เปิดใจ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” - “ผู้ว่าฯกทม.” สนามสุดท้ายในการเมือง

เปิดใจ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” - “ผู้ว่าฯกทม.” สนามสุดท้ายในการเมือง

“ถ้าจบเท่านี้ก็พอแล้ว ให้คนรุ่นใหม่มาทำ เราก็มูฟออนไป… หยุดแค่นี้ ไปทำอย่างอื่น ทำธุรกิจอะไรก็ได้ สอนหนังสือก็ได้ ก็คงไม่อยากทำการเมืองใหญ่"… ชัชชาติ

แม้ยังไม่รู้ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ผลสำรวจของนิด้าโพล 8 ครั้ง รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ได้อันดับ 1 ติดต่อกัน 4 ครั้งซ้อน รายการ “สุดกับหมาแก่” เนชั่นทีวี โดยดนัย เอกมหาสวัสดิ์ เปิดใจ “ชัชชาติ” อย่างเจาะลึก ถึงการสู้ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้

เปิดด้วยคำถามถึงการบริหารกระแส ที่แม้จะเปิดตัวมาประมาณ 2 ปี แต่กระแสยังดีไม่มีตก ชัชชาติ อธิบายว่า การทำโพลล์ของนิด้าทุกเดือน ซึ่งชื่อของตนเองติดมาตลอด จึงทำให้ยังอยู่ในกระแส ไม่ได้มีการบริหารเรื่องกระแสเอง ขณะที่ทีมงาน “เพื่อนชัชชาติ” ก็ยังทำงานอยู่ตลอดทั้ง 50 เขต ซึ่งเป็นทีมงานกลุ่มอาสาสมัคร เราลงอิสระ จึงไม่มีทีมจัดตั้งที่เข้มแข็งมาก มีแต่ทีมคนรุ่นใหม่ นักวิชาการ

สำหรับการทำพื้นที่ ชัชชาติอธิบายว่า มีการทำงาน 2 ด้านคู่ขนานกัน คือเชิงพื้นที่ กับเชิงปัญหา ซึ่งมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างหลังอาจจะยังไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะยังไม่ถึงเวลาลงรายละเอียด เรามีฟังก์ชั่น 14 ด้าน เช่น จราจร เหลื่อมล้ำ สาธารณสุข การศึกษาฯ มีทีมงานที่ประชุมทุกอาทิตย์ พยายามพัฒนานโยบาย ทำให้มันตกผลึก เพราะยังไม่รู้จะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่ แต่พอลากยาวไป ก็ยังมีข้อดี มีเวลาคิดให้ละเอียด ระดมสมองจากหลายกลุ่ม และไปทดสอบว่าแนวคิดนี้มันถูกต้องไหม

ผู้ดำเนินรายการถามต่อว่า ได้จัดทีมลงสมัคร ส.ก.ครั้งนี้ด้วยหรือไม่ มียุทธศาสตร์อย่างไร ชัชชาติ ระบุว่า ตอนนี้มีทีมกลุ่มเพื่อนชัชชาติทุกเขต ส่วนจะส่งหรือไม่ ต้องให้ทีมตัดสินใจ เรามีคน มีทีมพร้อมจะลง ซึ่งต้องดูเงื่อนเวลา และอย่างอื่นประกอบ เพราะ ส.ก. เป็นสิ่งที่แยกจากผู้ว่าฯ กทม. มีคนอยากลงเยอะ ทั้งอดีต ส.ข. คนที่เคยลงแล้วสอบไม่ได้ แต่ตัวบุคคลไม่ใช่ประเด็น ต้องดูแง่ยุทธศาสตร์ ให้ทีมตัดสินใจ

เมื่อถามว่า จะเปิดตัวทีมรองผู้ว่าฯ หรือไม่ เมื่อไหร่ ชัชชาติ กล่าว ทีมรองผู้ว่าฯยังไม่มีการกำหนดตัวบุคคล ยังเป็นรูปแบบคณะทำงานวิชาการ ที่ทำงานร่วมกัน “ก็มีคนในกลุ่ม มองไว้เยอะ ยังไม่สรุป รอก่อนได้ เราจะเห็นเป็นทีม ก็มีทีมที่เป็นผู้นำประมาณ 20คน เปิดทีหลังได้ ไม่จำเป็นต้องสรุปก่อน จะมีความยืดหยุ่นกว่า”

