หมื่นชื่อแล้ว “ก้าวหน้า” รณรงค์ “ปลดล็อกท้องถิ่น” ชี้รัฐรวมศูนย์คือโซ่ตรวน

หมื่นชื่อแล้ว “ก้าวหน้า” รณรงค์ “ปลดล็อกท้องถิ่น” ชี้รัฐรวมศูนย์คือโซ่ตรวน

“คณะก้าวหน้า” เดินสายภาคอีสาน รณรงค์แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ “ปลดล็อกท้องถิ่น” ได้แล้วกว่าหมื่นชื่อ “ธนาธร” ชี้รัฐรวมศูนย์คือโซ่ตรวนประเทศ ท้องถิ่นคืออนาคต หากทำได้ ท้องถิ่นจะมีอำนาจเพิ่มขึ้น งบเพิ่มแห่งละ 60 ล้านบาท พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนก้าวกระโดด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2565 คณะก้าวหน้าเปิดเผยความคืบหน้าการรณรงค์เข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 ว่าด้วยการกระจายอำนาจ “ปลดล็อกท้องถิ่น” ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) โดยจัดขึ้นที่ ต.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด, อ.เมือง จ. กาฬสินธุ์ และ อ.เมือง จ.มุกดาหาร ระหว่างวันที่ 7-9 เม.ย. 2565 ซึ่งแกนนำคณะก้าวหน้าได้เปิดเวทีบรรยายต่อผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจ โดยมีการบรรยายจากนายชำนาญ จันทร์เรือง แกนนำคณะก้าวหน้า และนักวิชาการด้านการกระจายอำนาจ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า

นายชำนาญ เป็นผู้บรรยายในหัวข้อ “วิวัฒนาการการต่อสู้เรื่องการกระจายอำนาจ” ระบุว่า 130 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การปฏิรูประบบราชการ คือ 130 ปีแห่งการดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เป็นการปกครองที่นำตัวแบบมาจากอาณานิคมอังกฤษที่ปกครองอินเดียและประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีราชการส่วนกลางส่งคนมาปกครองพื้นที่ต่างๆ ต่อมาได้วิวัฒนาการจนมีหน่วยงานต่างๆ เป็นกลไกการปกครองจากส่วนกลางเกิดขึ้นตามมา มีความพยายามกระจายอำนาจเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ยังเป็นไปภายใต้ข้อจำกัดที่สงวนอำนาจให้ส่วนกลางมากกว่า

นายชำนาญ กล่าวอีกว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ฝ่ายประชาชนมีการรณรงค์ให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงมาตลอดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การรณรงค์จังหวัดปกครองตนเอง มาจนถึงการรณรงค์ปลดล็อกท้องถิ่นในรอบนี้ ในแต่ละรอบแม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีความก้าวหน้าในด้านความเข้าใจของประชาชนมากขึ้นตามลำดับ และปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นความปรารถนาร่วมของประชาชนชาวไทยแล้วอย่างแทบเป็นเอกฉันท์ ที่ต้องการเห็นการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงเกิดขึ้น

หมื่นชื่อแล้ว “ก้าวหน้า” รณรงค์ “ปลดล็อกท้องถิ่น” ชี้รัฐรวมศูนย์คือโซ่ตรวน

ส่วนนายธนาธร ได้เป็นผู้บรรยายถึงหลักการสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 13 ของคณะก้าวหน้า ซึ่งในช่วงแรกได้พูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ว่าคนไทยทุกวันนี้มีเพียง 1% เท่านั้นที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 30,000 บาทต่อเดือน ที่จนที่สุด 1% มีรายได้เฉลี่ย 2,500 บาทต่อเดือน ส่วนคนที่อยู่ตรงกลางมีรายได้เฉลี่ยเพียง 7,500 บาทต่อเดือน เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่คนไทยคนไหนก็ตามที่มีรายได้เพียงมากกว่า 8,000 บาทต่อเดือน เท่ากับรวยกว่าคนครึ่งหนึ่งของประเทศนี้แล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องบุญกรรม แต่เป็นคำถามที่ว่าใครได้เป็นผู้ถือและใช้ทรัพยากรของทุกคนอยู่ นี่จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ปลดล็อกท้องถิ่นโดยคณะก้าวหน้าในครั้งนี้ ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 ซึ่งมีหลักใหญ่ใจความสองเรื่อง 

ประการแรก คือเรื่องของอำนาจ ให้ในท้องถิ่นทุกที่ของประเทศไทย มีอำนาจบริหารเพียงหนึ่งเดียว คืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นเท่านั้น เหมือนทุกประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ไม่มีประเทศไหนมีกลไกผู้ว่าราชการจังหวัดที่ถูกแต่งตั้งมาจากส่วนกลางมาเป็นผู้ปกครอง อำนาจเป็นของคนในพื้นที่ ที่เลือกผู้นำของตนเองมาปกครอง มีอำนาจในการจัดการเป็นของท้องถิ่น

