ส.ส.ก้าวไกล ชี้สภาคือ ทางออกแก้ปมห้ามโฆษณา “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

ส.ส.ก้าวไกล ชี้สภาคือ ทางออกแก้ปมห้ามโฆษณา “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

“เท่าพิภพ” ชี้ควรใช้สภาเป็นทางออก แก้ไขปัญหาตาม มาตรา 32 ห้ามโฆษณา “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เผยที่ผ่านมา ยังเห็นความลักลั่นบังคับใช้กฎหมาย เกิดผลกระทบต่อประชาชน ติงค่าปรับสูงจนเป็นอุปสรรค ท้องถิ่นผลิตแล้วพีอาร์ไม่ได้

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ผลักดัน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าฯ กล่าวถึงกรณีข้อถกเถียงกันในสังคมเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ ที่มีการระบุข้อห้ามไว้ใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 ว่า เรื่องนี้เมื่อนำไปสู่การบังคับใช้จริง เรายังเห็นความลักลั่น และผลกระทบต่อประชาชนในหลายเรื่องที่ต้องแก้ไขให้เหมาะสมขึ้น โดยเรื่องหนึ่งที่สร้างความสงสัยมากคือ ค่าปรับที่สูงจนกลายเป็นอุปสรรคของผู้ผลิตสุรารายย่อยหรือผู้ผลิตหน้าใหม่ที่ต้องการนำวัตถุดิบมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือมองว่าเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นหรือผู้ที่ชื่นชอบอยากพัฒนาวงการนี้ แต่เมื่อทำแล้วกลับไม่สามารถประชาสัมพันธ์ หรือกระทั่งให้ข้อมูลสุราหรือเบียร์ที่ทำขึ้นได้ เพราะการโดนปรับแต่ละครั้งคือ ต้นทุนราคาแพง ต่างจากรายใหญ่ที่การปรับเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงบโฆษณาเท่านั้น

นายเท่าพิภพ กล่าวว่า ตัวค่าปรับเอง ยังสะท้อนแง่มุมของกฎหมายที่มีปัญหา  เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่บอกว่าทำงานได้ดี เข้มงวด บางหน่วยเก็บค่าปรับได้เป็นล้านต่อเดือน แต่พอมีการถามถึงรางวัลนำจับจากค่าปรับไปอยู่ตรงไหน ใครได้บ้าง สามารถแสดงรายละเอียดที่มาที่ไปได้หรือไม่ ก็ไม่ใครสามารถให้ความชัดเจนได้ ทั้งที่คนจ่ายคือ จ่ายจริง เจ็บจริง โดยเฉพาะรายเล็กที่โดนค่าปรับ 50,000 - 500,000 บาท ถือว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ ขณะที่ค่าปรับคดีเมาแล้วขับ ซึ่งผลกระทบอาจถึงแก่ชีวิตได้ กลับปรับแค่ 20,000 บาทเท่านั้น แต่หากคิดอีกด้านหนึ่ง หากปฏิเสธ โดยบอกว่าเก็บปรับได้นิดเดียว เน้นตักเตือน คำถามก็จะย้อนกลับมาว่า กฎหมายนี้ได้ผลสัมฤทธิ์จริงหรือไม่ หรือสามารถคุยได้ ดีลได้ สังเกตว่าอะไรที่เป็นเรื่องดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ มักจะนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจสีเทา หรือเอื้อต่อกลุ่มทุนผูกขาดเสมอ

"ผู้ที่มีบทบาทผลักดันกฎหมายนี้มักพูดดูเหมือนดีว่าไม่อยากให้รายใหญ่เอาเปรียบรายเล็ก จึงควรไม่อนุญาตให้ใครได้โฆษณาเลยเพื่อความเสมอภาค แต่ถ้าลืมตาดูความจริงจะเห็นชัดว่าไม่เป็นเช่นนั้น มีแต่รายเล็กค่อยๆตายไป รายใหญ่มีพลังในการผูกขาดตลาดโดยสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรายเล็กจะไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้เลย" นายเท่าพิภพ กล่าว

นายเท่าพิภพ กล่าวอีกว่า หากผู้ที่เคยผลักดันกฎหมายนี้เป็นห่วงเรื่องรายใหญ่จะเอาเปรียบรายเล็กจริง ในฐานะที่ตนเป็นผู้แทนราษฎรที่เกาะติดประเด็นนี้โดยตรงเเละเฝ้าดูการถกเถียงเรื่องนี้ ตนไม่คัดค้านเจตนารมณ์ที่ดี ในการลดปัจจัยคุกคามสุขภาพของประชาชนจากการดื่มสุรา และมองเห็นว่าการมีกลไกกำกับดูแลยังเป็นเรื่องที่จำเป็น และตนเข้าใจความต้องการของทั้งสองฝ่าย ทั้งที่ต้องการให้ผ่อนคลายหรือยกเลิกมาตรานี้ และฝ่ายที่ต้องการให้กฎหมายเข้มงวดขึ้นอีก ซึ่งมีการยื่นแก้ไขร่างกฎหมายสู่สภาทั้งสองฝ่าย 

"ฝ่ายเเรกอยากจะปลดล็อกให้โฆษณาหรือโพสต์ลงโซเชี่ยลได้เพราะเป็นเรื่องของเสรีภาพส่วนบุคคล เเละเป็นการช่วยรายย่อยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ลืมตาอ้าปากได้ ส่วนฝ่ายที่อยากให้เข้มขึ้น มองว่ารายใหญ่ใช้ช่องว่างในการไปทำน้ำดื่ม น้ำโซดา แล้วใช้โลโก้เสมือนเป็นการโฆษณาทางอ้อม อันจะเป็นการทำให้เยาวชนคุ้นชินเเล้วเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ทางที่จะเเก้กฎหมายให้สมประโยชน์ทั้งสองฝั่งได้ ผมคิดว่าต้องนำภาพรวมมาดูกันทั้งหมด เพราะจะเห็นว่าเรายังมีมาตรการมากมายที่สามารถลดการเข้าถึงโฆษณาเเอลกอฮอล์ได้ เช่น การจำกัดทุนโฆษณาที่เท่ากันทุกเจ้า การจำกัดอายุการเข้าถึงของสื่อโฆษณา เช่น เว็บไซต์กำหนดอายุ หรือโฆษณาในสถานที่ 20 ปีขึ้นไป อย่างในร้านเหล้าก็คงดูตลกไม่น้อย เพราะเราขายเหล้าได้เเต่กลับโฆษณาเหล้าในร้านเหล้าไม่ได้ เช่นนี้ก็จะทำให้การขึ้นป้ายบิลบอร์ดทำไม่ได้เช่นกัน วิธีเหล่านี้คือ Partial Ban ที่หลายประเทศก็ทำกัน อย่างไรก็ตาม สุดท้ายผมเชื่อว่าสภาจะเป็นเวทีกลางที่จะเอาความเห็นของทุกฝ่ายมาพูดคุยหาทางออกร่วมกันได้  ซึ่งพรรคก้าวไกลเราก็พร้อมเป็นสติเเละเเสงของทางออกในเรื่องนี้" นายเท่าพิภพ กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์