"โควิด" พฤษภา เข้าโหมด “ขาลง” เสนอเปิด “จังหวัดนำร่อง” โรคประจำถิ่น

"โควิด" พฤษภา เข้าโหมด “ขาลง” เสนอเปิด “จังหวัดนำร่อง” โรคประจำถิ่น

“หมอทวี-หมออมร” เชื่อยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันจริง มีมากกว่ารัฐโชว์ 2-3 เท่า คอนเฟิร์มหลังสงกรานต์ยอดเพิ่มเล็กน้อย 1-2 สัปดาห์จะลง เสนอรัฐเปิดจังหวัดนำร่อง ดูแนวทางก่อนประกาศ “โรคประจำถิ่น” มั่นใจหลังจากนี้ไม่มีล็อคดาวน์

สถานการณ์ “โควิด-19” จะกลับมาระบาดหนักในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือไม่ เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วง ดังนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จึงให้คำอธิบายต่อเรื่องนี้ได้  

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และ ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ในรายการ “คมชัดลึกเนชั่นทีวี 22 โดยนายวราวิทย์ ฉิมมณี ดำเนินรายการ เมื่อ 11 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา 

โดย นพ.ทวี ตอบคำถามถึงความน่าเป็นห่วง จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังสงกรานต์จะเพิ่มขึ้นหรือไม่ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และคนกลุ่มนี้คือผู้ติดเชื้อแล้วป่วยหนักมากที่สุด ดังนั้นที่รับรู้ได้ตอนนี้คือวัคซีนยังได้ผลอยู่ ในศตวรรษที่ผ่านมารอบ 100 ปี หลังไข้หวัดสเปนระบาดเมื่อ ค.ศ.1919 ไม่มีโรคระบาดไหนรุนแรงเท่านี้ มีเชื้อกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ เราเดาไม่ถูกหรอก จึงต้องติดตามไปเรื่อย ๆ การคาดการณ์หลายครั้งที่ผิด ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเราไม่ได้รู้ดีว่าเชื้ออย่างนี้เป็นอย่างไร

นพ.ทวี ระบุว่า ผลที่เห็นได้ชัดเจนเลย คือหลังสงกรานต์ ประชาชนจะมีความทนทานด้านความรู้สึกมากขึ้น สบาย ๆ ขึ้น เพราะตอนนี้โรคถึงจุดหนึ่งแล้ว ไม่ใช่แค่คนไทย แต่ทั่วโลกเป็นหมด แม้ว่าตัวเชื้อยังเหมือนเดิม กลุ่มอาการหนักคือผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวเหมือนเดิม แต่จะเห็นว่าสงกรานต์ที่ผ่านมา 3 ปี คนไทยเริ่มคุ้นชินในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น แม้ว่าการป้องกันจะไม่ช่วย 100% แต่ลดอัตราเสี่ยงในการติดโรคได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว

ส่วน นพ.อมร กล่าวว่า จำนวนคนตายและคนป่วยหลังสงกรานต์ ตัวเลขน่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบันไม่มาก และจะลากยาวไปราว 1-2 สัปดาห์ หวังว่าสิ้นเดือน เม.ย. 2565 น่าจะขาลง เพราะช่วงหลังสงกรานต์เป็นช่วงอากาศร้อน มักมีการระบาดไม่มาก

  • คาดยอดติดเชื้อจริงสูงกว่าที่โชว์ 2-3 เท่า

ทั้งนี้ นพ.อมร และ นพ.ทวี เห็นตรงกันว่า ในส่วนของตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงขณะนี้ เชื่อว่าเกิน 25,000 ราย มากกว่านี้ราว 2-3 เท่า และหลังสงกรานต์อาจมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่ยอมเข้าไปฉีดวัคซีน โดยมีความเชื่อบางอย่าง ซึ่งจะไม่ฉีดไม่เป็นไร แต่ต้องป้องกันตัวเองด้วย

