เคยใส่ตรวน-ชุดนักโทษ! ศาล รธน.อ่านหลักฐานมัด “สิระ” เคยติดคุกต้องพ้น ส.ส.

เคยใส่ตรวน-ชุดนักโทษ! ศาล รธน.อ่านหลักฐานมัด “สิระ” เคยติดคุกต้องพ้น ส.ส.

ผู้ถูกร้องยังต้องโทษจำคุกอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สอดคล้องกับหนังสือของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เมื่อปี 2538 ผู้ถูกร้องถูกคุมขังอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และถูกเบิกตัวมายังศาลแขวงปทุมวันเพื่อฟังคำพิพากษาคดีฉ้อโกง

แม้จะแขวน “หลวงพ่อป้อม” ก็ไม่อาจช่วยให้แคล้วคลาดไปได้!

สำหรับ “สิระ เจนจาคะ” นักการเมืองดังพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ต้องกลายเป็นอดีต ส.ส.กทม. หมาด ๆ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดด้วยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง ให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีฉ้อโกง กระทำการโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ทำให้มีลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) ประกอบมาตรา 101 (6) โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันได้รับการแต่งตั้งคือ 24 มี.ค. 2562 และให้มีการตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้งฯแทน ส.ส.ที่ว่างลงภายใน 45 วัน นับตั้งแต่ศาลอ่านคำวินิจฉัย

อ่านข่าว: “สิระ” พ้น ส.ส.ศาล รธน.ข้างมาก 7:2 ชี้เคยต้องคำพิพากษา-ติดคุกคดีฉ้อโกง

สาระสำคัญในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีอะไรบ้าง?

กรุงเทพธุรกิจ เรียบเรียงให้ทราบ ดังนี้

  • เจตนารมณ์ รธน.ชัด ล้างมลทินไม่ถือว่าล้างความผิด

เบื้องต้น ศาลรัฐธรรมนูญอ่านเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) ประกอบมาตรา 101 (6) ที่เป็นบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นใหม่ บัญญัติเพื่อต้องการไม่ให้บุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามเข้ามาใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ป้องกันบุคคลที่ขาดความน่าเชื่อถือ กระทำการไม่สุจริต หรือเคยทำผิดเป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์สาธารณะ เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันเป็นหนทางที่อาจทำให้เมื่อเป็นฝ่ายการเมืองกระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบได้โดยง่าย สำหรับบุคคลที่จะเป็น ส.ส. ถือเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้น รับรองว่าบุคคลนั้นปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ประพฤติ และปฏิบัติเป็นที่ยอมรับเชื่อถือจากสาธารณชนในทุกด้าน ปราศจากมลทินมัวหมอง 

ส่วนที่เกี่ยวกับฐานความผิดตามหลักการของมาตรา 98 (10) ต้องยึดถือคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดว่ากระทำผิดเป็นสำคัญ โดยไม่ได้คำนึงว่ามีเหตุบรรเทาโทษ หรือได้รับการลดโทษหรือไม่ เมื่อมีการล้างมลทิน หรืออภัยโทษ การล้างมลทินคือการไม่เคยถูกจำคุกเท่านั้น แต่พฤติกรรมกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งยังคงอยู่ ไม่มีผลลบล้างการกระทำผิด หรือคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดนั้น ส่วนการอภัยโทษคือการให้อภัยแก่ผู้ที่ได้รับโทษอยู่ ได้รับยกเว้นไม่ต้องรับโทษต่อ เป็นการลดโทษ ไม่ใช่การลบล้างความผิด ดังนั้นหากมีบุคคลใดกระทำผิดตามมาตรา 98 (10) ถือได้ว่าเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

