เกมล่มสภาฯ เดดล็อครัฐบาล สัญญาณวาระสุดท้าย ?

เกมล่มสภาฯ เดดล็อครัฐบาล สัญญาณวาระสุดท้าย ?

การที่ "สภาล่ม" บ่อยครั้ง ทำให้ประชาชนมองเห็นข้อเสียของสภาในภาพรวม ไม่ใช่จุดบกพร่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะหน้าที่นิติบัญญัติ เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ทั้งหมดในสภา แต่การ "จงใจ" ทำให้ล่ม อาจเป็นสัญญาณบอก ถึง วาระสุดท้าย

          สภาฯล่มซ้ำซาก!! 

          ถือเป็นวิกฤติของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะหากสภาฯไม่สามารถออกกฎหมายสำคัญได้จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของ “รัฐบาล” ทันที

          สถานการณ์การเมืองเริ่มเดินเข้าสู่เดดล็อคเพราะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ภายใต้การนำของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ไม่เดินไปในทิศทางเดียวกัน

          รวมถึงจุดยืนของ “พรรคเศรษฐกิจไทย” ที่ 20 ส.ส.พลังประชารัฐ  (ย้ายเข้าพรรคแล้ว 18 ส.ส.) ยังไม่ฟันธงว่าจะอยู่ร่วมขั้วรัฐบาลหรือไม่ และแม้ฉากหน้าจะบอกว่าสนับสนุนรัฐบาล แต่ฉากหลังพร้อมแตกหักได้ทุกเวลา

          “กรุงเทพธุรกิจ” ต่อสายสัมภาษณ์ “นักวิชาการ” ที่ติดตามเกมการเมืองอย่างใกล้ชิด เพื่อสะท้อนปรากฎการณ์ “สภาฯล่ม” จะส่งผลกระทบต่อ “รัฐบาล” มากน้อยเพียงใด 

 

          ผศ.ดร. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รัฐศาสตร์จุฬาฯ กล่าวว่า วิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ซึ่งมีหน้าที่ให้การดำเนินงานของสภาให้ครบองค์ประกอบ แต่ข้อถกเถียงในประเด็นต่างๆ ในสภา เป็นเรื่องส่วนรวมไม่ใช่เรื่องของพรรคใดพรรคหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายรัฐบาล ถ้าหากเป็นผู้เสนอกฎหมายต่างๆต้องจัดการให้เรียบร้อย ประสานงาน ส.ส.ให้เข้าร่วมประชุม เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติผ่านสภา และหากไม่ผ่าน ก็ต้องรับผิดชอบ นี่คือหลักการง่ายๆ

เกมล่มสภาฯ เดดล็อครัฐบาล สัญญาณวาระสุดท้าย ?

          “แต่ปัญหาที่เผชิญอยู่ก็คือ สภาล่มอยู่บ่อยครั้ง เป็นความรับผิดชอบของฝ่ายรัฐบาลด้วยหลักๆ เพราะเป็นเสียงข้างมาก ในขณะที่พรรคฝ่ายค้าน ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีส่วนรับผิดชอบ ซึ่งมองว่าเป็นความรับผิดรับชอบของทั้งสองฝ่าย เว้นแต่ว่า มีประเด็นที่มากกว่านั้น มีการแสดงความไม่เห็นด้วยกับปรากฏการณ์หรือตัวพระราชบัญญัติ จึงไม่เข้าร่วมประชุม เพียงแต่ว่า ต้องแถลงให้ชัดเจน”

          หากบอกเหตุผลข้างๆ คูๆ ก็เหมือนการแก้ตัว ไปเรื่อยเปื่อย ก็ต้องหาคำตอบให้ได้ ว่าการไม่เข้าประชุมเพราะเหตุใด เพื่อต้องการประท้วงการทำงานของรัฐบาล หรือข้อตัดสินใจในประเด็นอื่นๆของรัฐบาล จะต้องชัดเจน เพราะไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายต้องรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรง

          ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ ว่าเป็นการสร้างแรงกดดัน ให้พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภาหรือลาออก เพราะว่าฝั่งรัฐบาลเองก็มีปัญหาภายในเช่นกัน “อ. บัณฑิต” มองว่า เป็นไปได้

          แต่เรื่องนี้ก็คงจะต้องไปพูดคุยกันทั้งในส่วนของฝ่ายค้าน และ ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องรู้สถานะตัวเองว่าอยู่ในสภาวะที่ง่อนแง่นเต็มที ซึ่งปฏิเสธความรับผิดรับชอบกันไม่ได้ แต่ถ้ามองในแง่ที่ว่าฝ่ายค้านจะสั่งสอนฝ่ายรัฐบาล ให้รู้จักหน้าที่และความใส่ใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มีเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้กระบวนการทางรัฐสภา มันเดินต่อไปหรือว่าหยุด ในฐานะที่เป็นตัวแทนในฐานะที่เป็นเจตจำนงของประชาชน 

เกมล่มสภาฯ เดดล็อครัฐบาล สัญญาณวาระสุดท้าย ?

