กบฏโหวตล้ม“ประยุทธ์”กลางสภา ที่สุดเหตุการณ์การเมืองปี 2564

กบฏโหวตล้ม“ประยุทธ์”กลางสภา ที่สุดเหตุการณ์การเมืองปี 2564

เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ - พล.อ.อนุพงษ์” ยังไม่สามารถเข้าไปกุมดวงใจของ “พล.อ.ประวิตร” ได้ทั้งดวง โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งภายในพรรค พปชร. ขึ้นมาอีก ย่อมเป็นไปได้สูง รอยร้าวที่รอวันปริแตก ยังมีปรากฏการณ์ให้เห็นสัญญาณอยู่หลายครั้ง

ปี 2564 กำลังผ่านพ้นไป ใกล้เริ่มนับศักราชใหม่ปี 2565 การเมืองยังดุเดือด ต้อนรับปีเสือ ที่จะมาถึง ซึ่งจะเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล “บิ๊กตู่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม เนื่องจากจะครบเทอมสภาในวันที่ 23 มี.ค.2566 ดังนั้นในปี 2565 จึงเป็นปีที่พรรคการเมืองต้องเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้ง

ทว่า ก่อนจะครบเทอมสภา “พล.อ.ประยุทธ์” ยังต้องฝ่ามรสุมอีกหลายลูก ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขระหว่างทางให้ต้องตัดสินใจ “ยุบสภา” ก่อนครบเทอมได้เช่นกัน จึงต้องจับตาว่า อุบัติเหตุทางการเมืองจะเกิดขึ้นกับ “พล.อ.ประยุทธ์” จังหวะไหน หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ที่กำลังจะผ่านไป มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นหลากเรื่องราว แต่เหตุการณ์ที่นับว่าเป็นที่สุดของปี 2564 หนีไม่พ้นเหตุการณ์ “กบฏ” ที่จ้องโหวตล้ม “พล.อ.ประยุทธ์” กลางสภา ภายหลัง “ขั้วฝ่ายค้าน” ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 31 ส.ค.- 4 ก.ย. ที่ผ่านมา

กลิ่นของ “ดีลมหาประลัย” สลับขั้วรัฐบาล “พลังประชารัฐ” จับมือ “เพื่อไทย” จัดตั้งรัฐบาลมีมาไม่ขาดสาย ในช่วงที่ “เพื่อไทย” แสดงความจำนงต่อพรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 ครั้งก่อนหน้านี้ จะยื่นในช่วงต้นปี

ทว่าด้วยเสียงข้างมากใน “ขั้วฝ่ายค้าน” เห็นพ้องต้องกันกับ “เพื่อไทย” ให้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ กระบวนการทางรัฐสภาจึงเริ่มนับหนึ่ง ส่วน “ขบวนการกบฏ” เริ่มเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน โดยที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่รู้ตัว เพราะเชื่อว่าพี่ใหญ่ 3 ป.อย่าง “บิ๊กป้อมพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม คุมเกมได้ และไม่คิดหักหลัง “น้องตู่”

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ประเมินสถานการณ์การเมืองพลาด เพราะ “คีย์แมน พปชร.- วงษ์สุวรรณแฟมิลี่” ยังเดินหน้าแผนโหวตล้มนายกฯ เพราะในช่วงหลังทั้ง “พล.อ.ประวิตร - วงษ์สุวรรณ แฟมิลี่” ถูกริบอำนาจการบริหารราชการเกือบหมด จากเดิมที่เคยฟูลพาวเวอร์ แทบไม่เหลือหน่วยงานรัฐให้ดูแล

  • ฉากหน้า-ฉากหลัง “ขบวนการกบฏ”

ฉากหน้าของ “ขบวนการกบฏ”ครั้งนี้ เชื่อกันว่า มี “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า (รมช.เกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น) เลขาธิการ พปชร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ (รมช.แรงงานในขณะนั้น) เหรัญญิก พปชร. “วิรัช รัตนเศรษฐ” อดีตประธานวิปรัฐบาล คอยเป็นผู้กำกับ

