บทสรุป 4 พรรค“ชุมพร-สงขลา” ส่อง“กลเกม-ยุทธศาสตร์”ลุยศึกใหญ่

บทสรุป 4 พรรค“ชุมพร-สงขลา”   ส่อง“กลเกม-ยุทธศาสตร์”ลุยศึกใหญ่

ชัยชนะของ “ประชาธิปัตย์” มีอายุเพียง 1 ปีเศษเท่านั้น ทุกพรรคการเมืองจึงต้องสรุปบทเรียน ปรับยุทธศาสตร์พรรค เพื่อเก็บแต้มการเมือง สู้ศึกเลือกตั้งใหญ่

หลังจบศึกเลือกตั้งซ่อม “ผู้ชนะ” มักจะสรุปบทเรียน เพื่อต่อยอดความสำเร็จ “ผู้แพ้” จำเป็นต้องวิเคราะห์หาจุดอ่อน เพื่อปรับยุทธศาสตร์ รอวันกลับมาสู้ใหม่ เช่นเดียวกับสนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 1 จ.ชุมพร และ ส.ส. เขต 6 จ.สงขลา “ประชาธิปัตย์” มีการบ้านต้องทำ เพื่อรักษาพื้นที่ “พลังประชารัฐ” มีโจทย์ต้องแก้ เพื่อชิงเก้าอี้มาครอง

เพราะชัยชนะของ “ประชาธิปัตย์” มีอายุเพียง 1 ปีเศษเท่านั้น เนื่องจากเทอมของสภาจะครบในวันที่ 23 มี.ค.2566 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม มีอำนาจในการช่วงชิงความได้เปรียบ ด้วยการยุบสภาก่อนครบเทอม

“กรุงเทพธุรกิจ” ผ่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ คว้าชัยเหนือผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งสถานการณ์ของ 2 พรรคที่ลงสนามครั้งนี้ พรรคก้าวไกล และพรรคกล้า เพื่อฉายภาพกลยุทธการต่อสู้เชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสะท้อนกลเกมการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ที่เขต 6 จ.สงขลา ปัจจัยหลักที่ทำให้ “ประชาธิปัตย์” ชนะรักษาฐานที่มั่นไว้ได้ คือการกำหนดยุทธศาสตร์การหาเสียงของ “ขุนพลแดนสะตอ” จ.สงขลา ที่นำโดย “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย “เดชอิศม์ ขาวทอง” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลภาคใต้ อ่านขาดว่าจุดอ่อนของ “สุภาพร กำเนิดผล” ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ที่อ.สะเดา ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของ “อนุกูล พฤกษานุศักดิ์” ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ

บรรดา “กุนซือ” จึงเลือกทิ้งพื้นที่ อ.คลองหอยโข่ง-อ.หาดใหญ่ (เฉพาะต.บ้านพรุ-อ.พะตง) เนื่องจากคะแนนค่อนข้างทิ้งห่าง จึงมั่นใจว่าจะชนะขาดลอยพอสมควร เพื่อมุ่งเก็บแต้มที่ อ.สะเดา โดยไม่หวังชนะในพื้นที่นี้ แต่ขอแพ้ด้วยคะแนนสูสีที่สุดเท่าที่จะทำได้

ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง “ประชาธิปัตย์” เลือกจัดเวทีปราศรัยใหญ่ที่ อ.สะเดา 2 ครั้ง ระดมทุกสรรพกำลัง “แหลงใต้” โชว์ผลงานราคายาง-ราคาปาล์ม ที่คนใต้ค่อนข้างพอใจ แถมบลั๊ฟโครงการ “คนละครึ่ง” ว่าเป็นผลงานของรัฐบาลไม่ใช่ของ “พลังประชารัฐ” เพื่อขอแต้มจากคนสะเดา ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร

ทุ่มจุดอ่อนสะเดา “แพ้ให้น้อยที่สุด”