          "ผมมองว่าทุกอย่างมันเป็นเหรียญสองด้าน เพราะการไม่เข้าประชุมก็ เป็นวิธีหนึ่งที่จะกดดันรัฐบาล เพียงแต่ต้องแถลงให้ชัดว่าจะกดดันในเรื่องใด ต้องมีเหตุผล เพราะ ส.ส.ทุกคนมีหน้าที่ต้องเข้าประชุม และเป็น ส.ส.ฟูล ไทม์ ไม่ใช่ ส.ส.พาร์ทไทม์ และที่สำคัญก็ต้องดูด้วย ว่าที่ผ่านมา นายกฯ และ ครม. ไม่ค่อยใส่ใจเข้าประชุมชี้แจง ผมคิดว่าก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเหมือนกัน ซึ่งหากฝ่ายรัฐบาลทำเช่นนี้ในมุมมองของฝ่ายค้าน ก็คิดว่าจะเข้าประชุมทำไม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดประชาชนก็มองและติดตามอยู่ว่า แต่ละฝ่ายได้ทำหน้าที่ของตัวเองได้เต็มที่แล้วหรือยัง"

          “อ. บัณฑิต” ยังกล่าวอีกว่า ในมุมหนึ่งเป็นการบอยคอต โดยการไม่เข้าร่วมประชุม ซึ่งก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง หากฝ่ายรัฐบาล ยังดึงดันที่จะเสนอกฎหมายฝ่ายเดียว มันเข้าข่ายเผด็จการ เสียงข้างมากหรือไม่ มันเป็นวิธีหนึ่งทำให้รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาเรื่องต่างๆ แต่ต้องมีคำอธิบายไม่ใช่อยู่ก็หายไป ต่างฝ่ายต่างลงพื้นที่หาเสียงก็เป็นเหตุหนึ่งก็จะต้องถูกวิจารณ์ว่าไม่ทำงาน แต่ถ้ามีเหตุจริงๆว่า พรรคฝ่ายค้านเข้าประชุมร่วมรัฐบาลไม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลทำตัวเช่นนี้ นายกฯไม่เข้าชี้แจง ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติ บอยคอต ไม่ร่วมประชุม นี่คือการแสดงเสียงที่เป็นเอกภาพ

 

          “แต่ในสภาวะปัจจุบัน ก็ยังไม่เห็นความเป็นเอกภาพเท่าไหร่เพราะ 2 พรรคฝ่ายค้านใหญ่ ก็คือเพื่อไทยกับก้าวไกล ยังเห็นไม่ตรงกัน มันก็เป็นหน้าที่ของวิปฝ่ายค้านที่ต้องไปพูดคุยกัน  ก็ถึงที่สุดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการหรือฝ่ายรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน การบอยคอตโดยการไม่เข้าร่วมประชุม หากทำแล้ว ยังไม่มีปฏิกิริยา ก็ต้องหาวิธีอื่น” 

เกมล่มสภาฯ เดดล็อครัฐบาล สัญญาณวาระสุดท้าย ?

          ดังนั้นต้องมองว่า การไม่เข้าร่วมประชุม ไม่แสดงตัว คือวิธีการหนึ่งของฝ่ายค้านในการที่จะทำให้เสียงตัวเองถูกรับฟังในเสียงข้างมาก แต่คำว่า วิธีการ ต้องให้ชัดเจนว่าต้องการบรรลุอะไร เพราะการเข้าประชุมคือหน้าที่พื้นฐานของ ส.ส. ทุกคนรวมถึง ส.ว. บางคน 1 ปีเข้าสภา 3-4 ครั้ง แต่ได้เงินเดือนเต็ม แบบนี้ก็ไม่ถูก  และในสภาก็มีคนประเภทนี้อยู่ด้วย คงต้องไปคิดกันทั้งระบบ 

 

          "ส.ส.รับเงินเดือนเต็ม มีหน้าที่ต้องเข้าประชุม แต่ไม่เข้า เป็นเรื่องต้องให้ความเป็นธรรมในหลายฝ่าย ผมมองว่า ประชาชนคงมองออกเองว่า สิ่งที่ทำสัมฤทธิ์ผลเพียงใด แต่ตามที่กล่าวมาข้างต้น การไม่เข้าประชุมคือวิธีการหนึ่ง"

เกมล่มสภาฯ เดดล็อครัฐบาล สัญญาณวาระสุดท้าย ?