"บางทีนักธุรกิจเก่งๆ ไม่อยากมาเกี่ยวข้องเลือกตั้ง จึงเป็นเหตุให้หลายคนไม่อยากเปิดตัวก่อนเลือก “การเมืองอาจจะไม่เหมาะกับทุกคน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ต้องให้เกียรติคนที่มาทำงานให้ ต้องดูว่าจังหวะไหนเหมาะกับการเปิดตัวของแต่ละคน” ชัชชาติ ระบุ

เมื่อถามถึงภาพจำ ว่าเป็นคนของพรรคเพื่อไทย จะแก้จุดนี้อย่างไร ชัชชาติ กล่าวว่า คงปฏิเสธไม่ได้ เพราะตนเริ่มการเมืองที่พรรคเพื่อไทย แต่หลังจากออกจากพรรคเมื่อ ต.ค 2562 ไม่เคยเข้าไปอีก ไม่เคยใช้ทรัพยากรของพรรค ยังไม่เคยติดต่อท่านหัวหน้าพรรค นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว คนปัจจุบัน ตนก็จะใช้การพูดความจริง เพื่อพิสูจน์ตัวเอง การถูกกล่าวหาก็ต้องสร้างความไว้วางใจ แม้เรื่องนี้จะเป็นเครื่องหมายคำถามติดตัวไปตลอด แต่อยากให้ดูจากสิ่งที่ตนทำ

ต่อข้อถามว่า ช่วงหาเสียงที่อาจถูกขุดประวัติการเมือง เตรียมรับสถานการณ์อย่างไร เขากล่าวว่า ต้องพูดความจริง เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ถ้าเรามีมุมมองใหม่ก็ชี้แจงไป แต่ถ้ายังคิดหมือนเดิม ก็ยืนยันคำพูดเดิม คิดว่าการเมืองท้องถิ่นเป็นอีกระดับ ตนเน้นการทำงานแก้ปัญหาเมืองมากกว่า ไม่ใช่เชิงระดับประเทศ ที่อยากมาทำเพราะสโคปท้องถิ่นไม่โหดร้ายเหมือนการเมืองใหญ่ น่าจะทำได้ดี

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ จะถูกโยงไปพันกับพรรคเพื่อไทย แล้วเอาเพื่อไทยไปพันกับเรื่องล้มเจ้า ชัชชาติ กล่าวว่า คาดว่าคงมีคนเอาไปผูก แต่เราต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน เอาความจริงมาพูด ต้องทำงานๆๆ แก้เท่าที่ทำได้ การเมืองบางทีก็น่ากลัว ทำให้หลายคนไม่กล้าเข้ามา อาจมีคนเข้ามาแล้วหมดกำลังใจ แต่ต้องสู้ ทุกคนก็เจอได้ ทั้งที่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ กทม.

ผู้ดำเนินรายการตั้งคำถาม ถึงการลากยาวทางการเมือง ไม่กำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ใครได้ใครเสีย เป็นบวกหรือลบต่อชัชชาติ เจ้าตัววิเคราะห์ว่า “ในแง่นี้ มีทั้งบวกและลบ ผมไม่เจาะจงถึงใคร ถ้าสร้างผลงานดี ก็คะแนนบวก ถ้าผลงานไม่ดี คนรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ก็เป็นสิ่งที่น่ากังวล อาจเป็นด้านลบมากกว่า” 

"ต้องอย่าประมาทคนรุ่นใหม่ เพราะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเพิ่มทุกปี เฉพาะในกทม.ต่อปี 6-7 หมื่นคน แล้ว 8 ปีไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯเลย นิวโหวตเตอร์เพิ่มประมาณ 5 แสนคน ครั้งหลังสุด (ม.ร.ว.สุขุมพันธ์-พล.ต.อ.พงศพัศ) แพ้ชนะห่างกัน 2 แสนคะแนน ฉะนั้นคนรุ่นใหม่จะเป็นตัวเปลี่ยนเกม ยิ่งดึงเวลา คนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งก็มีเพิ่มมากขึ้น ดึงไปอาจไม่ได้ประโยชน์กับคนมีอำนาจในปัจจุบัน เห็นได้จากเลือกตั้งหลายๆ ท้องถิ่น"