ขณะเดียวกัน ผลการลงคะแนนที่ออกมา แสดงให้เห็นว่า “ทีมกุนซือ ปชป.” คำนวณไม่พลาดว่าต้องมาเก็บแต้มที่ อ.สะเดาให้มากที่สุด โดยพร้อมที่จะแพ้ แต่ขอแพ้ให้น้อยที่สุด เนื่องจากมั่นใจว่าพื้นที่ อ.คลองหอยโข่ง จะสามารถเอาชนะได้อย่างขาดลอย ส่วน อ.หาดใหญ่ (เฉพาะต.บ้านพรุ-ต.พะตง) คะแนนจะสูสี

ผลคะแนนที่ออกมาปรากฏว่า “สุภาพร” ได้คะแนนที่ อ.สะเดา 22,248 คะแนน แพ้ “อนุกูล” ที่ได้ 23,867 คะแนน ไปเพียง 1,619 คะแนน ซึ่งถือว่าน้อยกว่าที่ “ทีมกุนซือปชป.” คาดการณ์เอาไว้ เพราะในบางตำบล ของอ.สะเดา “สุภาพร” ได้คะแนนมากกว่า “อนุกูล” ด้วยซ้ำ 

พื้นที่ อ.คลองหอยโข่ง “สุภาพร” ชนะแบบขาดลอย โดยได้ 10,213 คะแนน “อนุกูล” ได้ 4,972 คะแนน ห่างกันถึง 5,241 คะแนน และพื้นที่อ.หาดใหญ่ (เฉพาะต.บ้านพรุ-ต.พะตง) “สุภาพร” ได้ 12,030 คะแนน “อนุกูล” ได้ 11,591 คะแนน โดย “สุภาพร” เบียดเอาชนะไปเพียง 439 คะแนน

เมื่อสังเคราะห์ผลคะแนนที่ออกมา จะเห็นได้ชัดเจนว่า “ทีมกุนซือปชป.” วิเคราะห์ผลคะแนนล่วงหน้าค่อนข้างแม่นยำ ทำให้สามารถวางยุทธศาสตร์การหาเสียงได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้ “สุภาพร” เอาชนะ “อนุกูล” ด้วยคะแนนที่ห่างกัน 5,061 คะแนน 

กลยุทธ-ยุทธศาสตร์ ที่ถูกขบคิดอย่างรอบคอบของ “ทีมกุนซือปชป.” จึงมีส่วนให้คว้าชัยในครั้งนี้

ขณะเดียวกันปัจจัยที่ทำให้ “พลังประชารัฐ-อนุกูล” พ่ายแพ้ ก็สำคัญไม่น้อยเช่นกัน เพราะจะเป็นบทเรียนให้ “พลังประชารัฐ” กลับไปทบทวนยุทธศาสตร์ของพรรคใหม่ ไม่หลงอยู่ในวังวนอำนาจความสำเร็จที่ผ่านมา

บทสรุป 4 พรรค“ชุมพร-สงขลา”   ส่อง“กลเกม-ยุทธศาสตร์”ลุยศึกใหญ่

เครือข่ายปึ้ก-จุดกระแสช่วย“ลูกหมี”

ส่วนสนามชุมพร “ประชาธิปัตย์” รู้ถึงความนิยมของ “นายกฯประยุทธ์” ในพื้นที่ภาคใต้ จึงใช้ยุทธศาสตร์โหนกระแส เพื่อดึงคะแนนส่วนนี้มาเป็นของตัวเอง พร้อมกับใช้กลยุทธ์เรียกคะแนนสงสาร ปลุกกระแสคืนความเป็นธรรมให้ “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร เขต 1 ที่ต้องหลุดจากตำแหน่ง อันเป็นผลพวงมาจากการต่อสู้ในนามกลุ่ม กปปส. จนมีคดีติดตัว

ในส่วนของฐานเสียงท้องถิ่น ตระกูลจุลใส เครือญาติ และบรรดาเครือข่าย วางคนคุมการบริหารแทบทุกระดับ ซึ่งเป็นความได้เปรียบสำคัญ