ฉากหลังมี “วงษ์สุวรรณ แฟมิลี่” แท็กทีมกับ “บิ๊กทหาร-อดีตบิ๊กทหาร-บิ๊กตำรวจ-อดีตบิ๊กตำรวจ” คอยวางเกมให้ “ขบวนการกบฏฉากหน้า” เดินตามหมากที่วางเอาไว้

เงื่อนไขแรกที่ “ขบวนการกบฏ” โยนขึ้นมาบนโต๊ะต่อรองระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรกๆ คือการขอให้ “พล.อ.ประยุทธ์” สลับเก้าอี้ “รมว.มหาดไทย” ที่พี่กลาง 3 ป. “บิ๊กป๊อกพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั่งคุมอยู่มาให้ “พล.อ.ประวิตร” ดูแลเอง โดยอ้างว่าต้องการทำพื้นที่เพื่อเตรียมรับการเลือกตั้ง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบรับข้อเสนอ

  • “ประยุทธ์” ไหวตัว-ดักคอ “ไม่ใช่สุภาพบุรุษ”

เมื่อแผนแรกไม่สำเร็จตามคำขอ “ขบวนการกบฏ” จึงคิดเลยธง ลุยแผนโหวตล้มพล.อ.ประยุทธ์ทันที ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มรู้ตัวภายหลังกลุ่มกบฏ เดินเกมรวบรวมกำลังพล - เช็คเสียงโหวต จนมีไอ้ห้อย-ไอ้โหน นำสารไปกระซิบพล.อ.ประยุทธ์

ทำให้ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่สอง (1 ก.ย.64) “พล.อ.ประยุทธ์” ออกมาส่งสัญญาณ 1.การโหวตล้มนายกฯ : “ถ้ามันจริง ผมถือว่าไม่เป็นสุภาพบุรุษ เพราะเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะทำอย่างนั้น ทำไปเพื่ออะไร ผมเข้ามาก็ทำงาน 100% ในทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นการที่จะไปรวมคะแนนเสียงโหวต ซึ่งจริงหรือไม่จริง ผมไม่ทราบ แต่ถือว่าไม่ใช่สุภาพบุรุษ ถ้าทำแบบนั้น

2. ยุบสภา : “ทุกคนก็ตื่นตระหนกกันไปหมด หรือไม่ให้นายกฯ มีอำนาจยุบสภาดีกว่า พูดอย่างนี้ก็ได้ ใช่หรือเปล่า”

3. การแอบอ้างว่าจะมีการเปลี่ยนตัวนายกฯ : “การแอบอ้างเบื้องสูง ถือว่าผิดอย่างร้ายแรง ผมคนเดียวเท่านั้น ที่ได้มีโอกาสถวายข้อราชการ คนอื่นไม่มี”

  • เปิดห้องทำงานนายกฯถก 6 รมต.

ภายหลังที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ส่งสัญญาณดักคอ “ขบวนการกบฏ ปฏิกิริยาต่อมาคือ การเรียก “แกนนำพรรค พปชร.” ที่อยู่ในสายที่ตัวเองคอนโทรลได้เข้าพบ อาทิ “อนุชา นาคาศัย” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน “สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.คลัง โดยเข้าพบที่ห้องรับรองนายกรัฐมนตรี ภายในรัฐสภา เพื่อตั้งกองบัญชาการสู้

โดยมีกระแสข่าวว่า “พล.อ.ประยุทธ์” สั่งเช็คเสียงโหวตอย่างละเอียด ก่อนที่จะมีกระแสข่าว ส.ส.หลายคน ได้เข้าพบ “พล.อ.ประยุทธ์” แถมมีข่าวปล่อยว่ามีการ “แจกกล้วย” แลกเสียงโหวตตามภาษาการเมืองบอกกันว่า “8 โล” ซึ่งมีการปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าวในภายหลัง

  • เพลี่ยงพล้ำโยนผิด"ห้อย-โหน"

