ชำแหละ4ปม “ภูมิใจไทย” ถอนตัวร่วมรัฐบาล

ชำแหละ4ปม “ภูมิใจไทย” ถอนตัวร่วมรัฐบาล

มีกระแสข่าว “ผู้มีบารมีนอกพรรคภูมิใจไทย” เปิดดีลร่วมรัฐบาลกับ “คนแดนไกล” แม้จะเคยหักหลังกันด้วยการขน “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ออกจากพรรคพลังประชาชน เพื่อเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อผลประโยชน์ลงตัว สามารถกลับมาร่วมงานกันได้

ประวัติศาสตร์หน้าการเมืองต้องจารึก ปรากฎการณ์ที่ “7 รัฐมนตรี” ของพรรคภูมิใจไทย พร้อมใจกันส่งจดหมายขอลาการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา เหตุผลหลักสืบเนื่องมาจาก “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เสนอวาระเพื่อพิจารณาขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร (กทม.)

โดยจะขยายสัญญาสัมปทานให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัทในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกไปอีก 30 ปี ซึ่งเสนอเข้าสู่การพิจารณาในครม.มาแล้ว 7 ครั้ง แต่กระทรวงคมนาคม ภายใต้การนำของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ขัดค้านถึง 6 ครั้ง

เมื่อ พล.อ.อนุพงษ์ นำเสนอวาระดังกล่าวในการประชุมครม. และมีท่าทีจะผ่านวาระดังกล่าวให้ได้ ทำให้ “ผู้มีบารมีนอกพรรคภท.” วางเกมให้ “7 รัฐมนตรี” ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ปฏิบัติการอาระขัดขืน

อย่างไรก็ตาม “ครม.” ที่ไร้เงา “7 รัฐมนตรี” ของพรรคภูมิใจไทย จำใจ-จำเป็น ต้องยอมถอยฉาก โดยสั่งการให้กระทรวงคมนาคมหารือกับกทม.มาใหม่ เพื่อเสนอวาระดังกล่าวมาให้ครม.พิจารณาโดยเร็วที่สุด

เมื่อดูปฏิกิริยาของ “พล.อ.ประยุทธ์” แล้วไม่มีทีท่าจะยอมลดราวาศอก และวางเป้าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว จึงอาจจะเป็นปัจจัยเร่งทำให้สถานการณ์กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล
 

“กรุงเทพธุรกิจ” วิเคราะห์ 4 ปัจจัยที่ทำให้ “7 รัฐมนตรี-พรรคภูมิใจไทย” กล้าเดินเกมแรงบอยคอตการประชุมครม. เพื่อต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ท่ามกลางกระแสข่าวพร้อมถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล หาก “พล.อ.ประยุทธ์-ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล” ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้อง

 

นโยบาย“กัญชา”มีผลบังคับใช้แล้ว

ปัจจัยแรก ช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ชูนโยบาย “ปลูกกัญชาเสรี” โดยการแก้ไขพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ยกโมเดลของมลรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งทำให้กัญชากลายเป็นพืชเศรษฐกิจ

โดยประกาศจะทำให้ทุกครอบครัวสามารถปลูกกัญชา โดยไม่ติดข้อจำกัดเรื่องค่าใบอนุญาตการปลูก และทำให้คนไทยสามารถปลูกกัญชาได้ครัวเรือนละ 6 ต้น

ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปี “อนุทิน-ภูมิใจไทย” พยายามผลักดันนโยบายกัญชาเสรีให้ออกมาเป็นรูปธรรม จนล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา “อนุทิน” ยื่นร่างกฎหมายกัญชา เข้าสู่สภาเพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม ให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาให้ทันกับการบังคับใช้

โดยให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ปลดล็อกกัญชาพ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน

ตามไทม์ไลน์ “อนุทิน-ภูมิใจไทย” มั่นใจว่าจะสามารถปลดล็อกกัญชาได้ก่อนกลางปีนี้ แม้การปลูกกัญชาจะต้องได้รับการอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน แต่การผลักดันนโยบายกัญชาจนเห็นผลเป็นรูปธรรม ถือว่าพรรคภูมิใจไทยไม่ผิดสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน
 