  • พยานแฉเคยเจอใส่ชุดนักโทษ

ข้อเท็จจริงกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ รับฟังคำร้อง คำชี้แจงผู้ถูกร้อง เอกสารหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเอกสารประกอบ สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า ประเด็นที่ถูกร้องในคดีนี้คือ คดีหมายเลขดำที่ 812/2538 คดีหมายเลขแดงที่ 2218/2538 ที่ศาลแขวงปทุมวัน พิพากษาจำคุกนายสิระ ผู้ถูกร้อง เป็นจำเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 314 ฐานฉ้อโกง กระทำการโดยทุจริต รวม 2 กระทง โทษจำคุกกระทงละ 4 เดือน เรียงกระทงลงโทษรวมจำคุก 8 เดือน แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 4 เดือน ชดใช้ค่าเสียหาย 2 แสนบาทแก่ผู้เสียหาย

ทั้งนี้จากคำเบิกความของ ร.ต.อ.เขมรินทร์ หรือ พ.ต.ต.เขมรินทร์ ยศทางราชการขณะนั้น เป็นพยานยืนยันว่า เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เพื่อกล่าวหาว่านายสิระ กับพวกฉ้อโกง ในการทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ 3 คัน โดยศาลมีคำพิพากษาแล้ว และไม่เคยยื่นคำร้องถอนฟ้อง หรือได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากนายสิระแต่อย่างใด

พยานรายนี้ ยังระบุด้วยว่า ในระหว่างไปศาลแขวงปทุมวันเพื่อฟังคำพิพากษาคดีฉ้อโกงดังกล่าวเมื่อวันที 21 พ.ย. 2538 เห็นนนายสิระ ได้ชุดนักโทษ และโดนสวมโซ่ตรวน พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์นำตัวมาฟังคำพิพากษาด้วย และทราบมาว่านายสิระ ถูกจำคุกอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในอีกหลายคดี

อย่างไรก็ดีนายสิระ ชี้แจงว่า คดีฉ้อโกงที่ศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษาดังกล่าว ไม่มี ร.ต.อ.เขมรินทร์ หรือ พ.ต.ต.เขมรินทร์ เป็นผู้เสียหาย และเป็นโจทก์แต่อย่างใด พร้อมกับอ้างว่าลายเซ็นของพยานข้างต้นในการลงนามหลายครั้งในเอกสารของศาลไม่เหมือนกัน จึงตั้งข้อสังเกตว่าเป็นคนละคนกันหรือไม่ นอกจากนี้คดีฉ้อโกงที่ศาลแขวงปทุมวันนั้น ถูกพิพากษาจำคุกจริง แต่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกมาเพื่อจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายแล้ว จำนวน 2 แสนบาท โดยผู้เสียหายไม่ใช่พยานคนดังกล่าว

  • เผยใส่ชุดนักโทษ-โซ่ตรวนจริง โดนคุกคดีอื่นอีก 4 สำนวน

ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาพยานหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 812/2538 และหมายเลขแดงที่ 2218/2538 แล้ว เห็นว่า คดีดังกล่าวมี ร.ต.อ.เขมรินทร์ หรือ พ.ต.ต.เขมรินทร์ ร่วมลงนามในช่องร่วมกับพนักงานอัยการฝ่ายโจทก์ด้วย แม้ลายมือจะไม่เหมือนกันระหว่างดำรงยศ ร.ต.อ. เทียบกับ พ.ต.ต. แต่ระยะเวลาการลงนามต่างกัน 27 ปีเช่นนี้ หาได้เป็นข้อพิรุธว่าเป็นคนละคนตามที่กล่าวอ้างไม่ 

นอกจากนี้ในคดีฉ้อโกงข้างต้นปรากฏชื่อ พ.ต.ต.เขมรินทร์ เป็นผู้เสียหายจริง การที่ผู้ถูกร้อง (นายสิระ) อ้างว่า พ.ต.ต.เขมรินทร์ไม่เกี่ยว แต่จำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้เสียหาย จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ขาดน้ำหนักรับฟัง นอกจากนี้คำชี้แจงอื่นของนายสิระทุกข้อไม่อาจรับฟังได้ด้วย