ขณะเดียวกันฝากฝั่งของ “ขบวนการกบฏ” ร.อ.ธรรมนัส ออกมาตอบโต้คำให้สัมภาษณ์ของ “พล.อ.ประยุทธ์” โดยระบุว่า ข่าวลือคนละชุดที่ได้ยินมา ซึ่งถือเป็นการปล่อยข่าวกลับไปกระทบชิ่งคนการเมืองที่เขาเรียกว่าไอ้ห้อยไอ้โหน 

1.มีหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคเล็กคนหนึ่งเสนอรับเงิน 10 ล้านบาท เพื่อต่างตอบแทน

2. มีรัฐมนตรีใน พปชร. รับงานมาล็อบบี้ ส.ส.เพื่อไทย ส.ส.ประชาธิปัตย์ และ ส.ส.พปชร. ในการโหวตสนับสนุนใครคนใดคนหนึ่ง

“ต้องถามว่าคนเป็นรัฐมนตรีสมควรทำอย่างนั้นหรือไม่ เพราะควรเห็นแก่ประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ไม่ต้องใคร ‘4 ช.’ ที่ว่ากัน ฝากไปบอกเขาด้วยว่าทำอะไรเพื่อบ้านเพื่อเมืองบ้าง อย่าเห็นผลประโยชน์ส่วนตัว”

จากคำให้สัมภาษณ์ของ “ร.อ.ธรรมนัส” สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า “ขบวนการกบฏ” มีจริง แต่อาจจะเป็นข่าวลือคนละชุดที่มีอยู่ในมือของทั้งสองขั้ว

  • “ประยุทธ์ - ธรรมนัส” เคลียร์ไม่จบ

จากนั้นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่สี่ (3 ก.ย.64 ) “พล.อ.ประวิตร” ประสานงานให้ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ ร.อ.ธรรมนัส และส.ส.พปชร. ได้เข้าเคลียร์ใจกันที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ซึ่งแม้จะวางตัวอยู่ตรงกันระหว่างศึกโหวตล้ม แต่ในทางการเมืองย่อมรู้กันดีว่า “พล.อ.ประวิตร” เอนเอียงไปอยู่ฝั่ง “ขบวนการกบฏ” เพราะหากไม่ได้ไฟเขียวจาก “นาย” อย่างจริงจัง “ขบวนการกบฏ” คงยากที่จะเคลื่อนไหว

โดยบรรยากาศภายในมูลนิธิป่ารอยต่อในช่วงบ่ายวันที่ 3 ก.ย.64 เต็มไปด้วยความตรึงเครียด “พล.อ.ประวิตร” ปล่อยให้ ร.อ.ธรรมนัส-ส.ส.พปชร. เปิดใจถึงการทำงานร่วมกับรัฐบาล โดย “ร.อ.ธรรมนัส” สะท้อนการทำงานช่วงหนึ่งว่า “พล.อ.ประยุทธ์อยู่ห่างกับส.ส.มากเกินไป จึงอยากให้มาช่วยรับฟังปัญหาของส.ส.” โดย “พล.อ.ประยุทธ์” ตกปากรับคำว่าจะปรับปรุงการทำงาน

หลังเปิดใจคุยกัน “พล.อ.ประวิตร” ออกมายืนยันให้ ส.ส.พปชร. โหวตไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ห้ามแตกแถวแม้แต่เสียงเดียว พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนสั้นๆ ว่า “ถ้านายกฯไป ผมก็ไป” จึงทำให้ความวุ่นวายภายในพรรค พปชร.สงบลงชั่วคราว

  • “ประยุทธ์”รอดไว้วางใจหวุดหวิด

จนกระทั่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ห้า (4 ก.ย.64 ) เป็นวันนัดโหวตลงคะแนน โดย “พล.อ. ประยุทธ์” ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 264 ต่อ 208 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน ไม่มี ซึ่งทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

เมื่อเช็คเสียงโหวตกลับพบว่ามีพรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคไทรักธรรม และพรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย ลงมติโหวตไม่ไว้วางใจ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีคะแนนไว้วางใจน้อยกว่ารัฐมนตรีคนอื่น

เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เป้าได้พุ่งไปที่ “ร.อ.ธรรมนัส” ทันที เนื่องจากเป็นคนคุมเสียงของพรรคเล็ก และสามารถกำหนดให้พรรคเล็กโหวตในทิศทางใดก็ได้ จึงมีข้อสังเกตว่า ร.อ.ธรรมนัส เดินเกมดิสเครดิต พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ โดยทำให้มีคะแนนไว้วางใจน้อยที่สุด

  • ปลดฟ้าผ่า “ธรรมนัส-นฤมล”

เมื่อเคลียร์ใจกันแล้ว แต่ผลของการปฏิบัติออกมาตรงกันข้าม เกมใต้ดินยังเคลื่อนต่อ แม้จะล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ แต่เสียงโหวตไว้วางใจน้อยสุดทำให้นายกฯ เสียเครดิต เสียหน้าทางการเมือง ผนวกกับมีสัญญาใจให้ผลตอบแทนกับ “แกนนำ พปชร.” ที่ออกแรงช่วยอยู่ฉากหลัง

ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจเดินเกมโหด ปลด “ร.อ.ธรรมนัส-นฤมล” พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 171 โดยปลดในวันที่ 8 ก.ย.64 ก่อนที่จะมีผลภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 9 ก.ย.64

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีราชกิจจานุเบกษาออกมาอย่างเป็นทางการ “ร.อ.ธรรมนัส” แถลงที่รัฐสภาว่าได้ยื่นหนังสือลาออกจาก รมช.เกษตรและสหกรณ์ ทว่าหนังสือลาออก ไม่มีผลทางกฎหมาย เนื่องจากมีราชกิจจานุเบกษาลงประการปลดออกจากตำแหน่งในวันที่ 8 ก.ย.64

  • “2 ป.” กดดัน “ธรรมนัส”พ้น พปชร.

ภายหลังการปลด 2 รมช.ทำให้คาดการณ์กันว่าบทบาทของ “ร.อ.ธรรมนัส-นฤมล” ภายในพรรค พปชร.จะจบลง แต่ไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อ “พล.อ.ประวิตร”ยังสนับสนุนให้ทั้งสองคนอยู่ในพรรคต่อ เพื่อทำงานการเมืองอยู่ฉากหลัง

สถานการณ์เฉียดสิ้นอำนาจครั้งนี้ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ หาที่พิง โดยผนึกกำลังกับ “6 รัฐมนตรี” พยายามเทคโอเวอร์พรรค พปชร.กลับมาให้ได้ เพราะหวั่นใจว่าจะมีการเคลื่อนเกมในสภาภาค 2 

หลังจากนั้นศึกภายในพรรค พปชร.ยังเกิดขึ้นแทบทุกเวลา เพื่อประลองกำลังทางการเมือง จนกระทั่งมีกระแสข่าว “ร.อ.ธรรมนัส” ทำโพลสำรวจความนิยมของ ส.ส. แต่ละคน เพื่อเตรียมผู้สมัครรับการเลือกตั้ง โดยโพลพุ่งไปที่ ส.ส.ภาคใต้ ที่มี 14 คน ซึ่งโพลที่ “ร.อ.ธรรมนัส”จัดทำ มีส.ส.ภาคใต้ สอบผ่านเพียงแค่ 4 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นเด็กในสายของ “ร.อ.ธรรมนัส-วิรัช” ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ร.อ.ธรรมนัส จะกล่าวอ้างโพลเพื่อกีดกัน ส.ส.ฝั่งตรงข้าม และเลือก ส.ส.ขั้วตัวเองลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่

ทำให้ “ส.ส.ภาคใต้” ขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อรายงานข้อเท็จจริง จนกระทั่ง 2 ป. “พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.อนุพงษ์” นำเรื่องโพลไปหารือกับ “พล.อ.ประวิตร” เพื่อกดดันให้ปรับโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค พปชร. เปลี่ยนตัว “ร.อ.ธรรมนัส” ออกจากเลขาธิการ พปชร.

