“ผู้ว่าฯ กทม.” ชิงพื้นที่ทับซ้อน  จับตาเปิดศึก"แบ่งข้าง-เลือกขั้ว"

“ผู้ว่าฯ กทม.” ชิงพื้นที่ทับซ้อน   จับตาเปิดศึก"แบ่งข้าง-เลือกขั้ว"

วันแรกของ การสมัครผู้ว่าฯกทม. ตัวเต็งและบิ๊กเนม พาเหรดสมัครกันครบจำนวน จากนี้คือการลงพื้นที่หาเสียง ขอคะแนนจากคนกรุง ซึ่งศึกนี้ต้องจับตาให้ดี เพราะผู้สมัครแต่ละคน แม้จะลงในนามอิสระ แต่มีพื้นที่นิยมที่ทับซ้อน ที่ต้องแข่งขันและแย่งชิง

          ห่างหายจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มายาวนานถึง 9 ปี นับแต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ เมื่อ 3 มีนาคม 2556

 

          ตัดกลับมายังการเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพฯ พ.ศ.นี้ 2565  มีผู้สมัครเปิดหน้าเปิดตัว ได้หมายเลขกันแล้ว ไม่ต่ำกว่า 15 รายในวันแรก ส่วนใหญ่ลงสมัครอิสระ โดยเฉพาะ “บิ๊กเนม” ทั้ง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง สกลธี ภัททิยกุล รสนา โตสิตระกูล เป็นต้น 

 

          มีผู้สมัครสังกัดพรรคเบื้องต้น 3 ราย สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย

“ผู้ว่าฯ กทม.” ชิงพื้นที่ทับซ้อน   จับตาเปิดศึก\"แบ่งข้าง-เลือกขั้ว\"

          ปฏิเสธไม่ได้ว่า ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แม้จะเป็นการเมืองท้องถิ่น แต่ก็แทบจะเป็นระนาบเดียวกับการเมืองระดับชาติ เพราะที่สุดก็อาจได้เห็นยุทธศาสตร์การเมือง แบ่งข้าง เลือกขั้ว รัฐบาล VS ฝ่ายค้าน เป็นทีเด็ดทีขาด ช่วงทางตรงของโค้งสุดท้าย อย่างที่เคยปรากฎมาแล้ว

 

          ฝ่ายค้านเที่ยวนี้ ที่นิยามตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย มีทั้งส่งผู้สมัครในนามพรรค และสนับสนุนผู้สมัครอิสระ โดยไม่ต้องประกาศ

 

          ผู้สมัครที่ถูกจัดเป็นข้างเดียวกัน ตั้งแต่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ก้าวไกล น.ต.ศิธา ทิวารี ไทยสร้างไทย 

          ส่วนอีกข้างเดียวกัน คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง สกลธี ภัททิยกุล และสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประชาธิปัตย์

 

          สองส่วนนี้ จะเผชิญปัญหาตัดคะแนนกันเอง เพราะฐานเสียงพรรคที่สนับสนุนทับซ้อนกัน และที่ท้าทายคือ แต่ละคนต่างหวังเสียงของคนรุ่นใหม่ รวมถึงกลุ่มที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้มี 4,556,776 ราย ในจำนวนนี้ เป็นนิวโหวตเตอร์ 61,228 ราย

“ผู้ว่าฯ กทม.” ชิงพื้นที่ทับซ้อน   จับตาเปิดศึก\"แบ่งข้าง-เลือกขั้ว\"

          ก่อนถึงวัน รับสมัคร 31 มี.ค.-4 เม.ย. บรรดาว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และผู้สมัคร ส.ก.จัดกิจกรรมเปิดตัวเปิดนโยบาย ให้ความหวังคนเมืองหลวง อย่างคึกคัก ท่ามกลางผลสำรวจจากหลายสำนักโพล

 

          จนถึงนาทีนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ลงอิสระ ก็ยังไม่พ้นข้อสงสัยว่า จะจัดวางความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยอย่างไร เพราะคนส่วนหนึ่งไม่เชื่อว่า จะเป็นอิสระได้จริง

 

          ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2564 ในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ที่มี “พวงเพ็ชร ชุนละเอียด” นั่งเป็นประธานการประชุมทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.50 เขต ซึ่งวันดังกล่าว แกนนำเพื่อไทยวิดีโอคอลถึงชัชชาติ เพื่อให้ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พูดกับว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.