“ภูมิใจไทย”พร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากเกิดการ “ยุบสภา” พรรคการเมืองที่มีความพร้อมลงสนามเลือกตั้งมากที่สุดคือ “พรรคภูมิใจไทย” เนื่องจาก “อนุทิน-ผู้มีบารมีนอกพรรคภท.” วางตัว ว่าที่ผู้สมัครเกรดเอ-ว่าที่ผู้สมัครเกรดบี เอาไว้เกือบทุกพื้นที่แล้ว โดยเฉพาะในภาคอีสาน-ภาคใต้ ที่พรรคภูมิใจไทยหมายมั่นจะใช้เป็นฐานกำลังหลัก

สไตล์ของ “อนุทิน-ผู้มีบารมีนอกพรรคภท.” กำชับให้ ส.ส. ไม่ให้ทิ้งพื้นที่ พร้อมทั้งจัดวางระบบท่อน้ำเลี้ยงอย่างดี เพื่อไม่ให้ขาดตกบกพร่อง รวมไปถึง “อดีตผู้สมัคร” ที่พรรคประเมินแล้วมีโอกาสกลับมาคว้าชัยในพื้นที่ ก็จะมีการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนเพื่อนำไปใช้ต่อยอดเก็บแต้มการเมือง

โดย “อนุทิน-ผู้มีบารมีนอกพรรคภท.” วางเป้าหมายเอาไว้ว่าพรรคภูมิใจไทยจะต้องได้ไม่น้อยกว่าเดิม โดยได้รับเลือกตั้ง 51 คน และมี ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ย้ายมาสังกัดพรรคเพิ่มเติมอีก 11 คน รวม 62 คน ก่อนจะโดนตัดสิทธิ์เหลือ 59 คน เพื่อทำให้แรงต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีมีศักยภาพไม่ต่างจากเดิม

ดังนั้นพรรคภูมิใจไทยจึงกล้าเสี่ยงเดินเกมแรง เพื่อบีบ “พล.อ.ประยุทธ์-พรรคร่วมรัฐบาล” ไม่ให้ไฟเขียวขยายสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพราะหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง จนทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องยุบสภา พรรคภูมิใจไทยมีความพร้อมมากที่สุดพรรคหนึ่ง

 

“ผู้มีบารมีนอกพรรคภท.”เปิดดีลลับ“ทักษิณ”

ในระยะหลังมีกระแสข่าว “ผู้มีบารมีนอกพรรคภท.” ของพรรคภูมิใจไทย เปิดดีลร่วมรัฐบาลกับ “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แม้จะเคยหักหลัง “ทักษิณ” ด้วยการขน “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ออกจากพรรคพลังประชาชน เพื่อเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพรรคประชาธิปัตย์

แต่เมื่อเวลาผ่านล่วงเลยมาความแค้นในใจของ “ทักษิณ” แม้จะมีอยู่เต็มอก แต่เพื่อผลประโยชน์ของตระกูลชินวัตร หากเปิดดีลการเมืองกับคู่แค้นย่อมสามารถหักห้ามใจได้

อย่าลืมว่าในช่วงจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ทักษิณ-เพื่อไทย ยอมเสียสละเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้กับ “อนุทิน” หากพรรคภูมิใจไทยยอมจับมือกับ “ขั้วประชาธิปไตย” เพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่ “อนุทิน-ผู้มีบารมีนอกพรรคภท.” ไม่ยอมคล้อยตาม หันเข้าร่วมรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์”

อย่างไรก็ตามยังมีบางกระแสข่าวประเมินว่า “ผู้มีบารมีนอกพรรคภท.” ยังไม่เปิดดีลกับ “ทักษิณ” เพราะต้องการรอให้สถานการณ์ทางการเมืองสุกงอมมากกว่านี้ ก่อนจะประเมินทางรอด-ทางเลือกของพรรคภูมิใจไทย

ฉะนั้นต้องจับตาทุกย่างก้าวของ “อนุทิน-ผู้มีบารมีนอกพรรคภท.” จะเดินไปในทิศทางใด เนื่องจาก 62 เสียงของพรรคภูมิใจไทย สามารถชี้เป็น-ชี้ตาย “รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์” ได้

 

ปมแบ่งเค้กรถไฟฟ้า

ต้องยอมรับว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แม้จะเป็นคนละโครงการแต่มีมูลค่ามหาศาล ทำให้พรรคการเมือง ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 2 พรรคไม่ลงรอยกัน เนื่องจากต่างพรรคต่างมีแนวทางที่ยากจะตกลงกันได้