นอกจากนั้น การที่มีคนของตัวเองในพื้นที่อย่างกว้างขวาง จึงทันเกมใต้ดินคู่แข่ง คอยบล็อคและแก้เกมการใช้อำนาจรัฐ อิทธิพลกดดัน เท่าที่จะทำได้ โดยมีการป่าวประกาศให้สังคมรู้ ถึงคนมีสีที่พยายามเข้ามามีบทบาทในพื้นที่ เพื่อเอื้อประโยชน์บางพรรค ต่างจากครั้งเลือกตั้งซ่อม จ.นครศรีธรรมราช ที่ประชาธิปัตย์ไม่ออกมาแฉเรื่องราวทำนองนี้

จุดแข็งสำคัญในพื้นที่ชุมพร คือ กระแส กปปส. ยังคงมีอยู่ โดย"ลูกหมี"เป็นตัวเชื่อมโยงผูกพันกับคนในพื้นที่ เมื่อรวมกับฐานเสียงของประชาธิปัตย์ประกอบกัน ผลลัพธ์จึงทิ้งห่างคู่แข่งแบบขาดลอย

บทสรุป 4 พรรค“ชุมพร-สงขลา”   ส่อง“กลเกม-ยุทธศาสตร์”ลุยศึกใหญ่

ขยายผลวาทกรรมเลือก“คนรวย”

สำหรับปัจจัยความพ่ายแพ้ของ “พลังประชารัฐ” ทั้งสนามชุมพร-สงขลา โฟกัสไปที่แนวทางการหาเสียงของ “ทัพหลวงพลังประชารัฐ” เพราะภายหลังที่ “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค หลุดวาทกรรม “เลือกคนตระกูลดี-คนรวย” คะแนนนิยมของ “อนุกูล” จึงตกฮวบลงทันที

ขณะที่ฟากฝั่ง “ประชาธิปัตย์” ไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดมือ บรรดา “ขุนพลฝีปากกล้า” เรียงหน้ากันออกมาโหนกระแสนี้ ถล่ม “ธรรมนัส” กระทบชิ่งไปที่ “อนุกูล” ซึ่งประชาธิปัตย์รู้ดีถึงลักษณะเฉพาะของคนใต้ ไม่ยอมทนกับคำหยามน้ำใจ ดังนั้นการใช้ลูกไม้เดิมของฝ่ายตรงข้าม ที่เคยใช้หาเสียงในพื้นที่อื่น อาจจะใช้ได้ผลในบางพื้นที่ และคนใต้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า คำโอ้อวดใช้ไม่ได้กับ “คนแดนสะตอ”

ชู“ประวิตร”ด้อยค่า“ประยุทธ์”คะแนนหด

นอกจากนี้ “ประวิตร-ธรรมนัส” ต้องยอมรับว่าแบรนด์ของตัวเองใช่หาเสียงในพื้นที่ภาคใต้ไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากเอาเข้าจริงคนใต้เลือก ส.ส.พลังประชารัฐ เพราะต้องการเลือกนายกฯที่ชื่อ “ประยุทธ์” ไม่ได้ต้องการเลือกพรรคพลังประชารัฐ

ปฏิบัติการ “กบฏโหวตล้มบิ๊กตู่” ยังตราตรึงอยู่ในใจ “คนแดนสะตอ” ไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะฉาก “ธรรมนัส” รวบรวมเสียงพรรคเล็กโหวตสวน ฉาก “ประวิตร” หักน้องชายไม่ลาออกจากหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดทางให้เลือก “กก.บห.พลังประชารัฐ” ยังคงคาอยู่ในใจ

และโปรดอย่าคิดว่า “คนแดนสะตอ” ไม่รู้การเมือง กิจวัตรประจำวันของคนภาคใต้เกินร้อยละ 50 หมกมุ่นกับการเมือง โดยเฉพาะสภากาแฟ-สภาชาร้อน ที่มีอยู่เกือบทุกหมู่บ้าน

