สมรภูมิใต้ "ซ่อมจบ-พรรคไม่จบ" โหน“ประยุทธ์” ฉกประชานิยม
เกมชิง “นโยบาย” จะเป็นเกมหลักที่ทั้ง “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์” ต่างหวังต่อยอด ทางการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ ที่คาดว่าจะดุเดือดอย่างแน่นอน เพราะดินแดนด้ามขวาน พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ผูกขาดอีกต่อไป พรรคอื่นระดมนโยบายที่จับต้องได้ ไปตั้งเสาไฟฟ้าของตัวเอง
เสร็จสิ้นการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 1 ชุมพร และเขต 6 สงขลา ชัยชนะตกเป็นของประชาธิปัตย์ รักษาฐานที่มั่นเอาไว้ได้ ศึกประลองกำลังครั้งนี้ แม้ชัยชนะจะสำคัญต่ออนาคตของ “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์” แต่ร่องรอยของบาดแผลกลับขยายยิ่งขยาย และนับวันจะร้าวลึก จนยากสมานให้หายสนิท
วาทกรรมการเมืองที่นำมาใช้ฟาดฟันกันในช่วงรณรงค์หาเสียง จะกลับกลายเป็นคำเย้ยหยันกันในวงลับ วงเปิด ซึ่งพร้อมแปรเปลี่ยนเป็นแรงแค้นได้ตลอดเวลา
จริงอยู่แม้การเลือกตั้งซ่อม จะไม่ส่งผลต่อสถานะ “พรรคร่วมรัฐบาล” ในเวลาอันใกล้ แต่เริ่มเห็นสัญญาณในอนาคต การวางเกมชิงพื้นที่-ชิงฐานเสียง จะสู้กันยิบตาไม่มีใครยอมถอยให้ใคร เพราะเดิมพันของ “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์” ในพื้นที่ภาคใต้ เสมือนเดิมพันความอยู่รอดของทั้งสองพรรค
ในทางภูมิศาสตร์การเมือง ที่แต่ละขั้ว แต่ละพรรคต่างมีฐานเสียงกันชัดเจน และทั้ง "พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์” ก็รู้ดีว่า ยากที่จะปักธงในภาคเหนือ-ภาคอีสาน เนื่องจากความนิยมชมชอบในตัว "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ยังฝังลึก และเจ้าตัวยังขับเคลื่อนการเมืองเบื้องหลังอย่างต่อเนื่อง พรรคอื่นๆ จึงทำได้แค่เจาะพื้นที่บางโซนเท่านั้น ยากที่จะรุกล้ำยึดเขต “เรดโซน” ได้ง่ายๆ
ดังนั้น หมุดหลักของ “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์” จึงไม่พ้นพื้นที่ภาคใต้ ที่ไม่ได้เป็นฐานที่มั่นชนิดยกภาคของฝ่ายหลังอีกต่อไป จึงกลายเป็นเป้าหมายที่ 2 พรรคร่วมรัฐบาล พยายามขับเคี่ยวกันเอง ทั้งเลือกตั้งซ่อมและเตรียมพร้อมไปสู่ศึกเลือกตั้งใหญ่ในครั้งหน้าด้วย ขณะที่พรรคร่วมอย่าง“ภูมิใจไทย” ก็หมายมั่นปั้นมือเข้ามาชิงชัยด้วยเช่นกัน
ยุทธศาสตร์การชิงพื้นที่ด้ามขวานของ “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์” ได้เริ่มเดินเกม ทยอยเปิดตัว “ว่าที่ผู้สมัคร” เพื่อสร้างการรับรู้ให้คนในพื้นที่ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะทั้งสองพรรคจะต้องแข่งขัน-แย่งชิงกันอย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่ รวมทั้ง “ว่าที่ผู้สมัคร” ที่เดินหน้าทำพื้นที่อย่างแข็งขัน
บริบทที่เปลี่ยนไป “ประชาธิปัตย์” ที่เคยยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ คงได้บทเรียนจากการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุด 24 มี.ค.2562 แล้วว่า วิถีการเมืองภาคใต้ไม่เหมือนเดิม วาทกรรมการเมือง “ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ” ใช้ไม่ได้อีกต่อไป
หากเปรียบเทียบผลการเลือกตั้งภาคใต้ 2 ครั้งหลังสุด จะเห็นได้ว่า ปี 2554 พรรคประชาธิปัตย์ กวาด ส.ส.เขตได้ 50 ที่นั่ง จาก 53 ที่นั่ง หรือ 94% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ส่วนอีก 3 ที่นั่ง กระจายไปยังพรรคอื่น ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคมาตุภูมิ
ถัดมาปี 2562 ประชาธิปัตย์ลดวูบ ได้ส.ส.เขต 22 ที่นั่ง จาก 50 ที่นั่ง หรือ 44% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด หายไปถึง 50% จากปี 2554 ขณะที่พลังประชารัฐได้ ส.ส.เขต 13 ที่นั่ง คิดเป็น 26% พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส. เพิ่มขึ้นเป็น 8 ที่นั่ง คิดเป็น 16% และพรรคประชาชาติได้ ส.ส. ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนไป 6 ที่นั่ง คิดเป็น 12% ส่วนอีก 1 เขต เป็นของพรรครวมพลังประชาชาติไทย
ลำพังแค่กระแสของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม เพียงคนเดียวยังสามารถโค่น “ประชาธิปัตย์” ได้ในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ “พลังประชารัฐ” กวาดเก้าอี้ ส.ส.ไปได้ถึง 14 ที่นั่ง (รวมล่าสุดที่ชนะเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 3 แทนเทพไท เสนพงศ์ ประชาธิปัตย์)
ฉะนั้น อนาคตการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป แม้กระแสของ “ประยุทธ์” จะอ่อนแรงลงไปบ้าง แต่เครือข่ายของ “พลังประชารัฐ” กลับขยายกว้างขวางมากขึ้น การปักหมุดฝังรากในหลายพื้นที่ของภาคใต้ เริ่มผลิดอกออกผล หลายนโยบาย-หลายโครงการ ที่คนท้องถิ่นเฝ้ารอได้รับการตอบสนอง
มาถึงจุดนี้ ก็ได้พิสูจน์ในระดับหนึ่งแล้วว่าการวางยุทธศาสตร์เพื่อชิงพื้นที่ของ “พลังประชารัฐ” ไม่ได้ด้อยกว่า “ประชาธิปัตย์” ที่สำคัญคำถามของคนใต้ที่ระบุว่า “ที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ทำอะไรอยู่” เริ่มดังสวนทางขึ้นมาทุกวัน พร้อมๆ กับปรากฎการณ์ไหลออกของอดีต ส.ส.ในพื้นที่ต่างๆ ที่ยังไม่หยุด
เมื่อ “ส.ส.พลังประชารัฐ” เริ่มขยายฐานเสียงได้ จึงไม่แปลกที่ครั้งหนึ่ง “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ สมัยที่นั่งเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ คิดการณ์ใหญ่“ฮุบภาคใต้” ด้วยการเสนอให้ “นายกฯประยุทธ์” แบ่งงานรัฐมนตรี ให้ดูแลพื้นที่จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต โดยยกพื้นที่สำคัญมาไว้ที่รัฐมนตรีพลังประชารัฐ ก่อนที่ “นายกฯประยุทธ์-พลังประชารัฐ” จะยอมถอย หลังถูก “ประชาธิปัตย์” ดาหน้าออกมาฟาด และเดินเกมกดดัน
แสดงให้เห็นว่า “พลังประชารัฐ” จริงจังในขยายฐานการเมืองยึดภาคใต้มาจาก “ประชาธิปัตย์” ให้ได้แบบเบ็ดเสร็จ และความหวังนี้ก็ไม่หายไปไหน เมื่อเลขาฯ พลังประชารัฐ ยังเดินเกมรุกอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องจับตาชนิดอย่ากระพริบ เพราะอนาคตอันใกล้ พลังประชารัฐจะขับเคลื่อนนโยบายในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้อย่างหนัก
ปรากฎการณ์ที่สะท้อนให้เห็นการสนามเลือกตั้งซ่อม เมื่อทั้ง “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์” ที่มีสถานะพรรคร่วมรัฐบาล ต่างเคลมนโยบายประชานิยม ที่โดนใจประชาชนคนภาคใต้ว่าเป็นผลงานของพรรค และอยู่ในความดูแลของตัวเอง โดยเฉพาะนโยบาย “คนละครึ่ง” ที่จะถูกใช้เป็นนโยบายหลักในการหาเสียง
ฝ่าย “พลังประชารัฐ” ยืนยันเสียงแข็งว่า “คนละครึ่ง” มาจากมันสมองของ “พล.อ.ประยุทธ์” นายกฯในบัญชีของพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นนโยบาย “คนละครึ่ง” จึงเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ “ประยุทธ์-พลังประชารัฐ”
ฝ่าย “ประชาธิปัตย์” จึงออกมาแก้เกมทันทีทีควันว่า “คนละครึ่ง” เกิดขึ้นจากมติร่วมกันของ “พรรคร่วมรัฐบาล” จึงเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในรัฐบาลมี “ประชาธิปัตย์” รวมอยู่ด้วย ไม่ใช่นโยบายของ “ประยุทธ์-พลังประชารัฐ” เพราะไม่มีพรรคใดหาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562
เช่นเดียวกับนโยบายราคาสินค้าทางการเกษตร โดยเฉพาะราคายางและราคาปาล์ม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของคนภาคใต้ ขณะนี้ราคายางแผ่นดิบ อยู่ที่ 53.80 บาทต่อกิโลกรัม ราคาน้ำยางสด อยู่ที่ 56.50 บาทต่อกิโลกรัม ราคาปาล์ม 10.80 บาทต่อกิโลกรัม “หัวหน้าอู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ ชิงจังหวะประกาศก่อนแล้วว่าประชาธิปัตย์จะผลักดันราคายางให้ถึง 60 บาทต่อกิโลกรัมให้ได้ ส่วนผลงานราคาปาล์มอยู่เกณฑ์ที่ถือสูงอยู่แล้ว
แน่นอนว่า “พลังประชารัฐ” เองก็ไม่ยอมเสียโอกาส ให้พรรคร่วมนำนโยบายราคาสินค้าทางการเกษตรไปหาเสียงเพียงพรรคเดียวอย่างแน่นอน เพราะถือเป็นการทำงานร่วมกันของ “พรรคร่วมรัฐบาล”
ดังนั้น เกมชิง “นโยบาย” จะเป็นเกมหลักที่ทั้ง “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์” ต่างหวังต่อยอด เก็บแต้มทางการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ ที่คาดว่าจะดุเดือดอย่างแน่นอน
โดยเฉพาะดินแดนด้ามขวาน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่ประชาธิปัตย์ไม่ได้ผูกขาดอีกต่อไป จึงเป็นโอกาสให้พรรคอื่นพร้อมระดมนโยบายที่จับต้องได้ ไปตั้งเสาไฟฟ้าของตัวเองแทนประชาธิปัตย์ให้ได้