ย้อนรอย “ข้อหาหนัก” ขับ ส.ส. เกมสมคบคิด-เสี่ยงชงยุบ “พปชร.”

ย้อนรอย “ข้อหาหนัก” ขับ ส.ส. เกมสมคบคิด-เสี่ยงชงยุบ “พปชร.”

การขับไล่ ส.ส.ของ พปชร.จึงเป็นเหตุผลค่อนข้าง “พิสดาร” ในทางการเมือง ท่ามกลางข้อมูลวงในถึง “ทฤษฎีสมคบคิด” ของผู้ที่เกี่ยวข้องในการร่วมจัดฉากเรื่องนี้ และวันหนึ่งในอนาคตอาจกลายเป็น “หอกแหลม” หันกลับมาทิ่มแทงพรรคตัวเอง เมื่อถึงวันนั้นจะโทษใครคงสายไปเสียแล้ว

ศึกชิงอำนาจผ่านเล่ห์กลทางการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระหว่างกลุ่ม “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” กับกลุ่มหนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของ “ผู้กองมนัส” เมื่อสุดท้ายต้องขอให้พรรคขับไล่ตัวเองกับกลุ่มก๊วน ส.ส.-อดีต ส.ส.รวม 21 รายพ้นไป เพื่อไปสังกัดพรรคใหม่ใน 30 วันตามรัฐธรรมนูญ

“มันจะออก ก็ออกๆ ไป พรรคจะได้สงบ” คือสิ่งที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค ลั่นกลางวงประชุมด่วน พปชร.เมื่อ 19 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา

ชื่อพรรคที่ถูกโยนไปกลางแสงสปอร์ตไลท์ทางการเมืองคือ “พรรคเศรษฐกิจไทย” ว่ากันว่าจะให้ “พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา” มือขวา “บิ๊กป้อม” ไปเป็นหัวหน้าพรรคนี้ “อภิชัย เตชะอุบล” ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เตรียมแต่งตัวมาเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ โดยมี “ร.อ.ธรรมนัส” เป็นรองหัวหน้าพรรค

เงื่อนปมที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือ สาเหตุที่ พปชร.อ้างใช้ขับไล่ “ผู้กองมนัส” คือ ข้อบังคับของพรรคข้อ 54 (5) ระบุว่า พรรคการเมืองมีมติให้ออกเพราะกระทำผิดวินัยหรือจรรยาบรรณอย่างร้ายแรงหรือมีเหตุร้ายแรงอื่น โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค รวมกับเสียง ส.ส. จำนวน 66 เสียง จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 117 ราย ถือว่าเกิน 3 ใน 4 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และคำยืนยันจากปากของเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ร้ายแรงที่พรรครับไม่ได้ จึงต้องรักษาความเป็นเอกภาพพรรค ยืนยันอีกว่า ร.อ.ธรรมนัส ไม่ได้มีการต่อรองว่าจะยุบสภาหรือพูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อย่างใด

คือบางห้วงบางตอนจากการแถลงข่าวของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ซามูไรกฎหมาย ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร.ด้านกฎหมาย อ้างเหตุผล ในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ (20 ม.ค. 2565)

ประเด็นนี้ถูก “นิโรธ สุนทรเลขา” ส.ส.นครสวรรค์ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ออกความเห็นคัดค้านตั้งแต่ตอนประชุมด่วนแล้วว่า หากขับไล่ ร.อ.ธรรมนัสกับพวกด้วยวิธีนี้ เกรงว่าจะดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความผิด และไม่มีความผิดเชิงประจักษ์ อาจเป็นช่องให้เกิดการร้องเรียนจนเกิดการ “ยุบพรรค” ได้

นับตั้งแต่จบการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เป็นต้นมา ก่อนกรณีของ “ร.อ.ธรรมนัส” มีพรรคการเมืองอย่างน้อย 2 พรรคที่ดำเนินการ “ขับไล่” ส.ส.พ้นจากสมาชิกพรรค โดยระบุเหตุผลต่าง ๆ กันไป ดังนี้

1.พรรคอนาคตใหม่ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร และ ส.ส.ของพรรค มีมติเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562 (ขณะนั้นยังไม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค) ขับไล่ 4 ส.ส. ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “งูเห่า” ในสภาฯ ได้แก่ นางศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี เขต 2 พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี เขต 1 และ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี เขต 7

โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะโหวตสวนมติของพรรคหลายครั้ง รวมถึงให้สัมภาษณ์ทำนองโจมตีผู้บริหารของพรรค (นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคขณะนั้น) ในการจัดชุมนุมที่สกายวอล์ก ปทุมวัน เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562 หลังจาก กกต.มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีเงินกู้ 191 ล้านบาท

