วงเสวนาบีบ ครม.ถอนวาระต่อสัมปทาน รฟฟ.สีเขียว ภท.ขู่โหวตสวน-พท.ลุยฟ้องศาล

วงเสวนาบีบ ครม.ถอนวาระต่อสัมปทาน รฟฟ.สีเขียว ภท.ขู่โหวตสวน-พท.ลุยฟ้องศาล

“สภาองค์กรผู้บริโภค” จัดเสวนาปมต่อสัญญารถไฟฟ้าสีเขียว บีบ ครม.ถอดวาระออก “ภูมิใจไทย” ขู่โหวตสวน “เพื่อไทย” เดินหน้าฟ้องศาล-ยื่น ป.ป.ช. เหตุพิรุธอื้อ โอนหนี้ 3 หมื่นล้านไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศูนย์สิทธิผู้บริโภค กทม. ยื่น 4 พรรค ค้านต่อสัมปทาน สร้างภาระให้ประชาชนอีก 30 ปี

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวทีเสวนาออนไลน์ “เปิดปมสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ประชาชนได้หรือเสีย ?” โดยมีนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์  นักวิชาการ  จากภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์และการสื่อสาร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นาย สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย และนายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมเสวนา 

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยยืนยันไม่วอล์คเอ้าท์แน่นอน และกระทรวงคมนาคมได้เตรียมข้อมูลทางกฎหมาย ที่จะไปโต้แย้งใน ครม. โดยทำความเห็นคัดค้านไปแล้ว หากมีความเห็นโต้แย้งใน ครม.คงจะนำไปสู่การลงมติ แต่พรรคภูมิใจไทยคงโหวตสวนในคณะรัฐมนตรี เพราะยังไม่ได้คำตอบข้อมูลเพิ่มเติมจากมหาดไทยที่ต่างจาก 7-8 ครั้งที่เขาตอบมา และถ้ากระทรวงมหาดไทยยังตอบเหมือนเดิมแนวทางของพรรคคือไม่เห็นด้วยกับสัมปทานนี้ โดยกระทรวงคมนาคมมีข้อมูลที่จะให้ ครม. ประกอบการตัดสินว่าจะเดินหน้าสัญญาสัมปทานต่อหรือไม่ ทั้งในประเด็นกรรมสิทธิ์ ประเด็นการก่อหนี้ของ กทม. ว่าสามารถไปก่อหนี้ผูกพันได้หรือไม่ ในเมื่อกรรมสิทธิ์ยังเป็นของ รฟม.อยู่

วงเสวนาบีบ ครม.ถอนวาระต่อสัมปทาน รฟฟ.สีเขียว ภท.ขู่โหวตสวน-พท.ลุยฟ้องศาล

นายสิริพงศ์ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนการรับโอนหนี้ การก่อหนี้มันผิดมาตั้งแต่ต้น เพราะ กทม. ยังไม่ได้ดำเนินการเรื่องหนี้และโอนสิทธิ์กับ รฟม. ตามมติ ครม. แต่กลับไปให้บริษัท กรุงเทพธนาคมฯ จ้างบีทีเอส มาวางระบบและเดินรถ แถมยังเอาภาระหนี้ไปผูกรวมให้กับเอกชน เพื่อไปรับสัมปทาน โดยขัดต่อระเบียบกฎหมายของ รฟม.

“หนี้โครงสร้างก้อนนี้ 60,000 ล้านบาท เป็นของใคร ครม.ต้องทำความเข้าใจก่อนและ กทม.ได้ทำครบถ้วนตามกฏหมายหรือไม่ กทม. ได้ทำตามกฎหมายตามระเบียบพัสดุหรือไม่ ผ่านสภา กทม. หรือยัง  ถ้าไปดูกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องการโอนกรรมสิทธ์ กทม.ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. เพราะกรรมสิทธิ์ยังเป็นของ รฟม.อยู่ เพราะฉะนั้นโอกาสแรกที่กระทรวงคมนาคมจะเห็นด้วยแทบจะเป็นไปไม่ได้ “ นายสิริพงศ์ กล่าว

ขณะที่ นายชนินทร์ กล่าวว่า สนับสนุนพรรคภูมิใจไทยที่ค้านการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว  พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐมองระบบขนส่งมวลชนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ประชาชนทุกกลุ่มจะสามารถใช้บริการได้ และรัฐต้องไม่หากำไรจากโครงสร้างพื้นฐาน

วงเสวนาบีบ ครม.ถอนวาระต่อสัมปทาน รฟฟ.สีเขียว ภท.ขู่โหวตสวน-พท.ลุยฟ้องศาล

“รถไฟฟ้าเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำ มันผิดหลักการในการพัฒนาเมือง รถไฟฟ้าเป้นบริการสาธารณะ สะดวกและราคาถูก  ระบบการเชื่อมต่อมันต้องมา ในเชิงของราคาพรรคเพื่อไทยเรายืนยันราคาคาโดยสารที่ 20 บาททำได้  โดยวิธีการประมูลสัมปทานเราจะเปลี่ยนไป เราจะเลิกคิดว่าเอกชนจะจ่ายเงินให้รัฐเท่าไหร่ รัฐสามารถที่จะหารายได้จากส่วนอื่น ๆ มาชดเชยรายได้ที่หายไปได้ ในต่างประเทศแยกสัญญาออกจากกัน เช่นค่าโฆษณา พื้นที่เช่า เราอาจได้คนที่จะมาประมูลค่าเช่า ในราคาที่สูงขึ้น” นายชนินทร์ กล่าว

นายชนินทร์ กล่าวด้วยว่า เหมือนมีการสร้างสถานการณ์บางอย่างมีการร่วมกระทำการ เพื่อเอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน ทั้งเรื่องหนี้ เรื่องการยกเลิกตั๋วเดือน  และเรื่องนี้หาก ครม.เห็นชอบ จะยื่นศาลพิจารณาและยื่นเรื่องถึง ป.ป.ช. แน่นอน  และต้องหาคนรับผิด ดังนั้น ครม. ต้องคิดให้ดีก่อนที่จะเห็นด้วยกับข้อเสนอของมหาดไทยและ กทม.

