สิ้น “ศ.เสน่ห์ จามริก” อดีตประธาน กสม.สิริอายุรวม 95 ปี

สิ้น “ศ.เสน่ห์ จามริก” อดีตประธาน กสม.สิริอายุรวม 95 ปี

สิ้นศาสตราจารย์ “เสน่ห์ จามริก” อดีตประธาน กสม. อดีต ปธ.สถาบันปรีดี พนมยงค์ เสียชีวิตอย่างสงบ สิริอายุรวม 95 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2565 ศ.เสน่ห์ จามริก อดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เสียชีวิตลงแล้วอย่างสงบ สิริอายุรวม 95 ปี

นายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "ขอแสดงความเสียใจยิ่ง จากการจากไปของ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ท่านแรก"

ขณะที่ นายกฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ทราบข่าวจากญาติ ศ.เสน่ห์ จามริก อดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้จากไปสู่สุคติแล้วเมื่อเช้ามืดวันนี้ ส่วนจะจัดงานที่วัดไหน ทางญาติจะแจ้งให้ทราบภายในวันนี้”

ประวัติ ศ.เสน่ห์ จามริก เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2470 มัธยมปลาย โรงเรียนวัดราชบพิธ พ.ศ. 2491 ธรรมศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองพ.ศ. 2500 ปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร

ประวัติการทำงาน

  • กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
  • กรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ
  • พ.ศ. 2503-2530 อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนเกษียณอายุราชการ
  • พ.ศ. 2516-2517 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516
  • พ.ศ. 2518 ร่วมก่อตั้งสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน (ปัจจุบันคือ สมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน หรือ สสส.) และได้รับเลือกตั้งเป็นประธาน
  • หัวหน้าโครงการรัฐศาสตร์ศึกษา และหัวหน้าสาขาวิชาการต่างประเทศ
  • พ.ศ. 2518 รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • พ.ศ. 2518 ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์
  • ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากนี้ยังมีบทบาททางด้านการวิจัยและสนับสนุนการวิจัยหลายด้าน เช่น

  • หัวหน้าโครงการวิจัย "พัฒนาการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย" ของมูลนิธิฟอร์ด และมูลนิธิเอเชีย
  • ประธานมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
  • ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • นายกสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย
  • กรรมการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

หลังจากเกษียณอายุราชการ ได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนดีเด่น และทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนอีกหลายแห่ง งานที่ทำล้วนเน้นหนักไปทางด้านชนบท ชุมชนท้องถิ่น สิทธิมนุษยชน ตำแหน่งสำคัญคือ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในระหว่างปี 2544- 2552