กทม. ขยายเตียงเพิ่มพร้อมรับผู้ป่วยโควิด -19 ดูแลกลุ่มสีเขียว

กทม. ขยายเตียงเพิ่มพร้อมรับผู้ป่วยโควิด -19 ดูแลกลุ่มสีเขียว

กทม. ขยายเตียงเพิ่มพร้อมรับผู้ป่วยโควิด -19 ดูแลผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวเข้าระบบการรักษาแบบ HI/CI

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 65 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4/2565 โดยมีผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และระบบทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 

ในที่ประชุม สำนักการแพทย์และสำนักอนามัยได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 วันนี้ กทม. มีผู้ป่วยใหม่ 2,753 ราย เสียชีวิต 3 ราย สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแบบกักตัวที่บ้าน (HI) ในวันนี้ มีจำนวน 3,272 ราย สะสม 52,775 ราย อยู่ระหว่างการรักษา จำนวน 21,790 ราย จำหน่ายสะสม 30,985 ราย ในส่วนของศักยภาพเตียงใน กทม. ที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากโรงพยาบาลทั้งหมด 226 แห่ง มีเตียงรองรับทั้งหมด 44,345 เตียง แบ่งตามกลุ่มได้แก่ โรงพยาบาลหลัก 48 แห่ง 4,673 เตียง โรงพยาบาลสนาม 17 แห่ง 2,941 เตียง และ Hospitel 161 แห่ง 36,731 เตียง (ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 17 ก.พ. 65 เวลา 20.00 น.) 

ในส่วนของอัตราการครองเตียง ที่อยู่ในความดูแลของสำนักการแพทย์ กทม. มีจำนวนเตียงทั้งหมด 3,460 เตียง ครองเตียง 2,976 เตียง (86.01%) เตียงว่าง 484 เตียง (13.99%) โดยศูนย์พักคอย (Community Isolation) มีจำนวน 31 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 3,981 เตียง โดยมีอัตราการครองเตียง 1,716 ราย (43.10%) คงเหลือ 2,065 เตียง แบ่งออกเป็น ศูนย์พักคอยที่เปิดบริการและมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา จำนวน 19 แห่ง 2,858 เตียง ศูนย์พักคอยที่เปิดบริการแต่ยังไม่มีผู้ป่วย จำนวน 7 แห่ง 648 เตียง และศูนย์พักคอยที่พร้อมเปิดดำเนินการ (standby mode) จำนวน 5 แห่ง 475 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.พ. 65 เวลา 08.00 น.)

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมพร้อมศักยภาพการขยายเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 หากมีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการน้อย เป็นผู้ป่วยระดับสีเขียว ขอให้เข้าระบบการดูแลที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI First) จะทำให้เตียงในโรงพยาบาลมีเพียงพอสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องใช้เตียงในโรงพยาบาล และสำรองเตียงให้กับผู้ป่วยระดับสีเหลืองและแดง รวมทั้งผู้ป่วยทั่วไปและโรคอื่น ๆ ด้วย โดยมติที่ประชุมได้มอบหมายสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และสำนักงานประชาสัมพันธ์ ชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างมั่นใจให้กับประชาชนว่า หากติดเชื้อโควิด-19 และเข้าระบบการรักษาแบบ HI/CI ก็จะได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่ดี โดยมีการติดตามประเมินอาการจากแพทย์ทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ

ภาพรวมการให้บริการวัคซีน (19 ก.พ. 65) มีผู้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 4,754 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 2,210 โดส เข็มที่ 3 จำนวน 28,506 โดส และเข็มที่ 4 จำนวน 8,772 โดส สำหรับจำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสม ในพื้นที่กทม. หน่วยฉีดทุกสังกัด ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 64 – 19 ก.พ. 65 เข็มที่ 1 สะสม 9,494,551 คน คิดเป็นร้อยละ 119.74 เข็มที่ 2 สะสม 8,790,116 คน คิดเป็นร้อยละ 110.86 เข็มที่ 3 สะสม 4,474,672 คน คิดเป็นร้อยละ 56.43 และเข็มที่ 4 สะสม 538,846คน คิดเป็นร้อยละ 6.80 จากจำนวนเป้าหมาย 7,929,189 คน ทั้งนี้ ในกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 นั้น พบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีน จำนวน 546,019 คน คิดเป็นร้อยละ 48.74 บุคคลที่มีโรคประจำตัว จำนวน 434,066 คน คิดเป็นร้อยละ 48.68 และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ จำนวน 1,818 คน คิดเป็นร้อยละ 16.43 ซึ่งถือว่ายังเป็นจำนวนน้อย

กรุงเทพมหานคร ขอเชิญชวนประชาชนกลุ่ม 608 รวมทั้งผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 เข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเร็ว โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับวัคซีนได้ที่แอปพลิเคชัน QueQ เลือก "ศูนย์ฉีดวัคซีน กทม.” เลือกสถานที่เข้ารับบริการใกล้บ้าน ซึ่งมีให้เลือกถึง 105 แห่ง และยังสามารถลงทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม.ทั้ง 69 แห่ง และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต