"ชวน" รับ สภาฯ เสียภาพพจน์ หลังประชุมล่มซ้ำซาก

"ชวน" รับ สภาฯ เสียภาพพจน์ หลังประชุมล่มซ้ำซาก

"ชวน" รับสภาล่ม ทำภาพพจน์เสียหาย บอกมาตรการลงโทษ ส.ส.ขาดประชุม ใช้ไม่ได้ เหตุส.ส.ลงชื่อร่วมประชุม แต่กลับไม่แสดงตน เตือนให้ระวัง

         นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการมุมการเมืองทางช่องไทยพีบีเอส โดยยอมรับว่า เหตุการณ์การประชุมสภาฯ ล่ม ที่เกิดขึ้นถึง 16 ครั้ง กระทบต่อภาพพจน์ของสภาฯ ทำให้เสียหาย ทั้งนี้เหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ฝ่ายค้านยอมรับว่าจะไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม เพราะต้องการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ทำให้กลายเป็นข้อถกเถียงว่าใครคือผู้รับผิดชอบองค์ประชุม

 

         "ตามหลักแล้วคือ ต้องร่วมรับผิดชอบทั้งสองฝ่าย แต่ระบบรัฐสภาคนที่จะเป็นรัฐบาลได้ต้องมีเสียงข้างมาก ดังนั้นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากก็ต้องดูแลองค์ประชุมของตัวเองด้วย ทั้งนี้เมื่อมีการลงมติเหมือนแก้แค้นกัน เช่น รายงานผลการพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทย ที่ไม่ผ่าน ทำให้เจ้าของเรื่องก็โกรธ ดังนั้นเรื่องต่อมาคือ รายงานปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเล เลยไม่รับ ซึ่งก็ต้องลงมติ และตรวจสอบองค์ประชุม" นายชวน กล่าว

          นายชวน กล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องที่ต้องระวัง กับสิ่งที่สมาชิกไม่กดบัตรแสดงตนเป็นองค์ประชุม แม้ช่วงนั้นองค์ประชุมจะครบ แม้จะทำได้ แต่ปัจจุบันนำมาใช้บ่อยต่างจากเมื่อก่อน ส่วนมาตรการแก้ปัญหาสภาล่มนั้น ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีบทกำหนดโทษผู้ที่ขาดประชุม แต่ปัจจุบันพบการลงชื่อร่วมประชุม แต่ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม จึงถือว่าไม่มาร่วมประชุมไม่ได้

 

         เมื่อถามถึงการทำหน้าที่ประธานควบคุมการประชุมสภาฯ ที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตถึงความลำเอียงในการทำหน้าที่ นายชวน ยืนยันว่า ไม่ลำเอียง แต่ยอมรับว่าอาจทำให้ใครไม่ถูกใจ เนื่องจากต้องยึดความเป็นกลาง และยึดความถูกต้อง

 

 

        "สมาชิกเกือบทุกคนยอมรับว่าผมทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางมากที่สุด ให้โอกาสทุกคนมากที่สุด และเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่พูดกลางสภาฯ ไปตามอารมณ์ ว่าผมลำเอียง ต่อมาได้มาขอโทษแล้ว" นายชวน กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์