ส่วนประเด็นที่ พ.ต.ต.เขมรินทร์ อ้างว่า พบนายสิระ ใส่ชุดต้องโทษ มีโซ่ตรวน และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯนั้น ตามหนังสือของศาลอาญาพระนครใต้ ลงวันที่ 28 มิ.ย. 2564 ที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า นายสิระ เคยต้องคำพิพากษาจำคุก รวม 4 คดี ในช่วงปี 2537-2538 คดีแรก ผิดตามฟ้อง รับสารภาพ คงจำคุก 5 เดือน คดีสอง ผิดตามฟ้อง รับสารภาพ คงจำคุก 5 เดือน คดีสาม ผิดตาม รับสารภาพ คงจำคุก 1 เดือน และคดีสี่ ผิดตามฟ้อง รับสารภาพ คงจำคุก 1 เดือน โดยให้นับโทษต่อกัน

เมื่อคำนวณโทษจำคุกทั้ง 4 คดีดังกล่าว เทียบกับช่วงเวลาที่ศาลแขวงปทุมวันนัดอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2538 ในคดีฉ้อโกงที่เป็นข้อพิพาทคดีนี้ พบว่า ผู้ถูกร้องยังต้องโทษจำคุกอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สอดคล้องกับหนังสือของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เมื่อปี 2538 ผู้ถูกร้องถูกคุมขังอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และถูกเบิกตัวมายังศาลแขวงปทุมวันเพื่อฟังคำพิพากษาคดีฉ้อโกงอันเป็นข้อพิพาทของคดีนี้

  • ข้อเท็จจริงชัด “สิระ” ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด หลุดเก้าอี้ ส.ส.

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายสิระถูกคุมขังอยู่เรือนจำพิเศษกุรงเทพฯ ในคดีของศาลอาญาพระนครใต้ 4 คดีดังกล่าว ทำให้ข้ออ้างของนายสิระที่อ้างว่า ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ และยอมความชดใช้เงินคดีฉ้อโกงดังกล่าว ขาดความน่าเชื่อถือ คำชี้แจงของนายสิระไม่เป็นความจริง

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายสิระ ถูกศาลแขวงปทุมวันพิพากษาเมื่อปี 2538 จำคุกจริง จำนวน 4 เดือน และผู้เสียหายไม่เคยยอมความ หรือถอนคำร้องทุกข์คดีอันเป็นเหตุให้ศาลแขวงปทุมวันได้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความภายในระยะเวลาอุทธรณ์ เช่นนี้คำพิพากษาดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวัน ผู้ถูกร้องจึงเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ กระทำโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา

เมื่อผู้ถูกร้องเคยถูกคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ผู้ถูกร้องจึงเป็นบุคคลมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) อันเป็นเหตุให้สมาชิกสภาพ ส.ส. ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) 

  • พ้น ส.ส.ย้อนหลังถึง 24 มี.ค.62-เลือกตั้งใหม่ใน 45 วัน

ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า เมื่อวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายสิระสิ้นสุดลงแล้ว สิ้นสุดลงนับแต่เมื่อใด เห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของ ส.ส. ที่ห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ผู้นั้นสิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว กล่าวคือ ต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มิใช่ต้องไม่มีอยู่ในขณะรับเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องไม่มีตลอดระยะเวลาที่เป็น ส.ส. ด้วย

หาก ส.ส. ผู้นั้นมีเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่บัญญัติเป็นลักษณะต้องห้ามเมื่อใด ย่อมต้องทำให้สมาชิกภาพ ส.ส. ผู้นั้นสิ้นสุดลงทันที ที่มีลักษณะต้องห้ามนั้น จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องมีลักษณะต้องห้ามตั้งแต่วันที่ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. คือวันที่ 4 ก.พ. 2562 แล้ว แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 100 บัญญัติให้สมาชิกภาพ ส.ส. เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง เช่นนี้ สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงนับแต่วันเลือกตั้ง คือวันที่ 24 มี.ค. 2562

เมื่อผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่ง ทำให้ ส.ส. เขตว่างลง ต้องตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้งแทน ส.ส. ที่ว่างลง ภายใน 45 วันแต่วันที่ตำแหน่ง ส.ส. ว่างลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102 ทำให้ถือว่าวันที่ตำแหน่ง ส.ส. ว่างลง คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังโดยชอบ คือนับแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2564