ด้านนายประภัสร์ กล่าวว่า  เรียกร้องโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีกระบวนการที่ซ่อนเร้น หลายเรื่อง เช่น การว่างจ้างบีทีเอสเดินรถ เส้นทางต่อขยาย ตากสิน-วงเวียนใหญ่ และวงเวียนใหญ่ –บางหว้า รวมถึง เส้นอ่อนนุช-แบริ่ง ที่ กทม. ลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด ทำไมถึงไปขยายเวลาการเดินรถให้ บีทีเอส เพิ่มจนถึงปี 2585 ยังไม่มีใครเห็นรายละเอียดของสัญญานี้

นายประภัสร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เมื่อ คสช. เข้ามาก็มีกรยกส่วนต่อขยายที่ 2 ให้ กทม. ดูแลอีก โดยอ้างว่าเพื่อความสะดวก และยังใช้มาตรา 44 แทนที่จะใช้ พรบ. ร่วมทุนระห่างรัฐและเอกชน อย่างไรก็ดีตนเห็นด้วย ในประเด็นยกเลิก ม. 44 เห็นด้วยกับกระทรวงคมนาคมที่ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาใหม่ ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพราะเห็นว่า โครงการนี้มันมีอะไรที่ซุกไว้เยอะ เพราะที่ผ่านมากระบวนการพิจารณาไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ ทุกอย่างปิดลับหมด เหมือนมีการปักธงไว้ก่อน

วงเสวนาบีบ ครม.ถอนวาระต่อสัมปทาน รฟฟ.สีเขียว ภท.ขู่โหวตสวน-พท.ลุยฟ้องศาล

ส่วนนายชาลี กล่าวว่า จากข้อมูลที่เห็น กทม.ได้รับส่วนแบ่ง ผลประโยชน์ อย่างน้อย 2 แสนล้าน ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี  และค่าโดยสารที่จะคิดใช้สูตร 15 บวก ส่วนคือทุก ๆ สถานีจะขึ้น 3 บาท และเสียค่าแรกเข้า 15 บาท สูงสุดไม่เกิน 65 บาทตลอดสายสีเขียว นอกจากนี้มีความพยายามในการนำหนี้ที่มีอยู่ หนี้จากการโอนกรรมสิทธิ์มาบวกกับหนี้จากการขาดทุน และการลงทุนระบบอาณัติสัญญาณ เข้ามาเพื่อล้างหนี้ โดยการใช้สัญญาสัมปทาน จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าหาก ครม.พิจารณาต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว จะนำมาซึ่งปัญหามากมาย

นายชาลี กล่าวอีกว่า ควรถอนเรื่องการต่อสัมปทานออกไปออกจากการพิจารณาเพราะยังมีเวลาพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะหาก ผลักดันให้ต่อสัมปทานต่อไป โดยอ้างอำนาจของคณะรัฐมนตรีไม่สนใจฟังเสียงคัดค้านทำให้ประชาชนต้องรับภาระไปอีก 30ปี นอกจากนี้ไม่ควรนำเรื่องหนี้สิน 3 หมื่นล้านมาเป็นตัวประกันในการต่อสัญญา เพราะมีทางออกหลายทาง เช่นที่คมนาคมเสนอ การแก้สัญญา รัฐหางบประมาณสนับสนุนและการตั้งกองทุนฯ มีทางออกอย่างมากมาย เพียงแต่เราต้องดำเนินการทางกฏหมายให้ถูกต้องก่อน

วงเสวนาบีบ ครม.ถอนวาระต่อสัมปทาน รฟฟ.สีเขียว ภท.ขู่โหวตสวน-พท.ลุยฟ้องศาล

  • เครือข่ายศูนย์สิทธิผู้บริโภคฯ ยื่น 4 พรรคค้านต่อสัมปทาน

วันเดียวกันเครือข่ายศูนย์สิทธิผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ 4 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล พรรคกล้าและพรรคเพื่อไทย เพื่อขอให้สนับสนุนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ในการคัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

โดยเวลา 10.00 น. เครือข่ายฯนำโดย นายวิทยา แจ่มกระจ่าง ประธานสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค และนายกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินทางไปที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นหนังสือต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

เวลา 11.00 น. ทีมเครือข่ายฯ นำโดย คุณฐิตินัดดา รักกู้ชัย ประธานศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตบางกอกน้อย (โซนธนบุรีเหนือ) พร้อมเครือข่ายผู้บริโภคโซนรัตนโกสินทร์ เดินทางไปยังรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือถึง คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยมี คุณชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค คุณสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรค ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม และคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ของพรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนรับหนังสือ

ในเวลาเดียวกัน มีทีมเครือข่ายฯ นำโดยคุณสำลี ศรีระพุก ประธานศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตยานนาวา เดินทางไปยังที่ทำการพรรคกล้า เพื่อยื่นหนังสือถึงคุณกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โดยมีคุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้าเป็นผู้รับหนังสือ

เวลา 13.00 น. เครือข่ายฯ นำโดย คุณตินัดดา รักกู้ชัย ประธานศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตบางกอกน้อย (โซนธนบุรีเหนือ) เดินทางไปยังอาคารเรือนแก้ว เพื่อยื่นหนังสือต่อ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.00 น. เครือข่ายฯ จะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมกันยื่นหนังสือคัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต่อคณะรัฐมนตรีด้วย