2.พรรคเพื่อไทย ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ของพรรค มีมติเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2564 ขับไล่ 2 ส.ส. ได้แก่ นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ โดยระบุสาเหตุว่า มีพฤติการณ์กล่าวหาพรรคและผู้บริหารของพรรคด้วยการแถลงต่อสื่อมวลชนหลายครั้งติดต่อกัน อันมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรค เป็นการทำลายภาพลักษณ์และชื่อเสียงของพรรค ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพรรคอย่างร้ายแรง การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ.2561 ข้อ 19(3) และ (8) และเป็นการกระทำผิดวินัยและจริยธรรมของการเป็นสมาชิกพรรคตามข้อบังคับพรรคข้อ 113 (3) และ (5) จึงเห็นชอบด้วยมติเอกฉันท์ให้ลงโทษด้วยการให้พ้นจากสมาชิกภาพ ตามข้อบังคับพรรคข้อ 118 (4) ตามความเห็นของคณะกรรมการวินัยและจริยธรรม

ส่วน น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี ระบุสาเหตุว่า มีพฤติการณ์ฝักใฝ่พรรคการเมืองอื่น ไม่ยึดมั่นในเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของพรรค อีกทั้งเป็นการกระทำผิดซ้ำสองในพฤติการณ์เดียวกัน ซึ่งพรรคเคยมีมติลงโทษไปแล้ว ตามคำสั่งพรรคเพื่อไทยที่ 0045/2563 ลงวันที่ 4 ก.พ. 2563 ซึ่งการฝักใฝ่พรรคการเมืองอื่นของนางสาวพรพิมล ธรรมสาร ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ.2561 ข้อ 19 (3) และ (7) และถือเป็นการกระทำผิดวินัยและจริยธรรมของการเป็นสมาชิกพรรคตามข้อบังคับพรรคข้อ 113 (2) (3) และ (12) จึงเห็นชอบด้วยมติเอกฉันท์ให้ลงโทษด้วยการให้พ้นจากสมาชิกภาพตามข้อบังคับพรรคข้อ 118 (4) ตามความเห็นของคณะกรรมการวินัยและจริยธรรม

ประเด็นที่น่าสนใจกรณีของพรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อไทยนั้น ก่อนจะขับไล่ ส.ส.ออกจากพรรค ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยคณะกรรมการตรวจสอบวินัยหรือจริยธรรมในพรรค เปิดโอกาสให้ ส.ส.ที่ถูกกล่าวหาชี้แจงเหตุผล ก่อนจะนำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมพรรคเพื่อลงมติขับไล่ดังกล่าว

ที่สำคัญสาเหตุที่ขับไล่ ส.ส.ของทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นข้อกล่าวหา “ปฏิปักษ์” กับพรรคทั้งสิ้น เช่น การโหวตสวนมติของพรรคหลายครั้ง มีพฤติการณ์ฝักใฝ่พรรคการเมืองอื่น การทำลายชื่อเสียงของพรรค เป็นต้น

ทว่ากรณีของพรรคพลังประชารัฐ ที่ขับไล่ “ผู้กองมนัส-พวก” ดังกล่าว กลับไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯก่อน แถมยังดำเนินการอย่าง “เร่งรีบ” โดยอ้างเรื่องเสถียรภาพภายในพรรค โดยยังไม่มีการสรุปเลยว่าสาเหตุ “ความผิด” ที่นำไปสู่เรื่องการทำลายเอกภาพภายในพรรคคืออะไร

ประเด็นนี้จึงทำให้ “นิโรธ” ในฐานะประธานวิปรัฐบาลกังวล รวมถึง สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะกรรมการบริหารพรรค ต่าง “งดออกเสียง” เพราะอาจสุ่มเสี่ยงกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งมีโทษสูงถึงขั้น “ยุบพรรค” ได้

ดังนั้นการขับไล่ ส.ส.ของ พปชร.จึงเป็นเหตุผลค่อนข้าง “พิสดาร” ในทางการเมือง ท่ามกลางข้อมูลวงในถึง “ทฤษฎีสมคบคิด” ของผู้ที่เกี่ยวข้องในการร่วมจัดฉากเรื่องนี้ และวันหนึ่งในอนาคตอาจกลายเป็น “หอกแหลม” หันกลับมาทิ่มแทงพรรคตัวเอง เมื่อถึงวันนั้นจะโทษใครคงสายไปเสียแล้ว