หมื่นชื่อแล้ว “ก้าวหน้า” รณรงค์ “ปลดล็อกท้องถิ่น” ชี้รัฐรวมศูนย์คือโซ่ตรวน

ประการที่สอง เรื่องงบประมาณ ที่ผ่านมาระบบงบประมาณท้องถิ่นเป็นระบบที่ตลกร้าย คือเอางบไปกองที่ส่วนกลางแต่ให้งานท้องถิ่นทำเต็มไปหมด และถ้าอยากได้งบประมาณก็ต้องเขียนขอไป ทำให้เกิดตัวกลางในการผ่านงบประมาณลงมาถึงพื้นที่ กว่าจะลงมาถึงก็แทบจะไม่เหลือ และยังทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ อีกทั้งขั้นตอนอนุมัติอาจกินเวลานานสุดถึงสิบปีกว่างบประมาณจะได้รับอนุมัติลงมา ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นวิ่งเต้นไม่เก่ง นี่คือระบบที่ไม่ทำให้เกิดการพัฒนาหรือการพัฒนาเป็นไปอย่างล่าช้า และงบประมาณอยู่ไกลจากประชาชน ถูกใข้โดยไม่สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของประชาชน

นายธนาธร กล่าวอีกว่า การปลดล็อกท้องถิ่นจะให้อำนาจการใช้งบประมาณแก่ท้องถิ่น สามารถทำได้ทุกอย่างตั้งแต่การบริการสาธารณะไปจนถึงการพัฒนา ยกเว้นเรื่องระดับประเทศ เช่น นโยบายต่างประเทศ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การขนส่งระดับประเทศ ระบบภาษีศุลกากร การทหาร เงินตราและการคลัง ที่เป็นอำนาจส่วนกลางดูแล นอกจากนี้ การแบ่งอำนาจปัจจุบันเป็นระบบที่ให้อำนาจแบบท้องถิ่น “ทำอะไรได้บ้าง” แต่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะก้าวหน้า จะเปลี่ยนสลับกัน คือ “ห้ามทำอะไรบ้าง” นอกนั้นที่ไม่ได้ห้ามคือท้องถิ่นต้องทำได้ทั้งหมด ส่วนกลางจะเข้ามาเมื่อท้องถิ่นร้องขอเท่านั้น

หมื่นชื่อแล้ว “ก้าวหน้า” รณรงค์ “ปลดล็อกท้องถิ่น” ชี้รัฐรวมศูนย์คือโซ่ตรวน

ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ทุกวันนี้งบประมาณที่แบ่งให้ท้องถิ่นมีเพียง 30% ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ไป 70% ทั้งที่ภาษีเกิดขึ้นที่ท้องถิ่น จากงบประมาณประเทศ 3 ล้านล้านบาท หักรายจ่ายประจำไปจะเหลืองบประมาณในการพัฒนา 2.4 ล้านล้านบาท ถ้าใช้การแบ่งอย่างนี้ 30% จะมีเพียง 7.4 แสนล้านบาทเท่านั้น ที่จะถูกแบ่งกันในท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่ง แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น 50-50 แบบที่คณะก้าวหน้าเสนอ ท้องถิ่นจะได้งบประมาณเพิ่มเป็น 1.2 ล้านล้านบาท กระจายไป 7 พันกว่าแห่ง จะทำให้ท้องถิ่นทั่วประเทศได้งบประมาณเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึงที่ละ 60 ล้านบาท เฉพาะในระดับเทศบาลและ อบต. อาจจะแตกต่างกันไปบ้างตามปัจจัยขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร และความยากจน 

“ที่ท่านจนไม่ใช่เพราะบุญทำกรรมแต่ง แต่เป็นเรื่องอำนาจและการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้เรียกร้องอะไรไกลเกินจริงเลย แต่คือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น ไม่มีบ้านเมืองไหนที่เจริญแล้วไม่ทำแบบนี้ เราไม่ต้องการผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมในศตวรรษที่ 21 มาบอกชาวบ้านว่าส่วนกลางต้องการให้พัฒนาอะไรที่นี่” นายธนาธร กล่าว
 
นายธนาธร กล่าวด้วยว่า ประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ สิทธิเสรีภาพ ความเป็นอยู่ปากท้องของประชาชน ล้วนแต่เป็นเรื่องเดียวกัน การปลดล็อกท้องถิ่นจะปลดปล่อยพลังของประเทศ ทำลายโซ่ตรวนที่พันธนาการความก้าวหน้าของประเทศอยู่ โครงสร้างรัฐราชการทำให้คนอีสานยากจน แต่คณะก้าวหน้าเชื่ออย่างสุดหัวจิตหัวใจว่าอนาคตของประเทศอยู่ที่ท้องถิ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอดการเดินสายครั้งนี้ ประกอบกับการลงรายชื่อผ่านระบบออนไลน์ที่ผ่านมา คณะก้าวหน้าสามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อการปลดล็อกท้องถิ่นได้แล้วกว่า 10,000 รายชื่อจากเป้าหมาย 50,000 รายชื่อ หลังเปิดการรณรงค์ได้เพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น