  • “ประวิตร”กลับลำอุ้มมือขวาต่อ

26 ต.ค.64 ภายหลังการประชุมครม. พล.อ.ประยุทธ์ เรียก “6 รัฐมนตรี” เข้าพบที่ทำเนียบฯ พร้อมแจ้งให้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหาร(กก.บห.)พปชร. เพื่อเปิดทางให้เลือก กก.บห.ชุดใหม่ โดยได้ตกลงกับ “พล.อ.ประวิตร” เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร มีท่าทีอ่อนลง โดยยอมรับว่าอาจมีการปรับเปลี่ยน กก.บห. แต่สุดท้ายเมื่อวันที่ 29 ต.ค.64 “พล.อ.ประวิตร” เรียกประชุม กก.บห.และกลับลำไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ ในพรรค และ “ร.อ.ธรรมนัส” ยังนั่งเลขาฯ พปชร.ต่อไป

  • สร้างภาพ “3 ป.”สัมพันธ์ยังปึ้ก

หลังจากปฏิบัติการของ “2 ป.” คว้าน้ำเหลว ไม่สามารถเขี่ย “ร.อ.ธรรมนัส” ให้พ้นทางได้ ทำให้ทีม “6 รัฐมนตรี” ต้องกลับไปยืนอยู่ตรงจุดเดิม และไม่สามารถเข้าไปคอนโทรลใน พรรค พปชร.ได้

ขณะเดียวกัน “ร.อ.ธรรมนัส” ยังเดินเกมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ในพื้นที่ต่างๆ โดยมี “พล.อ.ประวิตร” ร่วมเดินทางไปด้วยเกือบทุกครั้ง เพื่อสะท้อนภาพให้เห็นว่า ยังกำกับดูแล และสามารถขับเคลื่อนพรรค พปชร.ได้

ด้าน “พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.อนุพงษ์” พยายามสร้างภาพ “3 ป.” ไม่มีวันแตกแยก พยายามร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกับ “พล.อ.ประวิตร” บ่อยครั้งขึ้น พยายามปล่อยภาพความสัมพันธ์ลึกซึ้งจนยากจะแยกออกจากกัน แต่ยังไม่สามารถเทคโอเวอร์ พปชร.ได้ เมื่อพี่ใหญ่ประวิตร ไม่มีท่าทีจะลดบทบาท ร.อ.ธรรมนัส

  • ปีสุดท้ายลุ้นชนวนขัดแย้งรอบใหม่

เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ - พล.อ.อนุพงษ์” ยังไม่สามารถเข้าไปกุมดวงใจของ “พล.อ.ประวิตร” ได้ทั้งดวง โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งภายในพรรค พปชร.ขึ้นมาอีก ย่อมเป็นไปได้สูง รอยร้าวที่รอวันปริแตก ยังมีปรากฏการณ์ให้เห็นสัญญาณอยู่หลายครั้ง

หลังจากนี้ ต้องจับตาสถานการณ์ในสภาว่า “ขบวนการกบฏ” ในพลังประชารัฐ จะกลับมาอีกเมื่อไหร่ โดยเฉพาะสุดท้ายของเทอมสภา ที่ต้องไปสู่เลือกตั้ง

  • 2 เงื่อนไข “ประยุทธ์” ตัดสินใจอนาคต

ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ยังมีเป้าหมายรักษาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไว้อีกสมัย จึงจำเป็นต้องวางแผนอนาคตให้รอบคอบเช่นกัน หากยังอยู่กับพรรค พปชร.ต่อไป 

เลือกตั้งเที่ยวหน้านี้ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ พปชร.อาจไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ หนึ่งเดียวเหมือนครั้งที่ผ่านมา 

ทางเลือก ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีโอกาสตัดสินใจคือ การย้ายสังกัดพรรค ทว่าจุดเสี่ยงก็คือ หากลุยสร้างพรรคใหม่ จะมีพลังเหนือ พปชร.หรือไม่ นี่คือ โจทย์ใหญ่ที่ต้องลุ้นอนาคต “พล.อ.ประยุทธ์” ถึงนาทีสุดท้าย

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์