"วิโรจน์" โชว์วิสัยทัศน์แก้ระบบระบายน้ำ กทม. ชี้ต้องแก้โครงสร้างพื้นฐาน

"วิโรจน์" ควงว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. "พรรคก้าวไกล" ลงพื้นที่คลองเสือน้อย-คลองลาดพร้าว ดูปัญหาระบบจัดการระบายน้ำ กทม. โชว์วิสัยทัศน์ ต้องแก้ที่โครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่ใช้แต่เทคโนโลยี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2565 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคก้าวไกล พร้อมนายธนเดช เพ็งสุข ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขตลาดพร้าว-วังทองหลาง นายณภัค เพ็งสุข ว่าที่ผู้สมัครส.ก. เขตลาดพร้าว และ น.ส.นฤทัช สีบุญเรือง ว่าที่ผู้สมัครส.ก. เขตวังทองหลาง เดินทางไปยังคลองเสือน้อย ถนนสุคนธสวัสดิ์ ก่อนที่จะไปลงเรือบริเวณคลองลาดพร้าว เพื่อสำรวจปัญหาระบบจัดการระบายน้ำ

โดยพบว่า ประตูระบายน้ำเปิด-ปิด ไม่สมดุลและสัมพันธ์กัน ทำให้บางจุดเกิดเป็นพื้นที่แก้มลิงที่ไม่สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังส่งผลให้เกิดปัญหาขยะที่สะสมตามมา สะท้อนความล้มเหลวในการจัดการระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร ที่ใช้งบประมาณไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่เกิดประโยชน์

นายวิโรจน์ กล่าวว่า งบประมาณของสำนักการระบายน้ำในหนึ่งปีกว่า 580 ล้านบาท แต่หากหักรายรายจ่ายประจำอย่างเช่นเงินเดือน จะเหลืองบบำรุงรักษาราว 117 ล้านบาท ในการขุดลอกคูคลองหรือท่อระบายน้ำ เพราะฉะนั้นจำนวนงบประมาณที่เหลือเท่านี้ จึงไม่เพียงพอต่อการบำรุงรักษาระบบระบายน้ำให้ใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นประตูระบายน้ำต้องมีการจัดการอย่างมีระบบ ไม่ใช่เปิดปิดประตูระบายน้ำตามใจชอบอย่างที่ผ่านมา เราต้องจัดการระบบเปิดปิดประตูระบายน้ำอย่างสมดุล หากมีระบบที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาน้ำล้นตามชุมชนริมคลองก็จะแก้ไขได้

"เราต้องมีระบบเซ็นเซอร์ดูว่าน้ำในแต่ละจุดมีปริมาณเท่าไร ปลายทางคือระดับน้ำทะเลสูงเท่าไร หากน้ำทะเลหนุนสูงก็จะไม่สามารถระบายน้ำได้ แต่เราจะสามารถคำนวณได้ว่า คลองที่ถูกกั้นโดยประตูระบายน้ำในแต่ละจุดสามารถกักเก็บน้ำได้เท่าไร" นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ ยังตั้งคำถามต่อว่าอุโมงค์ยักษ์ ที่ใช้งบประมาณมหาศาลกว่า 8,000 ล้านบาท ว่า จะช่วยเรื่องระบบการจัดการน้ำได้จริงหรือ ตราบใดที่ท่อซึ่งเป็นเส้นย่อยตามคลองต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ไม่ได้รับการบำรุงรักษา ก็จะไม่สามารถดึงน้ำเข้าไปที่อุโมงค์ระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"เราจะเจอระบบประตูระบายน้ำพังไม่ได้ซ่อม คลองบางแห่งตื้นเขิน ท่อระบายน้ำบางแห่งแตกหัก บางครั้งในเวลาที่ฝนตกหนักจะเห็นว่าน้ำล้นออกมาจากท่อ นั่นไม่ได้เป็นเพราะว่าน้ำท่วม แต่เกิดจากท่อระบายน้ำใต้ดินแตกหักไม่ได้รับการบำรุงรักษา เพราะงบประมาณในส่วนนี้ไม่เพียงพอ ท่อในซอย สำนักงานเขตดูแล ท่อใต้ถนนหลัก สำนักการระบายน้ำดูแล คำถามคือการทำงานของทั้ง 2 หน่วยงานมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ เรารู้ว่าฝนจะตกเมื่อไร ปริมาณน้ำฝนเราก็สามารถประเมินได้ ซึ่งก่อนที่เราจะนำระบบเซ็นเซอร์มาใช้ ระบบพื้นฐานเราต้องมีความพร้อมก่อน" นายวิโรจน์ กล่าว

\"วิโรจน์\" โชว์วิสัยทัศน์แก้ระบบระบายน้ำ กทม. ชี้ต้องแก้โครงสร้างพื้นฐาน

ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคก้าวไกล ยังแสดงวิสัยทัศน์ในการใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาการจัดการน้ำว่า เราต้องแก้ปัญหาที่ไม่ใช่การตั้งต้นด้วยเทคโนโลยี แต่เราต้องเริ่มต้นในการแก้ปัญหาด้วยปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน นี่คือความใส่ใจที่เราอยากให้เกิดขึ้น หากโครงสร้างพื้นฐานแข็งแรงเราค่อยใส่เทคโนโลยี ให้การใส่ใจของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น เราต้องคิดว่าหากไม่มีเทคโนโลยีคนก็สามารถทำได้ แต่เราใช้เทคโนโลยีก็เพื่อให้ลดการใช้คนลง เพื่อใช้ทรัพยากรมนุษย์ในส่วนที่มีคุณค่ามากกว่า นี่คือวิธีคิดในการใส่เทคโนโลยีของเรา

"เหนือสิ่งอื่นใดหากติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการจัดการน้ำ แต่ระบบพื้นฐานอย่างประตูระบายน้ำทรุดโทรมใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ก็ไม่สามารถแก้ระบบน้ำได้อยู่ดี หากเครื่องสูบน้ำพัง เราจะติดตั้งระบบออโต้สตาร์ทไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา" นายวิโรจน์ กล่าว

\"วิโรจน์\" โชว์วิสัยทัศน์แก้ระบบระบายน้ำ กทม. ชี้ต้องแก้โครงสร้างพื้นฐาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนี้นายวิโรจน์เดินทางต่อไปยังตลาดวงศกร เขตสายไหม และตลาดยิ่งเจริญ เขตบางเขน พร้อม นายณัฐกานต์ ศิริ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตสายไหม และนายธีรวุฒิ เทพจุฬาลักษณ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตบางเขน เพื่อแนะนำตัวและพบปะกับประชาชน นอกจากนี้ ประชาชนในตลาดยังสะท้อนปัญหาให้ฟังว่า ระบบรถขนส่งสาธารณะในย่านนี้ไม่ครอบคลุม ทำให้การเดินทางลำบาก อยากให้ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ช่วยผลักดันในประเด็นนี้ด้วย