          "ในขณะวิปรัฐบาลเองต้องประสาน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลให้มาร่วมประชุม ไม่ใช่มาโทษฝ่ายค้าน ก็ไม่ใช่เพราะ ฝ่ายรัฐบาลคือเสียงข้างมาก แต่ฝ่ายค้านที่แตกกัน เห็นไม่ตรงกันในเรื่องต่างๆ เป็นหน้าที่วิปฝ่ายค้านที่ต้องไปคุยกัน การไม่ร่วมประชุมใช่วิธีการที่ประชาชนอยากให้ทำหรือไม่ ยิ่งถ้าต้องการล้มรัฐบาล ก็ต้องคุยกันให้ดี เพื่อหาแนวทางที่ชัดเจน แต่วิธีนี้ ไม่ใช่วิธีเดียวที่จะล้มรัฐบาล ซึ่งยังมีหลายวิธี และการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็กำลังเกิดขึ้น ก็จะเป็นอีกวิธีการหนึ่งของสภาทวงดุลตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล"

 

          “อ. บัณฑิต” ยืนยันว่า การที่ ส.ส.ไม่เข้าร่วมประชุม เป็นวิธีพื้นๆ อย่างหนึ่ง เพียงแต่ส.ส.มีหน้าที่ต้องเข้าประชุม แต่ก็ต้องอธิบายให้ได้ว่าทำไมไม่เข้าร่วม ฝ่ายรัฐบาลเองยิ่งต้องมีพันธะหนัก เพราะเป็นเสียงข้างมาก แต่ขาดองค์ประชุม หรือแม้แต่ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเอง ก็ใช้วิธีการนี้แหละในการนับองค์ประชุม เพื่อให้ปิดประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอยู่ ถือเป็นแทคติกหนึ่ง แต่ต้องเป็นแทคติกที่ยอมรับได้ ยังคงอยู่ในกติกา แต่ถ้าทำบ่อย โดยไม่มีเหตุผล และสะท้อนความไม่ลงรอยไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ก็เป็นสัญญาณ วาระสุดท้ายมาถึงแล้ว

เกมล่มสภาฯ เดดล็อครัฐบาล สัญญาณวาระสุดท้าย ?

          ขณะเดียวกัน รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า สำหรับกรณีสภาล่มบ่อยครั้งนั้น จะต้องแยกเป็นประเด็นว่า เกิดขึ้นจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ  โดยปกติฝ่ายค้านจะมองว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลที่จะต้องทำให้การประชุมสภาเดินหน้าต่อไปได้ แต่บางครั้ง ส.ส.รัฐบาลอาจคิดว่าจะไม่เกิดสภาล่ม จึงไม่ได้เข้าร่วมประชุม ดังนั้น เมื่อ ส.ส.รัฐบาลมาประชุมไม่ครบ จึงทำให้สภาล่ม 

 

          "แต่ขณะเดียวกัน การที่สภาล่มเป็นเพราะมีความพยายามที่จะไม่ให้เรื่องบางเรื่องได้ไปต่อ เช่น ฝ่ายค้านไม่อยากให้เรื่องของรัฐบาลได้ไปต่อ หรือฝ่ายรัฐบาลไม่อยากให้เรื่องของฝ่ายค้านได้ไปต่อ เป็นต้น"

เกมล่มสภาฯ เดดล็อครัฐบาล สัญญาณวาระสุดท้าย ?

          รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับฝ่ายค้านมีความพยายามที่จะทำให้ประชาชนมองเห็นความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่การที่ทำให้สภาล่มบ่อยๆ จะส่งผลตามที่ฝ่ายค้านต้องการหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไป เพราะรัฐบาลเองก็ต้องแก้เกม พยุงสภาให้เดินหน้าต่อไปได้

 

          "ที่สำคัญต้องอย่าลืมเสียงของคนภายนอก ว่ามองเรื่องนี้อย่างไร คือประชาชนมองอย่างไรกับสิ่งที่ฝ่ายค้านทำ หากเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วการกระทำนี้ก็จะเป็นที่ยอมรับจากประชาชน แต่หากประชาชนไม่ยอมรับ ผลลบก็จะเกิดขึ้นแก่ฝ่ายค้านเอง ดังนั้น ผลจากการกดดันของฝ่ายค้านจะมีพลังก็ต่อเมื่อ ได้รับแรงเสริมจากประชาชน"

 

          อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ เห็นว่า การที่สภาล่มบ่อยครั้ง ทำให้ประชาชนมองเห็นข้อเสียของสภาในภาพรวม ไม่ใช่จุดบกพร่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะหน้าที่นิติบัญญัติ เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ทั้งหมดในสภา

             เหนืออื่นใด รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ อยากให้กลับไปดูว่าในสภาวันนี้ ยังมีเรื่องใด หรือกฎหมายใดค้างคาอยู่ รอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรบ้าง และหากเรื่องเหล่านั้นเกิดความล่าช้า จะส่งผลกระทบอย่างไร 

 

          "ถ้าเรื่องบางเรื่องรอได้ ฝ่ายค้านก็ต้องอธิบายกับประชาชนให้เข้าใจ ว่ายังรอได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องสำคัญจะต้องผ่านให้ได้ก่อน"
 

          รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ ทิ้งท้ายว่า รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้ นอกจากเกมในสภาแล้ว ยังต้องอาศัยเสียงของประชาชนจากภายนอกด้วย การประชุมสภาล่มบ่อย ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ แต่รัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ก็ต่อเมื่อ เรื่องที่รัฐบาลเสนอไม่ผ่านบ่อยๆ หรือเรื่องสำคัญที่เสนอโดยรัฐบาลไม่ผ่านความเห็นชอบ ก็จะถูกทวงถามมารยาททางการเมือง.