ล็อกเป้า "อู่ตะเภา" ฐานทัพเก่าสหรัฐขย่มจีน

ล็อกเป้า  "อู่ตะเภา" ฐานทัพเก่าสหรัฐขย่มจีน

"สหรัฐ" เคลื่อนไหวในรอบปีที่ผ่านมา เทน้ำหนักมาที่ "ไทย" ในฐานะพันธมิตรเก่า การปิดประตู ปฏิเสธความต้องการของสหรัฐ ย่อมทำไม่ได้ สิ่งที่ต้องตระหนักคือ รักษาสมดุล กำหนดท่าทีว่า "ไทย" จะไม่เป็นฐานของประเทศมหาอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น

“สหรัฐ” ยังคงติดอกติดใจกับ “สนามบินอู่ตะเภา” ที่เคยใช้เป็นฐานทัพ นำเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ B-52 (B52 Stratofortress) นำลูกระเบิดหนัก 32 ตัน วิ่งขึ้นไปโจมตีเวียดนามเหนือ ในห้วงที่สถานการณ์สู้รบรุนแรงที่สุด นับจำนวนเที่ยวบินได้ 875-1,500 ต่อสัปดาห์ ในสงครามเวียดนามที่ปะทุขึ้นเมื่อ 2507

อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของเครื่องบินลาดตระเวนระยะไกล กองทัพเรือสหรัฐ P-3 เครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศ KC-135 เครื่องถ่ายภาพทางอากาศ เครื่องบินสอดแนม U-2 ที่จะมีเครื่องบินขับไล่คุมกันออกปฏิบัติภารกิจ “ลับ ลวง พราง” เข้าไปในเวียดนามเหนือ

“สนามบินอู่ตะเภา” ก่อสร้างขึ้นปี 2505 ซึ่งเป็นไปตามโครงการร่วมกันระหว่าง “ไทย-สหรัฐ” เพื่อป้องกันและต่อต้านมหาอำนาจระบอบคอมมิวนิสต์ คือ “โซเวียต-จีน” ที่กำลังรุกคืบมาในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังเข้ามามีอิทธิพลในเวียดนามเหนือ แผ่ขยายไปยัง กัมพูชา ลาว

การก่อสร้างสนามบินดังกล่าว รองรับการขนส่งทางอากาศในการลำเลียงหน่วยรบไปยังจุดยุทธศาสตร์สำคัญในประเทศไทย รวมถึงสร้างเส้นทางส่งกำลังบำรุง เช่น ท่าเทียบเรือน้ำลึก สร้างข่ายถนน 301 และ 304 เชื่อมภาคตะวันออกไปยังภาคอีสาน

แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว แต่การแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ “สหรัฐ-จีน”ไม่เคยจบสิ้น ต่างฝ่ายต่างปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์แสวงหาพันธมิตรด้านการค้า เศรษฐกิจ การเมือง และการขยายกำลังทหารผ่านการฝึกซ้อมรบ โดยปักหมุดไว้ที่เอเชีย

ปีที่ผ่านมา ประเทศมหาอำนาจงัดข้อกันแรงสุด จนเกิดแรงสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นพอสมควร หลังจีนผนวกส่วนหนึ่งของทะเลจีนใต้เป็นส่วนหนึ่งของจีน ในขณะที่สหรัฐประกาศยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก หรือ ยุทธศาสตร์เลือกข้าง ต่อต้าน นำมาซึ่งการแบ่งแยกกลุ่มประเทศออกเป็นสองขั้ว และเติม“หัวเชื้อ”เก่า เรื่องประชาธิปไตย ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน และการบรรเทาสาธารณภัยเป็นใบเบิกทาง

“สหรัฐ”ไม่เคยลดละที่จะขอใช้ “สนามบินอู่ตะเภา” เป็นศูนย์กลางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติในอาเซียน ซึ่งเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจร่วม(เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่อนุญาตให้ใช้ได้เป็นครั้งคราว

เพราะ “ไทย” เป็นจุดยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ตั้งแต่สงครามเย็น และในอดีตยังใช้ “อู่ตะเภา”เป็นจุดแวะพักในกรณีสงครามอิรัก อีกทั้งยังมีที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ครอบคลุมปัญหาความขัดแย้งในประเทศรอบบ้าน ซึ่งเป็นมิติด้านความมั่นคงและเกราะชั้นดีป้องการขยายอำนาจของจีน โดยมี “อ่าวไทย” เชื่อมต่อ “มหาสมุทรแปซิฟิก” ส่วน “อันดามัน” เชื่อมต่อ “มหาสมุทรอินเดีย”

ในรอบปี 2564 บุคคลสำคัญของสหรัฐ เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นว่าเล่น ทั้ง “เดวิด เอส โคเฮน” รองผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง สหรัฐอเมริกา หรือ ซีไอเอ "แดเนียล คริเตนบริงค์" ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านเอเชียตะวันออก “แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แต่คนสุดท้ายยกเลิกกะทันหันเนื่องจากปัญหา “โควิด-19”

ประเด็นหารือ แพลมๆ ออกมาเป็นกรอบกว้างๆ ว่า เกี่ยวข้องกับการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค การเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ ความร่วมมือทางทหารและความมั่นคง สถานการณ์ในเมียนมา และการให้ความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรม แต่เป้าหมายหลักอยู่ที่ “สนามบินอู่ตะเภา”
แม้แต่การไปเยือนสหรัฐ ครั้งแรกของ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทสส. ตามคำเชิญของ “เพนตากอน” 11-20 ธ.ค. 2564 เข้าพบผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐ พล.อ. มาร์ก เอ. มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหาร ร่วมหารือถึงวัตถุประสงค์ร่วม “ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” และ ดร.อีไล เอส. แรตเนอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฝ่ายกิจการความมั่นคงภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก

อีกทั้ง “พล.อ. เฉลิมพล” ยังเป็นแขกในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ทำเนียบของ พล.อ. แดเนียล อาร์.โฮเกนสัน ผู้บัญชาการหน่วยรักษาดินแดน และได้พูดคุยถึงความร่วมมือระหว่างไทย และกองกำลังรักษาดินแดนวอชิงตันที่มีมานาน 19 ปี ผลประโยชน์ร่วมกันในการยกระดับความมั่นคงทางไซเบอร์ และความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างกองกำลังของสองประเทศเพื่อประโยชน์แก่ชาวอเมริกัน ชาวไทย และประชาคมทั่วภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐในรอบปีที่ผ่านมา ให้ความสำคัญและเทน้ำหนักมาที่ “ไทย” ในฐานะพันธมิตรเก่า การที่รัฐบาลและกองทัพจะปิดประตู ปฏิเสธความต้องการของสหรัฐทั้งหมด ย่อมทำไม่ได้ เพราะไทยเป็นประเทศเล็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางการต่อสู้มหาอำนาจ 

สิ่งที่ต้องตระหนักคือ รักษาสมดุล ไม่เอียงซ้าย-เอียงขวา และกำหนดท่าทีว่า “ไทย” จะไม่เป็นฐานของประเทศมหาอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น