และอีกมุม เขาเห็นว่า ยิ่งลากยาว คนคงอยากเลือกตั้งมากขึ้น เพราะอัดอั้น แรงกดดันตรงนี้ อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ

เมื่อถามอีกว่า อ่านใจคน กทม.คาดหวังอะไร ชัชชาติ มองว่า ความคาดหวังของคนอย่างแรกคนอัดอั้น เห็นได้จากท้องถิ่นไม่ได้เลือกตั้งนาน คนก็รอออกไปเลือก ซึ่งคะแนนเสียงจากเดิมอาจเปลี่ยนไป เพราะคนรุ่นใหม่ออกมา ชาวบ้านก็คงอยากเห็นปัญหาใกล้ตัวได้รับการแก้ไข ฉะนั้นถ้าทำสำรวจ ก็ต้องมีโจทย์ มีคำตอบที่ถูกใจ ต้องหานโยบายที่โดนใจ ในระดับชีวิตจริงของชาวบ้าน

เมื่อถามถึงกระแสการเมืองระดับชาติ มีผลในการกำหนดผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ ชัชชาติ ระบุว่า
แน่นอน เท่าที่ดูบางทีคนไม่ชอบรัฐบาล เบื่อรัฐบาลก็อาจไปสะท้อนกับผู้ว่าฯกทม. ความรู้สึกคนเป็นหนึ่งเดียวบางทีก็แยกไม่ออกว่ากำลังเลือกผู้ว่ฯ หรือดูการเมืองใหญ่อยู่ อารมณ์ความรู้สึกวันที่ลงคะแนนด้วย ค่อนข้างละเอียดอ่อน มีหลายปัจจัย”

ต่อข้อถามว่า ผู้สมัครพรรคก้าวไกล กับชัชชาติ จะตัดคะแนนขนาดกันนั้น ทีมวิเคราะห์กันอย่างไร ชัชชาติ กล่าวว่า ก้าวไกลคงได้คะแนนคนรุ่นใหม่ ผลงานในสภาก็ทำได้ดี แต่หัวใจการเลือกตั้ง คือการมีตัวเลือกเยอะๆ เรื่องตัดคะแนนนั้น ยังไม่เคยทำโพลของเราเอง แต่ปกติทุกคนก็คะแนนตัดกันเอง อย่างประชาธิปัตย์ กับพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาล ก็ไม่กังวลมาก

เมื่อถามต่อว่า เมื่อเทียบกับก้าวไกลจะมีอะไรขายคนรุ่นใหม่ ชัชชาติ ระบุว่า คีย์เวิร์ดเลือกตั้งเราคือ เรื่องความไว้วางใจ (ทรัสต์) สุดท้ายประชาชนจะเชื่อใครที่ทำตามนโยบาย ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น เราต้องสร้าง ต้องแข่งตรงนี้ มีนโยบายที่เป็นไปได้ ชัดเจน เราแข่งที่เนื้อหา เราไม่ต่อว่าใคร แล้วให้ประชาชนตัดสิน

เมื่อถามว่า หากแพ้เลือกตั้งไปไม่ถึงฝัน ชีวิตจะเดินเส้นทางใดต่อ  ชัชชาติ กล่าวว่า ทางเลือกมีเยอะ ตนอยากทำสตาร์ทอัพ อยากทำเกษตร เลือกตั้งผู้ว่าฯ นี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ตอนนี้จึงโฟกัสเรื่องนี้ก่อน เมื่อเราเสนอทางเลือก ถ้าประชาชนไม่เอา ก็มีทางอื่นไป

ต่อข้อถามว่า ถ้าไม่ได้ จะอยู่กับงานการเมืองต่อหรือไม่ หรือจบทางการเมือง ชัชชาติ ระบุว่า "ถ้าจบเท่านี้ก็พอแล้ว ให้คนรุ่นใหม่มาทำ เราก็มูฟออนไป"

เมื่อถามย้ำว่า ไม่กลับไปพรรคเพื่อไทยหรือ ชัชชาติ ยืนยันหนักแน่นว่า "หยุดแค่นี้ ไปทำอย่างอื่น ทำธุรกิจอะไรก็ได้ สอนหนังสือก็ได้ ถ้ามันจบ ก็คงไม่อยากทำการเมืองใหญ่" 

คำถามย้ำสุดท้าย ถ้าแพ้ก็คือออกจากการเมือง คำตอบหนักแน่นของเขาคือ “ครับ”