เปิดโปรไฟล์ "ผู้ว่าฯกทม." ที่ชนะการ "เลือกตั้ง" เป็นใคร เบอร์ใดบ้าง?

เปิดโปรไฟล์ "ผู้ว่าฯกทม." ที่ชนะการ "เลือกตั้ง" เป็นใคร เบอร์ใดบ้าง?

อีกหนึ่งเดือนกว่าๆ ชาวกรุงเทพฯ ทุกคนก็จะได้เลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. กันแล้ว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนย้อนอดีตดู ผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นใคร มาจากไหน ?

ใกล้เข้ามาแล้วกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 โดยในปีนี้มีผู้สมัครมากถึง 31 ราย ทั้งมาจากพรรคการเมืองต่างๆ และมีอีกหลายคนมาในฐานะผู้สมัครอิสระ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนย้อนอดีตไปเปิดลิสต์ดู ผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านๆ มาว่าเป็นใคร มาจากไหน และเป็นผู้สมัครเบอร์ใดบ้าง?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เปิดโปรไฟล์ \"ผู้ว่าฯกทม.\" ที่ชนะการ \"เลือกตั้ง\" เป็นใคร เบอร์ใดบ้าง?

  • ปี 2533 

ผู้ที่ชนะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. คือ “พล.ต.จําลอง ศรีเมือง” 

ซึ่งได้รับเบอร์ผู้สมัครหมายเลข 5 มาจากพรรคพลังธรรม

ผลงานที่โดดเด่น: พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นที่รู้จักในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อดีตนายทหารชาวไทย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี  ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมคนแรก 

โดยผลงานที่โดดเด่นที่สุดคือ การเป็นแกนนำของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535 หรือเรียกกันทั่วไปว่า "มหาจำลอง" และทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเรียกขานกันว่า "ลุงจำลอง"

  • ปี 2535

ผู้ที่ชนะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. คือ “นายกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา” 

ซึ่งได้รับเบอร์ผู้สมัครหมายเลข 9 มาจากพรรคพลังธรรม

ผลงานที่โดดเด่น: นายกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เป็นสถาปนิกชาวไทย นักธุรกิจ ผู้ก่อตั้งบริษัทคาซ่า อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนที่ 4 รวมถึงเป็นอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 11 และศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ปี พ.ศ. 2550

นอกจากนี้ ยังเป็นสถาปนิกผู้บุกเบิกงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เช่น เอ็มบีเคเซ็นเตอร์ อาคารศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

  • ปี 2539 

ผู้ที่ชนะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. คือ “นายพิจิตต รัตตกุล” 

ซึ่งได้รับเบอร์ผู้สมัครหมายเลข 5 เป็นผู้สมัครอิสระ

ผลงานที่โดดเด่น: นายพิจิตต รัตตกุล เคยมีตำแหน่งเป็นอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) อดีตหัวหน้าพรรคถิ่นไทย และเคยดำรงตำแหน่งอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

  • ปี 2543

ผู้ที่ชนะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. คือ “นายสมัคร สุนทรเวช” 

ซึ่งได้รับเบอร์ผู้สมัครหมายเลข 7 มาจากพรรคประชากรไทย

ผลงานที่โดดเด่น: นายสมัคร สุนทรเวช เคยเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 25 และอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 2 สมัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นอกจากนี้ยังมีผลงานการออกหนังสือ เช่น "สมัคร สุนทรเวช พูด", "สันดานหนังสือพิมพ์", "ชิมไปบ่นไป" , "จากสนามไชยถึงสนามหลวง" เป็นต้น ทั้งยังมีผลงานเป็นพิธีกรรายการ "ชิมไป บ่นไป" ซึ่งเป็นที่พูดถึงในกระแสสังคมอย่างมากถึงความไม่เหมาะสม

  • ปี 2547 และปี 2551

ผู้ที่ชนะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. คือ “นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน” 

ซึ่งได้รับเบอร์ผู้สมัครหมายเลข 1 มาจากพรรคประชาธิปัตย์

ผลงานที่โดดเด่น: นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ปัจจุบันเป็นอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 สมัย

ในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. มีโครงการมากมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนกรุงเทพฯ เช่น การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้าบีทีเอส) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือการวางผังพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เป็นต้น

  • ปี 2552 และปี 2556

ผู้ที่ชนะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. คือ “หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร” 

ซึ่งได้รับเบอร์ผู้สมัครหมายเลข 2 มาจากพรรคประชาธิปัตย์

ผลงานที่โดดเด่น: หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นโอรสในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ (พระโอรสในจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) และหม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา (นางสาวดุษฎี ณ ถลาง) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ปัจจุบันพำนักอยู่ที่วังสวนผักกาด วังประจำราชสกุลบริพัตร ณ อยุธยา อีกทั้งยังเป็นประธานกรรมการมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์

ท่านเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2552 - 2559, เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคนำไทย (และเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคนำไทย), เป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี พ.ศ. 2539 และ 2544 และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย)