ส่องเข็มทิศการเมืองปี 65 จุดเดือด "รัฐบาล" นับถอยหลังเลือกตั้ง

ส่องเข็มทิศการเมืองปี 65 จุดเดือด "รัฐบาล" นับถอยหลังเลือกตั้ง

เปิดเข็มทิศการเมืองไทยตลอดปี 2565 กับจุดเดือด "รัฐบาล" ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ก่อนนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566

สถานการณ์ทางการเมืองในปี 2565 หลายฝ่ายคาดว่าจะกลับมาดุเดือดเข้มข้นอีกครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 โดยเฉพาะการนับถอยหลัง "ปีสุดท้าย" ในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ หากไม่มีอุบัติเหตุยุบสภา รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะหมดวาระในวันที่ 23 มี.ค.2566 

ในปี 2565 ยังมีหลายปัจจัยภายในทางการเมือง ที่เป็นปฏิทินทำงานของรัฐบาล ตั้งแต่การจัดเลือกตั้งซ่อม เลือกตั้งท้องถิ่น จัดทำงบประมาณ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึง "ปัจจัยภายนอก" ที่เคลื่อนไหวกดดันในช่วงเทอมสุดท้ายของ "รัฐบาลประยุทธ์ 2" ที่มาจากกระแสการชุมนุมที่เคลื่อนไหวมาต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

สำหรับทิศทางการเมืองในปี 2565 "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมประเด็นและความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ มีดังนี้

• การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.

เดือน ม.ค.2565 คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดวันเลือกตั้ง และวันรับสมัครรับเลือกตั้งซ่อมส.ส.จังหวัดชุมพร เขตเลือกตั้งที่ 1 และจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 แทนตำแหน่ง ส.ส.ที่ว่างลง โดยได้กำหนดให้วันและเวลาออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งทั้ง "2 เขต" พร้อมกันในวันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค.2565 เวลา 08.00-17.00 น. 

การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้พื้นที่เดิมเป็นของนายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ และนายถาวร เสนเนียม อดีตส.ส.สงขลา เขต 6 พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต้องพ้นจากการทำหน้าที่ ส.ส.จากคำพิพากษาคดีการชุมนุมเมื่อ 23 พ.ย.2556-1 พ.ค.2557

ส่องเข็มทิศการเมืองปี 65 จุดเดือด \"รัฐบาล\" นับถอยหลังเลือกตั้ง

• การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.

การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นถัดไปนั้น ถูกโฟกัสไปที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และการเลือกตั้ง ส.ก.ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2565 ภายหลังว่างเว้นการเลือกตั้งครั้งล่าสุดตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.2553 ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งใหม่ถือเป็นการทิ้งระยะห่างจัดเลือกตั้งมานาวนานกว่า 8 ปีเศษ ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2556 

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้งเหนือคู่แข็ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย

แต่ในปลายปี 2564 กระแสเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กลับมาคึกคักอีกครั้ง ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัว "ดร.เอ้" สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าสู่สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยขณะนี้มีผู้ประกาศตัวลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว 3 คนประกอบด้วย 1.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในนามอิสระ เปิดตัว 30 พ.ย.2562 2.รสนา โตสิตระกูล ในนามอิสระ เปิดตัว 13 ธ.ค.2562 และ 3.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัว 13 ธ.ค.2564

อ่านที่เกี่ยวข้อง : ส่องดีกรีระดับท็อป โปรไฟล์ "ชัชชาติ-รสนา-สุชัชวีร์" ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

ส่องเข็มทิศการเมืองปี 65 จุดเดือด \"รัฐบาล\" นับถอยหลังเลือกตั้ง

• การเลือกตั้งเมืองพัทยา

สำหรับการเลือกตั้ง "เมืองพัทยา" คาดว่าจะถูดจัดให้เลือกตั้งท้องถิ่นในลำดับสุดท้าย ซึ่งเมืองพัทยานั้น มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง อยู่ที่ 8.8 หมื่นคน มี 4 เขตเลือกตั้ง มีจำนวนหน่วยเลือกตั้ง 149 หน่วยใช้งบประมาณเลือกตั้งประมาณ 5 ล้านบาท 