“ผู้ว่าฯ กทม.” ชิงพื้นที่ทับซ้อน   จับตาเปิดศึก\"แบ่งข้าง-เลือกขั้ว\"

          ชัชชาติ อธิบายเหตุผลที่เขาไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย เพราะต้องการขยายฐานเสียงให้พรรค และเก็บเกี่ยวกลุ่มที่ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรค กลุ่มที่มีความคิดกลางๆ ไม่ฝักใฝ่พรรคใดพรรคหนึ่ง หากได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็จะยังทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทย และในนาม “กลุ่มเพื่อนชัชชาติ”        

          ที่ผ่านมา ชัชชาติพยายามเน้นเรื่องนโยบาย เพื่อขยายฐานออกไปสู่กลุ่มต่างๆ และจับมือกับ "ดร.โจ พิจิตต รัตตกุล"  "ปวีณา หงสกุล" เพื่อพิสูจน์แนวทางอิสระแบบชัชชาติ ที่มีเสียงตอบรับจากทุกกลุ่มทุกสี ทำให้ทุกสำนักโพลระบุว่า ชัชชาติมาอันดับ 1

 

          ขณะที่ พรรคไทยสร้างไทย โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ตัดสินใจส่ง “น.ต.ศิธา ทิวารี” อดีต ส.ส.กทม.ลงสมัคร พร้อมทีม ส.ก.ทั้ง 50 เขต

“ผู้ว่าฯ กทม.” ชิงพื้นที่ทับซ้อน   จับตาเปิดศึก\"แบ่งข้าง-เลือกขั้ว\"

          พลันที่มีชื่อ “ผู้พันปุ่น” หรือ น.ต.ศิธา ในสีเสื้อไทยสร้างไทย ย่อมส่งผลสะเทือนถึงชัชชาติ อย่างเลี่ยงไม่ได้ 

 

          ช่วงเลือกตั้งปี 2562 คุณหญิงสุดารัตน์ และชัชชาติ เคยออกหาเสียงร่วมกันในฐานะแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ดังนั้น ฐานเสียงชัชชาติ และผู้พันปุ่นก็เป็นฐานคนที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทย เนื่องจากคุณหญิงสุดารัตน์ ก็เพิ่งลาออกจากเพื่อไทย เมื่อต้นปี 2564

 

          ขณะที่อีกราย ที่นิด้าโพลล่าสุดต้นเดือน มี.ค. ปรากฏชื่อคู่แข่งของชัชชาติ กลายเป็น “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัครฯ พรรคก้าวไกล ที่เพิ่งเปิดตัว 12 นโยบาย สร้างเมืองที่คนเท่ากัน โดยมี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นผู้ช่วยหาเสียง

 

          “วิโรจน์” มีจุดเด่นเป็นนักการเมืองสายบู๊ ตั้งแต่สมัยเป็น ส.ส. และได้โชว์ลีลาดาวสภาฯรุ่นใหม่ จึงมีคำขวัญประจำตัวว่า “ชนทุกปัญหา” และโหวตเตอร์ของเขาคือ “คนรุ่นใหม่”

“ผู้ว่าฯ กทม.” ชิงพื้นที่ทับซ้อน   จับตาเปิดศึก\"แบ่งข้าง-เลือกขั้ว\"

          วิโรจน์บอกว่า เขาเป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯ คนเดียวของพรรคฝ่ายค้าน ที่มีเจตจำนงคืนอำนาจ คืนเมืองที่คนเท่ากัน ผู้ว่าฯ ต้องไม่เป็นกลาง ต้องพร้อมคืนอำนาจ คืนเมืองให้ประชาชน

 

          นี่คือความแตกต่างระหว่าง “วิโรจน์” กับ “ชัชชาติ” ซึ่งก้าวไกล เลือกมาเป็นตัวแทนสะท้อนอุดมการณ์ของพรรคไปพร้อมๆ กับนโยบาย

 

          ขณะที่อีกฝ่าย โฟกัสไปที่ 3 คู่แข่ง ที่เลี่ยงไม่พ้นการตัดคะแนนกันเองเช่นกัน “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” จากประชาธิปัตย์ ที่ใช้ฐานเสียงของพรรค และ ส.ก.พรรคเป็นหลัก ขณะที่อีกส่วน สุชัชวีร์ก็มีต้นทุนของตัวเอง ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ และการนำเสนอนโยบายเปลี่ยนกรุงเทพฯ ที่โดดเด่น 

 

