“เพื่อไทย”ไม่ส่งผู้สมัครชิงผู้ว่าฯกทม.-อ้าง“ชัชชาติ”ไม่ยอมมาพรรค

“เพื่อไทย”ไม่ส่งผู้สมัครชิงผู้ว่าฯกทม.-อ้าง“ชัชชาติ”ไม่ยอมมาพรรค

“เพื่อไทย”ไม่ส่งผู้สมัครชิงผู้ว่าฯกทม.-อ้าง“ชัชชาติ”ไม่ยอมมาพรรค ระบุมีตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตยแล้ว ส่วนสนาม ส.ก. ส่งผู้สมัครลงทุกเขต

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการส่งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรคเพื่อไทยว่า ได้ประชุมปรึกษาหารือเป็นที่เรียบร้อยจนได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า การส่งตัวผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. จะคำนึงถึงผลประโยชน์สุดของประชาชน โดยเฉพาะการประชาธิปไตยที่จะมีบทบาทในการชนะการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยพิจารณาอย่างรอบคอบว่า ขณะนี้มีเสมือนตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตยที่อาสาลงสมัครผู้ว่าฯกทม.อยู่แล้ว ก็ตรงกับเจตนารมณ์ของเรา ในการส่งเสริมฝ่ายประชาธิปไตย

"ถ้าตัดสินใจส่งผู้สมัครในนามของพรรค วัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งอาจจะมีปัญหาในการตัดคะแนนกัน ส่วนสนาม ส.ก. จะส่งผู้สมัครในนามของพรรค ทุกเขต มีข้อสรุปชัดเจนว่า จะไม่ส่งตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ในการแข่งขันผู้ว่าฯกทม. เนื่องจากเราต้องการส่งเสริมคนที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง" นพ.ชลน่าน กล่าว
 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ส่วนจะประกาศสนับสนุนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. สังกัดอิสระ หรือไม่นั้น ที่ประกาศตัวว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ทั้ง 3 ท่าน ชัดเจนอยู่แล้ว แต่การจะประกาศสนับสนุนอย่างเป็นทางการต้องรอจังหวะ โอกาส และเวลาที่เหมาะสม เพราะว่ามีผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะตัวผู้สมัครเอง แต่เรายินดีใช้กลไกของพวกเราสนับสนุนผู้สมัครที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย หากพรรคการเมืองอื่นที่เป็นประชาธิปไตยจะส่งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ก็เป็นหนึ่งข้อในการพิจารณา แต่ก็ต้องมองว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่าว่า เหตุใดนายชัชชาติ ไม่มาลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องไปถามนายชัชชาติ จะดีกว่า อยากให้เขามาพรรคเรา แต่อาจจะมีเหตุผลที่ลงในนามอิสระว่าฐานคะแนนจะมีคะแนนมากกว่า คงตอบแทนไม่ได้

เมื่อถามว่า จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เมื่อไหร่นั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จากคำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม บอกว่า กลางปี 65 ซึ่งช้ามาก ปกติเมื่อมีการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้วเสร็จจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ภายใน 3 เดือน หากมากกว่านั้น จะมีเงื่อนไขแฝงเร้นอะไรอีกหรือไม่ 
 

ส่วนจะแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งโดยให้ส.ส.เข้ามาส่วนร่วมในการสนับสนุนการหาเสียงหรือไม่ ยังไม่เห็นภาพนั้นๆ แต่อำนาจอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะรัฐมนตรี เมื่อเขาตัดสินใจว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ ต้องมองว่าจะได้หรือเสียมากกว่า เหมือนกับการเลือกตั้งท้องถิ่น

นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงการเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ จ.ชุมพร และ จ.สงขลา ว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้อาจจะอยู่ไม่ได้นาน ผู้สมัครไม่ได้เตรียมไว้ และเรื่องกลไกการทำงานในพื้นที่ จะทำให้เราขาดโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งน้อย การเลือกตั้งซ่อมเป็นการเลือกตั้งที่ใช้กลไกลไม่ปกติ แต่ไม่ได้ไปกล่าวหาใคร มันไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย ชัยชนะที่ได้มาแต่ละครั้งมันมีกลไกอื่นๆ เข้ามามาสนับสนุนเอื้อผู้ที่มีโอกาสที่ได้รับชนะ ส่วนใหญ่ก็เป็นฟากฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งอำนาจรัฐ อำนาจเงิน และอำนาจการจัดการต่างๆ เราเตรียมกำลังประกาศสู่ศึกเลือกตั้งครั้งใหญ่น่าจะดีกว่า