หนำซ้ำยุทธศาสตร์การหาเสียงของ “พลังประชารัฐ” ที่พยายามโดดเดี่ยว “ประยุทธ์” โดยหันไปโปรโมทผลงานของ “ประวิตร” ในหลายด้าน ซึ่งมีน้อยมากที่ “ทีมหาเสียง” พูดถึงชื่อของ “ประยุทธ์” และมีเพียงคนเดียวที่พูดถึงชื่อของ “ประยุทธ์” ทุกเวทีคือ “ประวิตร” แต่ไม่ได้ลงลึกรายละเอียดการทำงาน ที่สำคัญผลงานของรัฐบาลที่จะมาขายให้กับคนใต้ได้รับรู้-รับฟังมีน้อยมาก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ฉุดคะแนนของ “อนุกูล-ทนายแดง” ให้ลดลง

ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือบรรยากาศเวทีปราศรัย ที่“คีย์แมน” ส่วนใหญ่ “แหลงใต้” ไม่ได้ คนที่คอยรันคิวคือ “วิรัช รัตนเศรษฐ” อดีตส.ส.พลังประชารัฐ ลูกล่อลูกชนบนเวทีจึงไม่ปลุกใจมากพอ แตกต่างกับเวทีปราศรัยของ “ประชาธิปัตย์” ที่แหลงใต้กันทั้งคืน ซึ่งภาษากาย-ภาษาพูดที่สื่อออกมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสู้ศึกโค้งสุดท้าย

บทสรุป 4 พรรค“ชุมพร-สงขลา”   ส่อง“กลเกม-ยุทธศาสตร์”ลุยศึกใหญ่

“ถาวร”คนกลางหลังม่านช่วยไม่สุด

อีกเหตุผลสำคัญที่นำมาซึ่งความพ่ายแพ้ของ “พลังประชารัฐ” คือตัวของ “ถาวร เสนเนียม” อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ซึ่งอยู่หลังฉากไม่ออกมาสนับสนุน “พลังประชารัฐ-อนุกูล” แบบเต็มตัว แม้จะมีกระแสข่าวว่าคอยช่วยคอนโทรล “หัวคะแนน” อยู่เบื้องหลัง แต่หาก “ถาวร” เปิดหน้า-เปิดตัว โอกาสของ “อนุกูล” จะมีมากกว่านี้

ทั้งหมด คือปัจจัยคว้าชัยของ “ประชาธิปัตย์” และปัจจัยพ่ายศึกของ “พลังประชารัฐ” หลังจากนี้ ต้องจับตาความเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพลังประชารัฐจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะหากอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยังอยู่ในมือ “ประวิตร-ธรรมนัส” โอกาสที่กระแสพลังประชารัฐในภาคใต้จะลดลงไม่น้อย และอาจสุ่มเสี่ยงถึงขั้นสูญพันธุ์

“ก้าวไกล”เปลี่ยนหัวใหม่-กระแสหาย

ด้านพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ลงสนามครั้งนี้หวังต่อยอดความสำเร็จจากพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ซึ่งกวาดคะแนนจากภาคใต้ได้พอสมควร แม้จะไม่ได้เก้าอี้ ส.ส. แม้แต่ตัวเดียว แต่สามารถเก็บคะแนนหลักหมื่นได้ในหลายเขต

ทว่า การเลือกตั้งซ่อม ชุมพร-สงขลา พรรคก้าวไกลที่เปลี่ยนผู้นำพรรคจาก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” มาเป็น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ส่งผู้สมัครลงชิง 2 คน ผลที่ออกมาคะแนนลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ

สนามซ่อมชุมพร เขต 1 ที่ก้าวไกล เลือกส่ง “วรพล อนันตศักดิ์” ซึ่งพื้นเพเป็นชาว ต.นาสัก อ.สวี จ.ชุมพร ได้มาเพียง 3,582 คะแนน หากเทียบกับการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 หายไปจากเดิม 6 พันกว่าคะแนน ซึ่ง“ชาญวิทย์ ใจสว่าง” ที่เคยลงสนามเขต 1 ชุมพร ในนามพรรคอนาคตใหม่ ทำไว้ 10,347 คะแนน

