่วม และสี่ ควรทดสอบการบริการต่างๆ ที่มีให้ว่ามีคุณภาพดีแค่ไหน

“ซึ่งทั้งสี่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ ต้องมีการอบรมให้ความรู้ต่อเนื่องกับผู้ให้บริการและมีกฎหมายออกมาช่วยขับเคลื่อน”

 

โรงเรียน อีกคลินิคสุขภาพวัยทีน

“นอกจากการมองในเชิงประเด็นปัญหา เราต้องมองหาด้วยว่าจะเข้าถึงเด็กและวัยรุ่นได้ในพื้นที่หรือช่องทางใดบ้าง อาทิ สถานให้บริการด้านสุขภาพ โรงเรียน หรือแม้แต่ช่องทางออนไลน์ที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่น โดยเฉพาะพื้นที่โรงเรียน คือการพื้นที่สำคัญการทำงานปัญหาสุขภาพวัยรุ่น เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่แทบจะแยกไม่ได้ ระหว่างโรงเรียนกับเรื่องสุขภาพ” ศ.ซูซานกล่าว

ซึ่งนอกจากบ้านแล้ว โรงเรียนคือพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของเยาวชนสูง โรงเรียนจึงยังเป็นพื้นที่ที่ให้ความรู้เฉพาะทางด้านสุขภาพได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นหากเราเปลี่ยนแปลงอะไรในโรงเรียนได้ จะส่งผลต่อสุขภาพของนักเรียน

 

อย่าดูถูกพลังของวัยรุ่น

ศ.ซูซานแนะว่าการทำงานกับวัยรุ่นให้มองเป็นกลยุทธ์แบบหยินหยาง

“หยิน” คือการมองว่าพวกเขาเป็นผู้รับบริการ ส่วน “หยาง” นั้นคือการหนุนเสริมให้วัยรุ่นสามารถเป็นผู้ที่ดูแลและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสุขภาพด้วยตัวเองได้ รวมถึงการนำศักยภาพของวัยรุ่นที่มีความคิดสร้างสรรค์มามีส่วนร่วมในการทำงานด้วย

“สาเหตุที่เราต้องทำงานเรื่องวัยรุ่น นอกจากเป็นสิทธิที่วัยรุ่นควรจะพึงมีและได้รับแล้ว ยังเป็นการทำงานที่ส่งเสริมการให้วัยรุ่นรู้จักเรียนรู้การดูแลสุขภาพวัยรุ่นด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นรากฐานที่ดีไปจนถึงวันที่เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเท่ากับการมีประชากรที่มีคุณภาพ”

 “มองว่าจริงๆ ภาครัฐกำลังพยายามเข้าถึงเด็กและเยาวชนมากที่สุด แต่เรายังพบว่าเด็กและเยาวชนโดยทั่วไปส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ที่ตัวเองพึงได้รับเท่าที่ควร”

แนน-ภัทรวดี ใจทอง จากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และตัวแทนเยาวชนในคณะกรรมการท้องวัยรุ่นระดับชาติให้ความเห็นในมุมของวัยรุ่นว่า

“เวลาเราเข้าทำงานประชุมกับผู้ใหญ่ แต่ละหน่วยงานจะบอกว่าอยู่ในระดับที่ดี สถานการณ์ดี หรือได้รับการยอมรับแล้ว เรามองว่า ผู้ที่กำหนดนโยบายหรือบริหารประเทศจะได้รับแค่ข้อมูลเหล่านี้เท่านั้น แต่เขายังไม่ได้เห็นปัญหาที่แท้จริง เพราะยังมีหลายปัญหาที่ตกหล่นกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้”

 

เสียงสะท้อนจากคนต้นเรื่อง

ภัทรวดีสะท้อนต่อว่า ทุกวันนี้เวลาเด็กมีปัญหาจะเซิร์ชกูเกิ้ล เด็กมักไม่ได้ไปหาพ่อแม่ก่อน ซึ่งในโลกสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียเองก็ไม่บอกความจริงหรือข้อถูกต้องทุกอย่าง เราควรช่วยกันสร้างกระแสให้เด็กเยาวชนมาดูแลปัญหากันเองมากขึ้น

