"กองทัพบก" รอดคดี ทหารวิสามัญ "ชัยภูมิ ป่าแส" ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย

"กองทัพบก" รอดคดี ทหารวิสามัญ "ชัยภูมิ ป่าแส"  ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย

ศาลอุทธรณ์ ยืน ยกคำร้อง คดีครอบครัว ชัยภูมิ ป่าแส ฟ้อง กองทัพบก เรียกค่าเสียหาย คดี วิสามัญฆาตกรรมนักกิจกรรมชาวลาหู่ ปี 2560 ด้านทนายติดใจหลายประเด็น เตรียมขอรับรองฎีกาสู้ศาลสุดท้าย

26 มกราคม 65 ที่ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยยืนตามศาลชั้นต้นคือ ยกฟ้อง คดี "ครอบชัยภูมิ ป่าแสฟ้องกองทัพบก" จากกรณีที่ครอบครัวของนายชัยภูมิ  ป่าแส เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมชาติพันธุ์ลาหู่ เรียกร้องค่าเสียหายจากกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหาร 2 นาย ทำหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่วิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560

โดยมีทนายรัษฎา มนูรัษฎา และ นางสาวจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นผู้ดูแลคดีครอบครัวนายชัยภูมิ ในฐานะทนายความโจทก์ และวันนี้มีนางอังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ด้วย โดยศาลใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ในการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และพิจารณายกฟ้อง ยืนตามศาลชั้นต้น

นายรัษฎา กล่าวภายหลังศาลอุทธรณ์ยกฟ้องว่า ทางทนายความเคารพคำตัดสินของศาลแต่ก็มีประเด็นที่ติดใจและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นกล้องวงจรปิดพี่ศาลไม่ให้ความสำคัญ แต่ให้น้ำหนักพยานบุคคล และศาลเห็นว่า กระสุนจากอาวุธสงครามของทหาร ที่ยิงเข้าต้นแขนและทะลุซี่โครงนายชัยภูมิ เป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิตนั้นเป็นการยิงเพื่อป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้เป็นการวิสามัญฆาตกรรม รวมถึงกรณีการพิสูจน์ DNA ของนายชัยภูมิ บนวัตถุระเบิด ซึ่งยังมีข้อกังขาอยู่

ทนายรัชฎา เปิดเผยว่า ทางทนายความจะปรึกษาทางครอบครัวนายชัยภูมิและเห็นว่าต้องต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด โดยจะยื่นศาลแพ่งต่อไป ซึ่งลักษณะของคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างยกฟ้องนั้น มีกระบวนการที่จะต้องให้ผู้พิพากษาที่นั่งบัลลังก์หรือตัดสินในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์หรือทั้ง 2 ศาลที่ยกฟ้องคดีไปนั้น "รับรองว่าคดีนี้มีปัญหาสำคัญอันควรเข้าสู่การพิจารณาของศาลสูงหรือศาลฎีกา" ตามกระบวนการ ซึ่งฝ่ายโจทก์ จะดำเนินการหลังจากนี้

ด้าน นางสาวจันทร์จิรา กล่าวว่า จากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องคดีนี้ ตามรายละเอียดที่ศาลพิจารณายังมีประเด็นที่น่ากังวลและตั้งคำถาม โดยเฉพาะในส่วนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร ว่าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกแล้วไม่มีกล้องวงจรปิดยืนยัน ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ส่วนในกรณีของนายชัยภูมินี้ทหารระดับปฏิบัติยืนยันชัดเจนว่าผู้บังคับบัญชาให้สั่งทำสำเนาและสั่งลบภาพกล้องวงจรปิด ซึ่งน่าจะเรียกสำเนากล้องวงจรปิดมาได้แต่ศาลไม่รับพิจารณาแต่ให้น้ำหนักเพียงพยานบุคคล ซึ่งมีคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือของพยานบุคคลกับภาพจากกล้องวงจรปิดด้วย 

 อีกทั้งการพิสูจน์ DNA นั้นพบว่า DNA ของนายชัยภูมิ อยู่ในวัตถุระเบิด แต่ไม่ได้ระบุว่าพบ DNA ดังกล่าวเมื่อเกิดเหตุการณ์ ซึ่งเลือดของนายชัยภูมิสามารถกระเด็นใส่วัตถุระเบิดได้หรือยังมีข้อสงสัยว่าระเบิดเป็นของนายชัยภูมิจริงหรือไม่ด้วย และน่าเสียดายที่ศาลไม่พิสูจน์ลายนิ้วมือที่ด้ามจับระเบิดชนิดดังกล่าว ซึ่งปกติจะต้องดึงชนวนแล้วก็ขว้าง ถึงไม่สามารถเห็นด้วยกับการตัดสินของศาลได้ในหลายประเด็น โดยเฉพาะ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว