“กฤษฎีกา” รื้อ 2 ร่าง กม.ลูก เสร็จแล้ว ชงสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ แก้ “บัตรเขย่ง”

“กฤษฎีกา” รื้อ 2 ร่าง กม.ลูก เสร็จแล้ว ชงสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ แก้ “บัตรเขย่ง”

“กฤษฎีกา” รื้อ ร่าง กม.ลูก “เลือกตั้ง ส.ส.-พรรคการเมือง” เสร็จแล้ว กำหนดบัตร 2 ใบต้องแตกต่าง แก้ปัญหา “บัตรเขย่ง” ไม่ต้องนับ-ลงคะแนนใหม่ ชงสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อช่วยพรรคเล็ก แจ้ง กกต.เปิดรับฟังความเห็นก่อนยืนยันกลับสำนักเลขาฯ ครม.ใน 5 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสร็จแล้ว

โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำหนังสือลงวันที่ 17 ม.ค. 2565 แจ้งมายังเลขาธิการ กกต. ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษมีการแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ สมควรที่ กกต.จะได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น วิเคราะห์ผลกระทบเพิ่มเติม และขอให้ กกต.แจ้งยืนยันความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่ตรวจพิจารณาแล้วไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 5 วัน นับจากวันที่ได้รับร่างกฎหมาย พร้อมจัดทำรายงานผลการรับฟังความคิดเห็น รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายและแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรองให้สอดคล้องด้วย

สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจและยกร่างขึ้นใหม่นั้นมีทั้งสิ้น 32 มาตรา โดยสาระสำคัญ กำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขตจำนวน 400 คน ซึ่งเป็นการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครเป็นรายบุคคล ตามการแบ่งเขตเลือกตั้งที่กำหนดเขตละ 1 คน และมีส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน ซึ่งเป็นการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นโดยเลือกเพียงพรรคการเมืองเดียวทั้งประเทศ

โดยให้ กกต. ประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแบบแบ่งเขต และของพรรคการเมืองที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ในกรณีที่ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้ใช้จ่ายไปเพื่อการเลือกตั้งเป็นจำนวนเท่าใดให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองด้วย และให้กกต.หารือหัวหน้าพรรคและให้มีการทบทวนการกำหนดจำนวนเงินดังกล่าวให้สอดคล้องกับความจำเป็นสภาวะทางเศรษฐกิจอย่างน้อยทุก 4 ปี

รวมถึงแก้ไขมาตรา 73 ให้การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งครอบคลุมถึงผู้สมัครบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง การกำหนดให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยการออกเสียงลงคะแนนให้ใช้บัตรเลือกตั้งส.ส.แบบละ 1 ใบ ซึ่งต้องมีลักษณะแตกต่างที่สามารถจำแนกออกจากกันได้อย่างชัดเจน บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตต้องมีช่องทำเครื่องหมายและหมายเลขไม่น้อยกว่าจำนวนผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง  ส่วนบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องมีการทำช่องเครื่องหมายและหมายเลขของบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองและชื่อพรรคการเมือง พร้อมภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองครบทุกพรรค ที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

“กฤษฎีกา” รื้อ 2 ร่าง กม.ลูก เสร็จแล้ว ชงสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ แก้ “บัตรเขย่ง”

นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขปัญหา “บัตรเขย่ง” มีการกำหนดให้ในกรณีที่ผลการนับคะแนนปรากฏว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน เมื่อกกต.ได้รับรายงานจากคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้สั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ หรือ ออกเสียงลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น เว้นแต่ กกต.จะมีความเห็นว่า ความไม่ถูกต้องตรงกันนั้นไม่ได้เกิดจากการทุจริต และไม่ได้ทำให้ผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะสั่งให้ยุติก็ได้

สำหรับการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กำหนดไว้ 5 ขั้นตอน

  1. ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งทั้งประเทศมารวมกัน
  2. หารด้วย 100 เพื่อให้ได้คะแนนต่อ ส.ส.บัญชี 1คน 
  3. นำคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน โดยให้ถือผลลัพธ์ที่ได้เฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม คือจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ
  4. หากจัดสรรแล้วยังได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ครบ 100 คน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษโดยไม่มีจำนวนเต็มและพรรคการเมืองที่มีเศษหลังจากคำนวณในขั้นตอนที่ 3 พรรคใดมีเศษจำนวนมากที่สุดให้ได้รับจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก 1 คน เรียงตามลำดับจนกว่าจะมีจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบ 100 คน
  5. กรณีถ้าในลำดับใดมีเศษเท่ากันแล้วจะทำให้จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อเกินจำนวน 100 คน ให้ตัวแทนพรรคการเมืองที่มีเศษเท่ากันจับสลากเพื่อให้ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อครบจำนวน 

และเมื่อ กกต.ตรวจสอบแล้วมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า การเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมให้ประกาศผลผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

นอกจากนี้ยังยกเลิกมาตรา 131 ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เดิม ที่กำหนดว่าภายใน 1 ปีหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป ถ้ามีการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตใหม่เพราะเหตุการเลือกตั้งในเขตนั้นไม่สุจริตเที่ยงธรรม ให้คำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่

ขณะเดียวกันได้กำหนดในบทเฉพาะกาลว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. 2561 ซึ่งมีอยู่ในวันก่อนวันที่พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.แก้ไขเพิ่มเติมนี้ใช้บังคับ ถ้ายังคงมีผลใช้บังคับต่อไปสำหรับการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไป และการดำเนินการใดๆ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส 2561 ให้มีผลใช้บังคับได้กับการดำเนินการเพื่อการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นภายหลังวันที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.แก้ไขเพิ่มเติมนี้ใช้บังคับ

ทั้งนี้คณะกรรมการกฤษฎีกามีการตัดหลายประเด็นที่ กกต.เสนอ เช่น การลดเวลาการเลือกตั้งเหลือ 8:00 -16.00 น.  ระยะเวลาในการแบ่งเขตเลือกตั้ง 90 วัน วิธีการรับสมัครและการได้หมายเลขของผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ขณะเดียวกันก็มีการแก้ไขในหลายมาตราที่ กกต.ไม่ได้มีการเสนอ เช่น การตัดอำนาจ กกต.ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง การกำหนดลักษณะบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

“กฤษฎีกา” รื้อ 2 ร่าง กม.ลูก เสร็จแล้ว ชงสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ แก้ “บัตรเขย่ง”

ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการตรวจและยกร่างใหม่รวม 5 มาตรา สาระสำคัญเป็นการแก้ไข มาตรา 51 เกี่ยวกับการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง โดยกำหนดให้คณะกรรมการสรรหากำหนดวันเวลาสถานที่ ในการเสนอรายชื่อบุคคลเป็นผู้สมัคร และมีหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการบริหารพรรค หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด แล้วประกาศให้สมาชิกทราบโดยผู้มีสิทธิ์เสนอรายชื่อได้แก่ คณะกรรมการบริหารพรรค หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 

ส่วนการคัดเลือกผู้สมัคร กำหนดให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จัดประชุมเพื่อให้สมาชิกลงคะแนนเลือกบุคคลในบัญชีรายชื่อ โดยให้สมาชิกลงคะแนนเลือกได้คนละไม่เกิน 10 รายชื่อ ซึ่งการประชุมสาขาพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือ ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 15 คน เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ประกาศผลการนับคะแนนของสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดนั้น แล้วรายงานไปยังคณะกรรมการสรรหาโดยเร็ว

รวมถึงมีการกำหนดให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ไม่มีผลกระทบต่อการสรรหาสมาชิกผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่มีอยู่แล้ว หรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่แล้วในวันที่ พ.ร.ป.แก้ไขเพิ่มเติมนี้ใช้บังคับ