ที่สำคัญแม้จะมีกฎหมาย พ.ร.บ.ท้องวัยรุ่นแล้ว หากแต่ในทางปฏิบัติยังมีหลายประเด็นที่กฎหมายบางตัวยังไม่ครอบคลุม อาทิ ในเรื่องช่วงวัย เพราะใน พ.ร.บ.นิยามวัยรุ่นว่าอายุ 10-20 ปีเท่านั้น จึงเกิดการตั้งคำถามว่า แล้วหากเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่อายุมากกว่านั้นเขาสามารถใช้กฎหมายนี้ในการช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่

“เคยมีกรณีเยาวชนคนหนึ่งอินบ็อกซ์เข้ามาปรึกษากับทีมงานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยว่า กำลังเรียนมหาวิทยาลัย แต่ตั้งครรภ์ หนูไม่รู้จะปรึกษาใคร ไม่รู้ต้องติดต่อใครทำไง รวมถึงกรณีวัยรุ่นควรได้รับการบริการจากสถานให้บริการด้วยความเป็นมิตร หรือการรับบริการคุมกำเนิดฟรีหรือราคาถูก หลายคนเขาไม่รู้ตรงนั้นและไม่ได้ใช้สิทธิ์ของตัวเอง แนนมองว่าปัญหาเหล่านี้มันเป็นช่องว่างที่เราเอื้อมไม่ถึง

อย่างเด็กๆ ที่แถวหมู่บ้านแนนเอง ในภาคอีสานหลายคนยังไม่รู้ ง่ายๆ แค่การจะเดินทางไปโรงพยาบาลเองก็ไม่สะดวกขนาดนั้น แตกต่างกับในเมืองใหญ่ที่ภาพค่อนข้างเข้าถึง หรือเด็กที่อยู่นอกระบบโรงเรียนมองว่าเขายังแตะไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการเหล่านั้น” เธอยกตัวอย่างง่ายๆ จากประสบการณ์ส่วนตัว” เธอเล่า พร้อมกล่าวต่อว่า

“อยากให้สังคมให้โอกาสกับเด็กที่มีปัญหา เด็กหลายคนไม่กล้าบอกพ่อแม่ ดังนั้นในฐานะผู้ให้บริการ ก็คือประตูแรก เมื่อเด็กมาถึงเราแล้ว น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะใส่อะไรให้เขา ไม่ว่าจะเป็นความรู้หรือกำลังใจ”

ด้าน โรนี บาสุ (Roshni Basu)  Regional Advisor Adolescent Development, UNICEF East Asia and Pacific Regional Office ร่วมแสดงความเห็นเสริมว่า “เสียงของวัยรุ่น” คือหัวใจสำคัญ คนทำงานบริการด้านนี้จึงควรฟังความต้องการของเด็ก

“การมีส่วนร่วมคือหัวใจสำคัญ  การออกแบบแผนงานด้านสุขภาพวัยรุ่น สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของเจ้าของปัญหา คือวัยรุ่นนั่นเอง ที่สามารถเข้ามามีบทบาทในการช่วยออกแบบการวางแผน การดำเนินการ ไปจนถึงขั้นตอนการติดตามและประเมินผล โดยทั้งภาคสังคมและภาคนโยบายที่ต้องมีส่วนร่วมอีกสิ่งสำคัญคือการสื่อสาร จะทำให้การเข้าถึงบริการที่จัดไว้เป็นไปได้จริง

พร้อมสรุปว่าการทำงานกับวัยรุ่นจำเป็นต้องดูหลายบริบท ทั้งในโรงเรียน ชุมชน สังคมหรือที่ๆ วัยรุ่นอยู่

“การทำงานกับครอบครัวของวัยรุ่น เป็นอีกกลไกที่จะทำให้วัยรุ่นเข้าถึงการบริการต่างๆ และชี้นำพฤติกรรม เพราะครอบครัวใกล้ชิดมากที่สุด” โรนีกล่าวทิ้งท้าย

สิทธิ์และเสียงของแม่วัยใส

สิทธิ์และเสียงของแม่วัยใส

สิทธิ์และเสียงของแม่วัยใส

สิทธิ์และเสียงของแม่วัยใส

สิทธิ์และเสียงของแม่วัยใส