“วิโรจน์” ชง 3 ไอเดียถึง “ผู้ว่าฯ กทม.” รับมือโควิดฯระบาดใหม่ ไม่ควรปิดเมือง

“วิโรจน์” ชง 3 ไอเดียถึง “ผู้ว่าฯ กทม.” รับมือโควิดฯระบาดใหม่ ไม่ควรปิดเมือง

“วิโรจน์” โชว์วิชั่นรับมือสถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดหนัก ชง 3 ไอเดียถึง “ผู้ว่าฯ กทม.” ใช้งบกลางสำรองยา เร่งปรับปรุงระบบส่งต่อ ย้ำ กทม.ไม่ควรถูกสั่งปิดอีก

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคก้าวไกล แสดงความคิดเห็นถึงสถานการณ์ที่โควิด-19 กลับมาระบาดรุนแรงขึ้น โดยเรียกร้องให้ กทม. ใช้งบกลางสำรองยา Remdesivir ให้เพียงพอ และเร่งหารือกระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงระบบส่งต่อผู้ป่วย-เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้มากกว่า 60%

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ข้อมูลงานวิจัยพบว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 นั้นติดได้ง่ายกว่าเดิม แต่ความรุนแรงยังไม่มีรายงานว่ามีภาวะปอดอักเสบที่รุนแรงกว่าโอมิครอนอื่น แต่คงจะวางใจเลยไม่ได้ ยาเดิมที่ใช้อยู่ พอเจอกับโอมิครอน BA.2 ก็ลดการตอบสนองลง แต่โชคดีที่ Remdesivir ที่เป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ อย. รับรอง และใช้กันแพร่หลาย มีแนวเวชปฏิบัติจากกรมการแพทย์อยู่แล้ว ยังคงใช้ได้ผล สถานการณ์ปัจจุบันที่มีคนติดโควิดวันละ 20,000 คน มีคนกรุงเทพติดวันละประมาณ 3,000 คน สถานการณ์ในการเผชิญหน้ากับโอมิครอน นั้นแตกต่างกับเดลต้าโดยสิ้นเชิง ในสมัยเดลต้าเราเผชิญหน้ากับอาการป่วยที่รุนแรง และอัตราการเสียชีวิตที่สูง แต่โอมิครอนเราเผชิญหน้ากับการระบาดที่รวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ไม่ได้เตียง และระบบสาธารณสุขล้มเหลว

"เกมในวันนี้ ไม่ใช่การปิดเมืองอีกต่อไป แต่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเตรียมการรับมือทางด้านสาธารณสุข เพื่อให้คนกรุงเทพ สามารถใช้ชีวิต อย่างปลอดภัยควบคู่กับการควบคุมโรคระบาดไปด้วย" นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ควรทำวันนี้ คือ

1) จัดซื้อยา Remdesivir สำรองเอาไว้ใน รพ. ในสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ป่วยโควิดในพื้นที่ กทม. ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ตั้งครรภ์ จะมียาที่มีประสิทธิภาพในการรักษา โดยที่ไม่ต้องรอให้ปอดอักเสบก่อน (Ref: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=5548850881798920&id=100000221887444)

2) แม้ว่าปัจจุบัน รัฐบาลจะยังคงสิทธิ UCEP-COVID ที่ผู้ป่วยโควิดสามารถรักษาได้ทุกโรงพยาบาลอยู่ แต่การหาเตียงและการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลที่มีสังกัดที่แตกต่างกันยังคงเป็นอุปสรรคและเริ่มมีปัญหาเตียงเต็ม ที่น่ากังวลมากๆ คือ ผู้ป่วยสีเหลืองสีแดง และผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเร่งหารือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อซักซ้อมมาตรฐานการทำงานในการส่งตัวผู้ป่วย ระหว่างโรงพยาบาลให้มีความชัดเจน เพื่อลดการรอคอย ของผู้ป่วยในกลุ่มสีเหลืองและสีแดงให้สั้นที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีผู้ป่วยที่ต้องรอคอยความตาย เหมือนกับการระบาดคราวที่ผ่านมา

3) หากพิจารณาอัตราการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่า 60% แล้วปัจจุบันการจองคิวฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 มีช่องทางที่กระจัดกระจายมากประชาชนแต่ละคนจะต้องดิ้นรนเพื่อจองคิววัคซีนกันเอง เช่น ต้องคอยดูโพสต์จาก Facebook ของโรงพยาบาลต่างๆ การถามไถ่เพื่อนๆ การ Walk In ไปที่จุดๆ เดียว ฯลฯ ช่องทางหมอพร้อม หรือ ไทยร่วมใจ ที่เคยมี ไม่สามารถจองฉีดเข็ม 3 ได้เลย

“วิโรจน์” ชง 3 ไอเดียถึง “ผู้ว่าฯ กทม.” รับมือโควิดฯระบาดใหม่ ไม่ควรปิดเมือง

“เพื่อปกป้องชีวิต ของคนกรุงเทพให้ดีที่สุด ผู้ว่าฯ ควรซักซ้อม และประชาสัมพันธ์การจองลงทะเบียนฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้มีความชัดเจน และระดมรณรงค์เพื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับคนกรุงเทพให้ครอบคลุมกว่านี้ ผมคิดว่า ผู้ว่าฯ ต้องพร้อมปกป้องชีวิตของคนกรุงเทพ และต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ปากท้องของคนกรุงเทพเดินหน้าควบคู่ไปกับการควบคุมโรคระบาดที่มีประสิทธิภาพให้ได้ กรุงเทพฯ ต้องไม่ถูกปิดอีกแล้ว " นายวิโรจน์ กล่าว