• แก้ไขกฎหมายลูก 2 ฉบับเตรียมพร้อมเลือกตั้ง

การแก้รัฐธรรมนูญกฎหมายลูก 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.(ฉบับที่) .. พ.ศ.... และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่) .. พ.ศ…..  เพื่อเตรียมพร้อมนำไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ โดยห้วงเวลาในการพิจารณาในสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 6 เดือนหรือ 180 วัน จากนั้นต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องพิจารณา โดยคาดว่าประมาณ ก.ค.2565 จะเสร็จแล้วเสร็จทุกขั้น

ส่องเข็มทิศการเมืองปี 65 จุดเดือด \"รัฐบาล\" นับถอยหลังเลือกตั้ง

• เปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 

ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางของ "ฝ่ายค้าน" ในการยื่นอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายในช่วงกลางเดือน ม.ค.2665 เพื่อให้อภิปรายรัฐบาลได้ในช่วงต้นเดือน ก.พ.2565 

• เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามมาตรา 151

จะเป็นการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามมาตรา 151 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 สำหรับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนจะหมดวาระการบริหารประเทศในวันที่ 23 มี.ค.2566 ซึ่งคาดว่า "ฝ่ายค้าน" จะยื่นญัตติเพื่อให้เปิดเวทีซักฟอกได้ในช่วงเดือน พ.ค.2565 เป็นต้นไป โดยฝ่ายค้านจะใช้เวทีนี้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีอย่างเข้มข้น เพื่อชิงคะแนนความนิยมก่อนจะนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 

ส่องเข็มทิศการเมืองปี 65 จุดเดือด \"รัฐบาล\" นับถอยหลังเลือกตั้ง

• ยื่นตีความ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี

เป็นข้อกฎหมายเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ที่มีปัญหาตีความว่า จะเริ่มนับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2557 หรือเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ ซึ่งกรณีนี้ "ฝ่ายค้าน" กำลังหารือเพื่อเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ครบ 8 ปีหรือไม่ ซึ่งฝ่ายค้านระบุจะครบกำหนด 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค.2565 

• จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566

การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จะเป็นภารกิจจัดทำงบประมาณในครั้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธุ์ ก่อนเสร็จสิ้นวาระบริหารประเทศครบ 4 ปีในวันที่ 23 มี.ค.2566 โดยที่ผ่านมางบประมาณรายจ่ายประจำตั้งแต่รัฐบาล คสช.ถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีดังนี้

ปี 2558 : 2,575,000 ล้านบาท

ปี 2559 : 2,776,000 ล้านบาท

ปี 2560 : 2,930,000 ล้านบาท

ปี 2561 : 3,050,000 ล้านบาท

ปี 2562 : 3,000,000 ล้านบาท

ปี 2563 : 3,200,000 ล้านบาท

ปี 2564 : 3,300,000 ล้านบาท 

ปี 2565 : 3,100,000 ล้านบาท

ปี 2566 : ????

• สถานการณ์ชุมนุมประท้วงในปี 65 

การชุมนุมประท้วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธุ์ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่กลางปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงในปี 2564 ถึงแม้ขณะนี้แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีคดีความมากมาย อาทิ มาตรา 112 มาตรา 116 โดยเฉพาะภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ม็อบชุมนุม 10 ส.ค.2553 ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้ขณะนี้ยังต้องประเมินสถานการณ์ตลอดปี 2565 จะมีภาพใหญ่การชุมนุมเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่ 

ส่องเข็มทิศการเมืองปี 65 จุดเดือด \"รัฐบาล\" นับถอยหลังเลือกตั้ง

• เปิดตัวพรรคการเมือง-นโยบาย-ผู้สมัคร-การย้ายพรรค เตรียมพร้อมเลือกตั้งใหญ่

วาระการบริหารประเทศรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะสิ้นสุดวันที่ 23 มี.ค.2566 ทำให้ตลอดปี 2564 ข้ามไปถึงปี 2565 ได้เห็นการเปิดตัวพรรคการเมืองหน้าใหม่ การเปิดนโยบายหาเสียง การเปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือการย้ายพรรคของนักการเมือง เพื่อนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 

ส่องเข็มทิศการเมืองปี 65 จุดเดือด \"รัฐบาล\" นับถอยหลังเลือกตั้ง

ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้สรุปตัวเลขจำนวนพรรคการเมืองที่ "ยังดำเนินการอยู่" จากข้อมูลล่าสุดวันที่ 15 พ.ย.2564 มีทั้งหมด 85 พรรคการเมือง โดยพรรคไทยสร้างสรรค์ เป็นพรรคล่าสุดที่ยื่นจดแจ้งเป็นพรรคการเมืองกับ กกต.เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2564