ขณะที่สนามซ่อมสงขลา พรรคก้าวไกล คาดหวังไว้สูงพอควร ส่ง “ธิวัชร์ ดำแก้ว อดีตผู้ช่วย “พิธา” หวังเรียกความเชื่อมั่นจากคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ เพราะ"ธิวัชร์"เป็นคน อ.สะเดาแต่กำเนิด โดยคาดหวังว่าน่าจะได้ 2 หมื่นคะแนนขึ้นไป แต่หลังหย่อนบัตรเลือกตั้ง “ธิวัชร์” ได้มาเพียง 5,427 คะแนน ต่างจากตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคอนาคตใหม่ส่ง “สัมพันธ์ ละอองจิตต์” ได้มาถึง 11,966 คะแนน สร้างความผิดหวังให้กับกองเชียร์พรรคสีส้มไม่น้อย

 หากเทียบคะแนนรวม 2 จังหวัดของก้าวไกล ที่ได้พอๆ กับพรรคกล้า พรรคใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว หลังจากนี้ “ก้าวไกล-พิธา” รวมถึง “คณะก้าวหน้า” ของ “ธนาธร-ปิยบุตร” คงต้องทบทวนบทเรียนจากการชูธงการเมืองสุดโต่งว่าจะส่งผลต่อคะแนนนิยมด้านบวก-ด้านลบมากกว่ากัน ซึ่งนักสังเกตการณ์มองว่า หากยังฝืนเดินเกมสุดทาง สนับสนุนปฏิรูปสถาบันแบบสุดซอย ต้นทุนเดิม 8 ล้านเสียง อาจจะหายไปเกินครึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า

บทสรุป 4 พรรค“ชุมพร-สงขลา”   ส่อง“กลเกม-ยุทธศาสตร์”ลุยศึกใหญ่

“กล้า”ทางเลือกใหม่-ลุ้นต่อยอดกทม.

สำหรับพรรคกล้า ภายใต้การนำของ “กรณ์ จาติกวณิช” ตัดสินใจส่งผู้สมัครลงชิงทั้งสองสนาม แต่ยังไม่คาดหวังชัยชนะ แต่หวังแนะนำตัวให้คนใต้ได้รู้จักพรรคกล้า แนวทางพรรค และนโยบายให้มากขึ้น เพราะเป้าหมายสำคัญคือ เสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่ที่ชัดเจน

คะแนนที่ได้มาถือว่าเกินคาด โดยเฉพาะสนามชุมพร “พ.ต.อ.ทศพล โชติคุตร์” ได้มากถึง 7,591 คะแนน สนามสงขลา “พงษธร สุวรรณรักษา” ได้ 1,350 คะแนน  ซึ่งถือเป็นการแนะนำตัวของพรรคการเมืองน้องใหม่ ที่มีฐานเสียงเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์

 หลังจากนี้ “กรณ์-พรรคกล้า” จะโฟกัสไปที่การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขตหลักสี่ เพื่อขยายกระแสพรรค และมีลุ้นว่าจะสามารถเก็บแต้มจากตัวผู้สมัครและทีมแบ็คอัพเพื่อแจ้งเกิดได้มากแค่ไหน เพราะการส่ง “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” เลขาธิการพรรคกล้า ลงชิงเก้าอี้ด้วยตัวเองถือเป็นการวางเดิมพันสูง

 หาก “อรรถวิชช์” สามารถคว้าเก้าอี้ ส.ส. ได้ “กรณ์-พรรคกล้า” มีโอกาสติดปีกในสนามเมืองหลวง ต่อยอดกระแสชัยชนะในพื้นที่อื่นได้ไม่น้อย แต่หากพลาดหวัง ก็ต้องมาลุ้นผลคะแนน เพราะอาจเป็นจุดพลิกผันของพรรคกล้า ท่ามกลางกระแสที่ถูกจับตาถึงการผนึกกำลังกับพรรคอื่น

บทสรุป 4 พรรค“ชุมพร-สงขลา”   ส่อง“กลเกม-ยุทธศาสตร์”ลุยศึกใหญ่