นพ.ทวี กล่าวถึงคนบางกลุ่มที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า เป็นไปได้ว่ากลุ่มนี้มีอะไรฝังใจ บางกลุ่มจะเชื่อข้อมูลจากบางแหล่ง ส่วนเราในฐานะแพทย์มีข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เช่นกัน โดยเฉพาะแหล่งทางวิทยาศาสตร์ มีการถกเถียงกันอยู่เสมอว่าฉีดดีหรือไม่ฉีดดี แต่บอกตรง ๆ ว่าขณะนี้ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่าหมื่นล้านเข็ม ถ้าฉีดแล้วผิดปกติ หรือกลายเป็นปีศาจ ผ่านมา 2 ปีต้องมีโผล่มาบ้างแล้ว แต่นี่ยังไม่มีโผล่มาให้เห็น 

ขณะที่ในไทยมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 131 ล้านโดส อัตราการฉีดปัจจุบันช้ากว่าเดิม อาจมีผลจากผู้สูงอายุบางกลุ่มที่อยู่ห่างไกล แต่สะดวกในการเดินทางมาฉีดวัคซีน ดังนั้นที่กลุ่มแพทย์ชนบทเสนอไอเดียว่า รัฐควรอัดฉีดเงินรายละ 1,000 บาท โน้มน้าวให้คนมาฉีดวัคซีน ก็เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง แต่สำเร็จหรือไม่ต้องดูอีกที

  • เน้นย้ำวัคซีนป้องกันอาการลองโควิด

ส่วนการฉีดวัคซีนแล้วแต่อัตราการตายยอดยังพุ่งหลักร้อยคนอยู่นั้น นพ.อมร กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าการฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่คนที่ตายบางคนเมื่อตรวจเพิ่งเจอว่าเขาเป็นโควิด-19 แสดงว่าเขาเข้าหาระบบการรักษาช้า ไม่รู้ว่าผิดที่ระบบหรือไม่อย่างไร แสดงให้เห็นว่ามีบางคนไม่ได้เข้าหาระบบการรักษาเลย พอเป็นหนักรู้ตัวอีกทีไม่ทันแล้ว ต้องดูว่าระบบมีปัญหาตรงไหนด้วย ดังนั้นการไม่ฉีดวัคซีนตนไม่ว่า แต่ต้องกักตัวเอง ระวังตัวเองไว้ อย่างไรก็ดี การฉีดวัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

ขณะที่ นพ.ทวี กล่าวเสริมว่า การฉีดวัคซีนยังช่วยป้องกันการอาการลองโควิด-19 ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังหายจากโควิด-19 ด้วย

ส่วนสายพันธุ์โอมิครอนที่ปัจจุบันกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ แล้วนั้น สุดท้ายจะไปจบที่ตรงไหน นพ.ทวี กล่าวว่า เชื้อมีทางไปของมันแน่นอน เพราะกลายพันธุ์เร็วมาก ประเด็นอยู่ที่เราต้องนำบทเรียนจากไข้หวัดใหญ่ ที่มีการกลายพันธุ์ตลอด ทำให้คนต้องฉีดวัคซีนทุกปี แต่เชื้อโควิด-19 มีการกลายพันธุ์เยอะ แต่วัคซีนที่ฉีดมาปีกว่า ยังทำจากเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมอยู่ การฉีดวัคซีน จะทำให้ร่างกายเกิดความจำ แอนตี้บอดี้เพิ่มขึ้น แม้ว่าจากผลการศึกษาหลายแห่งจะได้แค่ 30% แต่สิ่งดีที่สุดคือ เป็นการกระตุ้นร่างกายให้จำไว้ว่า นี่คือเชื้อตระกูลนี้ สายพันธุ์นี้ ทำให้อาการเจ็บป่วยไม่รุนแรง และอัตราเสียชีวิตลดน้อยลง

  • เสนอรัฐ"เปิดจังหวัดนำร่อง"โรคประจำถิ่น

เมื่อถามว่า สถานการณ์ปัจจุบันทำให้การตั้งเป้าโรคประจำถิ่นจากเดิม 1 ก.ค. 2565 ต้องเลื่อนออกไป ห่างไกลจากความจริงหรือไม่ นพ.ทวี กล่าวว่า คนเราต้องมีความหวัง ถามว่าตอนนี้ประเทศเปิดโล่งได้หรือไม่ ให้ดูว่าหลายประเทศนำเราไปก่อนแล้ว เช่น ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา พวกเขาไม่แคร์แล้ว เปิดไปเลย เราก็เรียนรู้จากเขาว่าเป็นอย่างไร ตอนแรกเชื้อทะลุมาเยอะแยะ แต่ตอนนี้ลดลงแล้ว เพราะมีภูมิคุ้มกันหมู่

นพ.ทวี กล่าวถึงมาตรการของรัฐด้วยว่า ตอนนี้ไม่มีความจำเป็นเลย ตนตั้งความหวังด้วยเหตุผล คิดว่าไม่ช้านี้เขาต้องมีการถอดสลักออก หลายประเทศถอดหมดแล้ว เราก็ต้องถอด แล้วประเมินว่าบ้านเรามีคนติดเท่าไหร่ มีนักท่องเที่ยวมาเท่าไหร่ ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแค่ไหน ตนว่าจิ๊บจ๊อย

“ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขมองว่าควรทำจังหวัดนำร่องก่อนดีหรือไม่ สัก 1-2 จังหวัด ทำแล้วได้ผลหรือไม่ เป็นเรื่องที่ดีว่าทุกประเทศต้องหาทางออก ทุกชุมชนต้องหาทางออก บางชุมชนเขามีหลักการที่ดี เราอาจไปนำร่องก่อนสัก 1-2 จังหวัด เพื่อให้ได้ข้อมูลบางอย่างว่า 1 ก.ค. 2565 จะทำอย่างไรต่อกับประเทศเราบ้าง ถ้ามีพื้นที่นำร่องเป็นโมเดล” นพ.ทวี กล่าว

นพ.อมร กล่าวถึงแนวโน้มโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นว่า หลักการสำคัญของโรคประจำถิ่นคือ เชื้อไม่กลายพันธุ์ หรือกลายพันธุ์ไม่เยอะ ฉีดวัคซีนแล้วมีภูมิคุ้มกันตลอดปี หรือตลอดชีวิต เช่น โรคหัด เป็นต้น ดังนั้นสมมติว่าโอมิครอน กลายพันธุ์แพร่กระจายโดยเร็ว เราหวังว่าคงเป็นการกลายพันธุ์ครั้งสุดท้าย ไม่อย่างนั้นถ้ามีอีก ก็ต้องปรับวัคซีนอีก โดยสรุปคือเมื่อไหร่จะเป็นโรคประจำถิ่นได้ คือเชื้อไม่กลายพันธุ์แล้ว

  • คาดพ.ค.สถานการณ์ขาลง-ไม่มีล็อคดาวน์

นพ.อมร กล่าวว่า ถ้าตั้งเป้าโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เพื่อให้เกิดความสบายใจ ต่อไปนี้ไม่มีการล็อคดาวน์แน่นอน เพราะโรคประจำถิ่น คือการใช้ชีวิตเริ่มเหมือนปกติมากขึ้น แต่ยังป้องกันตัวเองอยู่ วัคซีนขอให้ฉีด เพราะยังมีคนป่วยหนัก ตอนนี้อยากให้ยอดผู้ติดเชื้อลงมากกว่านี้ ต้องดูอีกสักระยะ ดังนั้นเป้าหมายที่ตั้งไว้วันที่ 1 ก.ค. 2565 ขอประเมินก่อนในช่วงสิ้นเดือน เม.ย. 2565 ว่าจะได้หรือยัง แต่ถ้าให้เดาเดือน พ.ค. 2565 น่าจะเบาลงแล้ว หลังจากนั้นจะได้หารือกันต่อว่า ทำอย่างไร

“1 ก.ค.ยังไม่ถึงกับหมดหวัง ตั้งเป้าไว้ก่อน เราดำเนินชีวิตได้เกือบปกติ เหลือแค่ป้องกันตัวเองนิดหน่อย เช่น สวมแมสก์ อย่าอยู่ในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เป็นต้น” นพ.อมร กล่าว