Mintel เผย เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกประจำปี 2565

Mintel เผย เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกประจำปี 2565

ไขพฤติกรรมผู้บริโภคต่ออุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และบริการด้านอาหาร ไปกับ เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกประจำปี 2565 จาก Mintel

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาผู้คนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดโรคโควิด-19 กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนล้วนต้องเผชิญกับสถานการณ์การล็อกดาวน์ ช่วงที่ต้องกักตุนอาหาร หรือการเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นสถานที่ทำงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในหลายๆ ด้าน อีกทั้ง ยังทำให้อาหารกลายเป็นปัจจัยที่มิใช่เพียงเพื่อการยังชีพ แต่ยังเป็นเหมือนแหล่งที่จะสร้างกำลังใจ ช่วยให้ผู้คนมีพลังในการก้าวเดินต่อไปได้อีกด้วย

พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ส่งผลอย่างยิ่งให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงบริการด้านอาหารต่างๆ เพราะเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่กระนั้น ในช่วงวิกฤติ ก็ยังมีโอกาสที่เกิดขึ้นให้กับผู้ประกอบการได้สามารถนำมาปรับใช้ ซึ่ง Mintel บริษัทวิจัยและวิเคราะห์การตลาด ได้จัดทำรายงาน เทรนด์ผู้บริโภคทั่วโลกประจำปี 2565 ที่ได้มีสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมเหล่านี้ พร้อมให้ข้อมูลเชิงลึกและคำแนะนำที่แบรนด์อาหาร เครื่องดื่ม และผู้ให้บริการด้านอาหารสามารถนำไปใช้วางกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในอนาคต จุดเด่นของรายงานนี้คือการสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค ด้วยข้อมูลเชิงลึกสำหรับแบรนด์อาหาร เครื่องดื่ม บริการด้านอาหาร และคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการนำเทรนด์ต่างๆ ไปปรับใช้กับกลยุทธ์ของธุรกิจในอนาคต

พิมพ์วดี อากิลา นักวิเคราะห์ตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ของ Mintel กล่าวว่า การวิเคราะห์เทรนด์ตลาดและการคาดการณ์นี้มีพื้นฐานมาจากการสังเกตตัวขับเคลื่อนหลักของพฤติกรรมผู้บริโภค ประกอบกับชุดข้อมูลของ Mintel ที่ครบถ้วน Mintel's 2022 Global Consumer Trends เป็นรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการคาดการณ์และคำแนะนำที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด

เทรนด์สำคัญ 3 ประการ เพื่อการนำเสนอศักยภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้นได้แก่

  • ควบคุมได้ : ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอน ผู้บริโภคต้องการความรู้สึกอิสระในชีวิต แบรนด์อาหาร เครื่องดื่ม และบริการด้านอาหารจำเป็นต้องช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกมีอำนาจในการตัดสินใจอย่างมั่นใจเพื่อปกป้องสุขภาพของตนเองและสุขภาพของโลก โดย 56% ของคนไทยเลือกที่จะอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ เช่น ส่วนผสม ส่วนประกอบทางโภชนาการ ก่อนที่จะซื้ออาหารหรือเครื่องดื่ม
  • เพลิดเพลินได้ทุกที่ : หลังจากผ่านพ้นช่วงล็อกดาวน์แล้ว ผู้บริโภคต่างกระตือรือร้นที่จะออกไปข้างนอก เพื่อค้นพบสิ่งต่างๆ สังสรรค์กับเพื่อนๆ และสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ผู้บริโภคจะมองหาผลิตภัณฑ์ที่สนุกสนานที่จะช่วยเติมเต็มรูป รส กลิ่น และสีจากอาหารและเครื่องดื่มที่สามารถตอบโจทย์ให้ได้
  • พื้นที่แห่งความยืดหยุ่น : ผู้ค้าปลีก ร้านอาหาร และแบรนด์ต่างๆ สามารถสร้างพื้นที่อเนกประสงค์ ที่ผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่อ จับจ่าย และรับประทานอาหารด้วยตนเองหรือทางออนไลน์ บริษัทต่างๆ จะใช้สถานที่ให้บริการด้านอาหาร เครื่องดื่ม และบริการอาหารอย่างสร้างสรรค์เพื่อเป็นเวทีที่ผู้บริโภคสามารถใช้เวลาในปลดปล่อย และพบปะผู้คนใหม่ๆ

Mintel ได้คาดการณ์ว่า เทรนด์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นยังมีศักยภาพที่จะดำเนินต่อไปหลังจากช่วงวิกฤติโควิดนี้

พิมพ์วดี กล่าวว่า ห้าปีต่อจากนี้ คาดว่าเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการ ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ ควบคุมได้ ที่การซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มสามารถตรวจสอบส่วนผสมและตรวจสอบย้อนกลับได้ด้วยระบบบล็อกเชน หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะส่งผลกระทบต่ออีกสองเทรนด์ด้วย ในเทรนด์ เพลิดเพลินได้ทุกที่ ที่จะเห็นแบรนด์ต่างๆ จัดกิจกรรมเล่นเกมประจำวันใน Metaverse มากขึ้น กุญแจสำคัญในที่นี้คือ การสร้างสมดุลและกำหนดประสบการณ์ออฟไลน์ใหม่ที่ในโลกออนไลน์ไม่สามารถทำได้ ในขณะเดียวกัน ในเทรนด์ พื้นที่แห่งความยืดหยุ่น การใช้ความจริงเสมือน (virtual reality) และความจริงเสริม (augmented reality) เพิ่มขึ้นเพื่อมอบโอกาสใหม่ๆ ในการสร้างแบรนด์ และสร้างประสบการณ์ร่วมกันกับผู้บริโภค

นอกเหนือจากเทรนด์ทั้งสามที่กล่าวมาข้างต้น Mintel ยังนำเสนอรายงานภาพรวมซึ่งเน้นเทรนด์ทั่วไปที่สำคัญที่น่าสนใจไว้มากมาย ผู้ที่สนใจรายละเอียดและข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในรายงาน 2022 Global Food and Drink Trends ซึ่งมีให้ใช้งานฟรีบนเว็บไซต์ของ Mintel