          แม้การเปิดตัวก่อน จะเจอรับน้องก่อน ถูกตรวจสอบเรื่องทรัพย์สิน แต่ก็เอาตัวรอดมาได้ และประชาธิปัตย์ก็วางทีมคนรุ่นใหม่ไว้ช่วยในสนามนี้ โดยตั้ง “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” เป็น ผอ.เลือกตั้ง  

“ผู้ว่าฯ กทม.” ชิงพื้นที่ทับซ้อน   จับตาเปิดศึก\"แบ่งข้าง-เลือกขั้ว\"

          คู่แข่งสำคัญ "พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ที่ลงสนามในนามอิสระ ภายใต้กลุ่มรักษ์กรุงเทพ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.สายอัศวินนั้น มีที่มาหลากหลาย ทั้งหัวคะแนน ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ อดีต ส.ก.ที่เคยทำงานร่วมกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา และกลุ่มเพื่อนธรรมนัส

 

          ดังนั้น ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.กลุ่มรักษ์กรุงเทพ กับว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.พรรคพปชร.จึงเป็นคนกลุ่มเดียวกัน เพียงแต่สวมเสื้อคนละสี มีเป้าหมายเดียวกันคือ หนุน พล.ต.อ.อัศวิน

 

          กว่า 2 ปี พล.ต.อ.อัศวิน เคลื่อนไหวงานมวลชนผ่านเครือข่ายกลุ่มรักษ์กรุงเทพ มีว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. 50 เขตของกลุ่ม นำโดย สุชัย พงษ์เพียรชอบ อดีตที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. คนสนิทของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย 

“ผู้ว่าฯ กทม.” ชิงพื้นที่ทับซ้อน   จับตาเปิดศึก\"แบ่งข้าง-เลือกขั้ว\"

          ทีมอัศวิน จึงประกอบด้วยกลุ่มรักษ์กรุงเทพ เครือข่ายเพื่อนจักรทิพย์ ที่มี พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช เป็นตัวแทน และพลพรรค กปปส.สายถาวร เสนเนียม เมื่อจัดทัพไว้พร้อมสรรพ พล.ต.อ.อัศวิน จึงพร้อมเบียด “สุชัชวีร์” ขั้วเดียวกัน และสู้กระแสนิยมชัชชาติ

        ขณะที่ท่าที พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพลังประชารัฐ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะหนุน พล.ต.อ.อัศวิน หรือ “สกลธี ภัททิยกุล” อดีตรองผู้ว่าฯ ที่ลงอิสระ โดยมีหัวขบวน และแกนนำ กปปส.หลายราย เปิดหน้า ออกแรงหนุน 

 

          จึงต้องรอลุ้นการประชุมใหญ่ พปชร. 3 เม.ย.2565 ที่นครราชสีมา ว่า พล.อ.ประวิตร รวมไปถึง “บิ๊กในทำเนียบรัฐบาล” จะเลือกช่วยใคร ระหว่าง “อัศวิน-สกลธี”

 

          หรือจะทุ่มเฉพาะการลุยสู้ศึก ส.ก.50 เขต ที่เพิ่งมอบหมายให้ อภิชัย เตชะอุบล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประชาธิปัตย์ ที่ลาออกมาสังกัดพลังประชารัฐรับผิดชอบ ซึ่งล่าสุด ผู้สมัคร ส.ก.ของพรรคได้ใช้ชื่อ “พลังกรุงเทพ พลังประชารัฐ” เพื่อเป็นยุทธศาสตร์เลือกตั้งท้องถิ่น ที่เชื่อมโยงกับการเตรียมการเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคในอนาคต

 

          เมื่อคลี่รายชื่อผู้สมัคร ส.ก.ของกลุ่มรักษ์กรุงเทพ และพรรคพลังประชารัฐ จะเห็นได้ว่ามีที่มาจากการเป็นมือทำงานของ ส.ส. และส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มที่เคยทำงานกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา แม้ พล.ต.อ.อัศวิน จะลงในนามอิสระ แต่มองให้ลึกลงไปก็พบว่า กองหนุนส่วนใหญ่มาจากพลังประชารัฐทั้งสิ้น


          ศึกผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ พื้นที่ทับซ้อนของคู่แข่ง จึงเป็นปัจจัยที่ต้องลุ้นว่าจะตัดคะแนนกันเองมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งยังต้องลุ้นว่า จะถูกกระแสรัฐบาล ฝ่ายค้าน ซัดเข้าสู่วังวนการเมืองเลือกข้าง ในโค้งสุดท้ายหรือไม่.