“วิโรจน์” ยก “เสื้อแดง” ปี 53 มาก่อนกาลด้านประชาธิปไตย เตือนเรื่องเสพติดคนดี

“วิโรจน์” ยก “เสื้อแดง” ปี 53 มาก่อนกาลด้านประชาธิปไตย เตือนเรื่องเสพติดคนดี

“วิโรจน์” ยก “คนเสื้อแดง” ปี 53 คือผู้มาก่อนกาล ชี้ความรักประชาธิปไตยในวันนั้น การส่งสัญญาณเตือนเสพติดคำว่าคนดี ทำให้ประเทศเป็นอย่างทุกวันนี้ เผยคนรุ่นใหม่นิยามคือความก้าวหน้า ต่อสู้ความอยุติธรรมทุกรูปแบบ แค่บริหารอย่างเดียวแก้ปัญหา กทม.ไม่ได้

เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2565 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล กล่าวตอนหนึ่งในงาน “เปิดฉากศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. 65” จัดโดยนักศึกษาหลักสูตร มหานคร รุ่น 9 ร่วมกับ “เครือเนชั่น” ตอบคำถามถึงนิยามของคนรุ่นใหม่ ว่า การนิยามคนรุ่นใหม่ด้วยอายุ ถือว่าเป็นนิยามแคบมาก สำหรับพรรคก้าวไกล และตน คนรุ่นใหม่คือคนมองปัญหาในเชิงโครงสร้าง ลำพังการบริหารความไม่เป็นธรรมภายใต้สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่สามารถทำให้ กทม.เป็นเมืองที่ยั่งยืนได้เลย การที่ปัญหาทุกคนไม่ได้รับการใส่ใจ หรือแก้ไขอย่างเท่าเทียมกัน ทุกคนมีลมหายใจ มีโอกาสตั้งตัวได้ การที่ทุกคนได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกันหรือไม่ นี่คือคนรุ่นใหม่ ที่มองและเข้าใจปัญหาทางสังคม ถ้าไม่แก้ปัญหาตรงนี้ กทม.กับประเทศจะดีไปกว่านี้ไม่ได้

ถ้าพูดถึงคนรุ่นใหม่ ต้องพูดถึงคนทุกรุ่น ต้องพูดถึงคนเสื้อแดงปี 2553 ที่มาก่อนกาลด้วย สิ่งที่เขาพูดในวันนั้น ความรักในประชาธิปไตยในวันนั้น การส่งสัญญาณเตือนสังคม มอบอำนาจของเราให้กับอำนาจเผด็จการ เสพติดกับคำว่าคนดี ประเทศจึงเป็นอย่างทุกวันนี้” นายวิโรจน์ กล่าว

“วิโรจน์” ยก “เสื้อแดง” ปี 53 มาก่อนกาลด้านประชาธิปไตย เตือนเรื่องเสพติดคนดี

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า คนรุ่นใหม่คือคนทุกรุ่นที่อยากเห็น กทม. และประเทศดีกว่านี้ อยากเห็นความเท่าเทียมกัน การกระจายทรัพยากรที่ยุติธรรม ลำพังถ้าคิดแค่การบริหาร และต้องยกเว้นให้กับกลุ่มอภิสิทธิ์ชน หลับตาข้างเดียวกับความอยุติธรรม ไม่แยแสกับประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย เอารัดเอาเปรียบ และบริหาร กทม. ภายใต้ข้อยกเว้นเหล่านั้น นี่หรือ กทม. แห่งอนาคตใหม่ โอบรัดความหวังคนทุกรุ่น คนรุ่นใหม่คือคนเปลี่ยนแปลง กทม. ที่เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลย กทม. จะไม่กลับมาฟอนเฟะอีก

นายวิโรจน์ ตอบคำถามถึง กทม.ในฝันจะมีหน้าตาอย่างไรแบบเป็นรูปธรรมตอนหนึ่งว่า การบริหารอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหา กทม. ได้ เพราะกฎระเบียบ และกติกาบังคับใช้กับประชาชน ถูกเอารัดเอาเปรียบสูงมาก ไม่อาจเหนี่ยวนำ คนตัวใหญ่ หรือคนมีกำลังมาช่วยแก้ปัญหาเมืองได้ คิดว่าเบื้องต้น กทม. จัดการอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีกติกาเป็นธรรมด้วย ได้แก่

1.เรื่องค่าธรรมเนียม จัดเก็บขยะ ปรับให้สมสัดส่วน และถ้าเกิดนายทุน ห้างสรรพสินค้า ผู้ผลิตขยะจำนวนมาก สามารถจ่าย ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมมากขึ้น แต่ถ้าอยากจ่ายถูกลง สามารถช่วยเมืองคัดแยกขยะได้

2.เรื่องกฎเกณฑ์ภาษีที่ดิน ที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรม

นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า นอกจากกฎระเบียบต่าง ๆ ต้องเป็นธรรม คิดว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องคืนให้คน กทม. คือการจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรม การจัดสรรงบประมาณที่ผ่านมาขาดองค์ความรู้ ไม่มีหลักวิศวกรรม งบแก่คนตัวเล็กตัวน้อย การสูบน้ำ การซ่อมบำรุงท่อระบายน้ำ ถูกตัดตลอด อะไรที่เกิดประโยชน์กับคนในชุมชน คนในซอยกลับถูกตัดงบ ประชาชนไม่ถูกเห็นหัวโดยตลอด งบจัดสรรใหม่ นโยบายอื่น ๆ การเติมสวัสดิการ เอาภาษีที่ดินเก็บได้ มาเพิ่มให้กับผู้สูงอายุ สวัสดิการ กระจายงบประมาณจากงบกลางผู้ว่าฯ กทม. ที่วันนี้เพิ่มขึ้นมา 1.4 หมื่นล้านบาท กระจายลงให้ชุมชน 50 เขต แก้ปัญหาที่เขาได้เลือกเอง การกระจายอำนาจของประชาชน ถ้าทำได้ 4 ปีผ่านไป ต่อให้เปลี่ยนผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่เข้ามาจะไม่กล้าทำให้ กทม. กลับไปประสบปัญหาเดิมอีก