รัฐบาล ชี้ช่องโอกาสส่งออกสินค้าหมวดขนม จีน - ญี่ปุ่น มาแรง

รัฐบาล ชี้ช่องโอกาสส่งออกสินค้าหมวดขนม จีน - ญี่ปุ่น มาแรง

รัฐบาล ชี้ช่องโอกาสส่งออกสินค้าหมวดขนม จีน - ญี่ปุ่น มาแรง กระทรวงพาณิชย์ พร้อมสนับสนุนข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายการตลาดนำการผลิตของรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ ในประเทศที่เป็นตลาดส่งออก เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนการผลิตและส่งออกให้กับผู้ประกอบการของไทย

ซึ่งกลุ่มสินค้าขนม เป็นหนึ่งในสินค้าหมวดอาหารที่มีโอกาสเติบโตอย่างมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะในจีน และญี่ปุ่น ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่คนหาสิ่งเพลิดเพลินทำในบ้านแทนการออกไปใช้เวลาในที่สาธารณะ ถือเป็นปัจจัยเสริมการส่งออกในภาพรวมอีกด้วย

นางสาวรัชดา กล่าวว่า การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยผลิตสินค้าให้ตรงกับพฤติกรรมการบริโภค เอาผู้ซื้อเป็นตัวตั้ง เป็นนโยบายหลักของกระทรวงพาณิชย์ และที่ผ่านมา ตัวเลขการส่งออกสินค้าอาหารที่โตขึ้นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ข้อมูลที่น่าสนใจจากการศึกษา อาทิ กลุ่มนักศึกษาจีน กลุ่มเพศหญิงจะนิยม ขนมแป้งเส้นรสเผ็ด ขนมหรืออาหารกระป๋อง และคุกกี้หรือเค้ก กลุ่มเพศชายจะนิยมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถั่ว และผลไม้อบแห้ง เครื่องดื่ม กลุ่มนักศึกษาที่เกิดหลังปี 2000 ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชายนิยมดื่มน้ำผลไม้ และชานม

ขณะที่ชาวญี่ปุ่น มีความต้องการสินค้าใหม่ๆ รองรับสังคมผู้สูงอายุ เช่น ขนมที่มีการพัฒนาเป็น Functional food ที่มีคุณสมบัติการให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น เยลลี่เหลวแบบสำหรับดื่มที่ให้พลังงานและเส้นใย หรือขนมที่มีนวัตกรรม เช่น ลูกอมดับกลิ่นปากที่ลดความแรงของมินท์ เพื่อให้เหมาะกับเวลาใส่หน้ากากอนามัย และขนมเคี้ยวหนึบ ที่มีการใช้นวัตกรรมในการผลิต เพื่อสร้างความแปลกใหม่

รวมถึงให้ความสำคัญกับการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตเปลี่ยนจากการใช้พลาสติกมาเป็นกระดาษมากขึ้น และลดปริมาณบรรจุภัณฑ์มากเกินจำเป็นลงมา เช่น ใช้พลาสติกที่บางลง หรือยกเลิกการใช้ถาดพลาสติก เป็นต้น

สินค้าขนมของไทยมีโอกาสเติบโตในหลายประเทศ ซึ่งในการผลิตต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย โดยเป็นปัจจัยที่ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก นอกจากนั้น จะต้องพิจารณาใช้บรรจุภัณฑ์และขนาดบรรจุที่เหมาะสมกับแนวโน้มของตลาด รวมทั้งควรติดตามศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมในช่วงนั้นๆ สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169” นางสาวรัชดา กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์