กทม.ยังรอ ครม.ต่อสัมปทานรถไฟฟ้า “สายสีเขียว”

กทม.ยังรอ ครม.ต่อสัมปทานรถไฟฟ้า “สายสีเขียว”

กทม.ยังรอเวลา ครม.ต่อสัมปทานรถไฟฟ้า "สายสีเขียว” เผยแนวทางเก็บค่าโดยสาร-พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ หารายได้แก้หนี้ 3.7 หมื่นล้าน

ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 8 ก.พ. ได้เลื่อนวาระการพิจารณากรณีกระทรวงมหาดไทย เสนอขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดย ครม.ได้เลื่อนการพิจารณาวาระขอต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานคร(กทม.) กับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ระยะเวลา 30 ปี (ปี 2572-2602) ออกไปก่อน พร้อมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม หารือกันให้ได้ข้อสรุปในประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่าย ยังมีความเห็นแย้งกัน แล้วให้นำเข้า ครม.อีกครั้งนั้น

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับแนวทาง กทม.ก่อนหน้านี้ ได้เสนอทางออกสำหรับหนี้สินรวมดอกเบี้ยจำนวน 3.7 หมื่นล้านบาทจากค่าจ้างบีทีเอสเดินรถตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน และค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ซึ่งได้เสนอกับรัฐบาล มีดังนี้ 1.โอนคืนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปบริหารตามเดิม 2.ภาครัฐให้งบประมาณ กว่า 30,000 ล้านบาท ให้ กทม.เพื่อชำระหนี้ให้บีทีเอส 3.ต่ออายุสัญญาสัมปทานสายสีเขียวให้กับบีทีเอส 30 ปี จนถึงปี 2602 

รายงานข่าวระบุว่า ส่วนกรณีที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง กรณี กทม.ค้างค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ เป็นจำนวนมูลหนี้มากกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท โดย กทม.เป็นจำเลยที่ 1 และกรุงเทพธนาคน(เคท) วิสาหกิจ กทม.เป็นจำเลยที่ 2 เพื่อร่วมกันชดใช้หนี้นั้น  ซึ่งในกรณีนี้ในที่ประชุมสภา กทม.สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 ครั้งที่ 2 ประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2564 ได้มีข้อเสนอจากนายชยาวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา ส.ก. ให้เร่งแก้ปัญหาโดยการประกาศจัดเก็บอัตราค่าโดยสารชั่วคราว ระหว่างที่รอให้การต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวผ่านการพิจารณาของ ครม. เพื่อป้องกันไม่ให้เพิ่มภาระหนี้ และรักษาผลประโยชน์หน่วยงานของรัฐไม่เกิดความเสียหาย

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับจากข้อเสนอของสภา กทม.ในการจัดเก็บค่าโดยสารนั้น ที่ผ่านมาสำนักจราจรและขนส่ง กทม. เคยเสนอ แนวทางจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จำนวน 16 สถานี และช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ จำนวน 9 สถานี มี 3 แนวทาง ให้กับพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.พิจารณา ประกอบด้วย 1.ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย โดยแนวทางนี้ถือว่าจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราที่ต่ำ จะช่วยลดภาระหนี้สินบางส่วน แต่ยังคงมีหนี้ค้างชำระประมาณ 3,000 ล้านบาท 2.เก็บค่าโดยสารแบบขั้นบันไดอัตรา 15-30 บาท โดยสถานีที่ 1-5 เก็บ 15 บาท สถานีที่ 5-10 เก็บ 20 บาท ตั้งแต่สถานีที่ 11 เป็นต้นไปเก็บ 25 บาท สูงสุดไม่เกิน 30 บาท 3.เริ่มต้น 15 บาท และปรับเพิ่ม 3 บาทต่อสถานี สูงสุดไม่เกิน 30 บาท แต่ทั้ง 3 แนวทางที่เสนอไปยังผู้ว่าฯ กทม.ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปออกมา เนื่องจาก กทม.ต้องรอการพิจารณาวาระขอต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ขณะเดียวกันในระหว่างที่รอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ได้ประสานไปยังบริษัทกรุงเทพธนาคมฯ ให้พิจารณาศึกษาแนวทางการหารายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีในส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง- สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต) และให้ศึกษาโครงสร้างค่าโดยสารที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันจึงอยู่ระหว่างที่บริษัทกรุงเทพธนาคมฯ ศึกษาแนวทางซึ่งขณะนี้ กทม.ยังเลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามประกาศ กทม.ลงวันที่ 15 ม.ค.2564