กทม.ตั้งโต๊ะแจงปม “คลองช่องนนทรี” ปัดเอื้อเอกชน-ใช้งบกลางตามข้อบัญญัติฯ

กทม.ตั้งโต๊ะแจงปม “คลองช่องนนทรี” ปัดเอื้อเอกชน-ใช้งบกลางตามข้อบัญญัติฯ

คณะผู้บริหาร กทม.ตั้งโต๊ะเคลียร์ทุกเงื่อนปมโครงการ “คลองช่องนนทรี” วงเงิน 980 ล้านบาท แบ่ง 5 เฟส 1-2 ใช้งบกลาง เป็นไปตามข้อบัญญัติฯ สภา กทม.อนุมัติงบปกติเฟส 3-5 ปี 65 แล้ว ปัดเขียน TOR เอื้อเอกชน รับออกแบบฟรีจริง ไม่ได้คิดว่าต้องได้ค่าตอบแทนเป็นสิ่งแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2564 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 1 โดยมี ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (โฆษก กทม.) นางสุธาทิพย์ สนเอี่ยม รองปลัด กทม. พร้อมด้วยผู้บริหารใน กทม. ได้แก่ รอง ผอ.สำนักโยธา ผอ.สำนักจราจรและขนส่ง ผอ.สำนักวางผังและพัฒนาเมือง และ ผอ.สำนักระบายน้ำ และที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว ร่วมชี้แจงทำความเข้าใจประเด็นโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ “คลองช่องนนทรี” 

นางสุธาทิพย์ สนเอี่ยม รองปลัด กทม. ตอบคำถามถึงกรณีที่ประชุมสภา กทม. ไม่อนุมัติการโอนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการปรับภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี เมื่อต้นปี 2564 กระทั่งมีการใช้ “งบกลาง” ดำเนินการในโครงการเฟส 1 และเฟส 2 ว่า กรณีสภา กทม. ไม่อนุมัติการเห็นชอบการโอนงบประมาณดังกล่าว ต้องชี้แจงว่าที่ผ่านมาสภา กทม. ไม่ค่อยพิจารณาการขอโอนงบให้แก่สำนักต่าง ๆ ใน กทม. เพราะปกติจะให้ดำเนินการจากงบประมาณที่อนุมัติไว้แล้ว ตามข้อบัญญัติรายจ่ายประจำปีงบประมาณของ กทม. อย่างไรก็ดีในข้อบัญญัติฯดังกล่าว จะมีการวางงบกลางไว้ และสภา กทม.เล็งเห็นว่า หาก กทม.จะดำเนินโครงการอะไร ควรจะไปดูจากยอดงบกลางส่วนนั้นก่อน

กทม.ตั้งโต๊ะแจงปม “คลองช่องนนทรี” ปัดเอื้อเอกชน-ใช้งบกลางตามข้อบัญญัติฯ

นางสุธาทิพย์ กล่าวอีกว่า โดยการใช้งบกลางดำเนินโครงการปรับภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีนั้น ใช้ 2 ส่วนจาก 5 ส่วน คือ เฟส 1 วงเงิน 80 ล้านบาท (ราคากลาง 79.9 ล้านบาท) และเฟส 2 วงเงิน 80 ล้านบาท (ราคากลาง 79.7 ล้านบาท) ส่วนเฟส 3-5 จะใช้งบประมาณจากข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่สภา กทม.ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว ทั้งนี้การดำเนินโครงการโดยใช้งบกลางนั้น สามารถทำได้เพราะในข้อบัญญัติฯมีการระบุหลักเกณฑ์ของงบกลางว่า กรณีเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนา กทม. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีจึงใช้งบกลางจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวดำเนินการ โดยการใช้งบนี้ จะต้องผ่านคณะกรรมการจัดสรร ที่มีรองผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธาน และมีสำนักงบประมาณ กทม.เป็นเลขานุการ เพื่อพิจารณา และมีหลักเกณฑ์ว่าเงินจำนวนนี้ใช้ได้หรือไม่ ซึ่งในส่วนการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีดังกล่าว ผ่านการพิจารณาและได้รับการจัดสรรงบกลางส่วนนี้

ส่วนนายธนกร ไชยศรี ผอ.สำนักงบประมาณ กทม. กล่าวว่า กรณีสภา กทม.ไม่อนุมัติการเห็นชอบโอนงบประมาณมาปรับปรุงคลองช่องนนทรี เพราะการโอนงบประมาณต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ แต่การขอโอนงบดังกล่าวสภา กทม.เห็นว่า ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิม จึงให้ใช้งบกลางดำเนินการ อย่างไรก็ตามในส่วนโครงการเฟส 3-5 ได้เสนอแก่สภา กทม. เพื่อพิจารณาในงบประมาณปี 2565 และได้รับการอนุมัติทั้งหมดแล้ว

  • ปัดเขียน TOR เอื้อเอกชน

เมื่อถามว่า กรณีการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงคลองช่องนนทรีเฟส 2 ที่มีเอกชนผู้ชนะเสนอราคาเพียงรายเดียว 79 ล้านบาทถ้วน ต่ำกว่าราคากลาง 7 แสนบาท อาจถูกมองว่าเป็นการเขียน TOR เอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางรายเป็นผู้ชนะหรือไม่ รอง ผอ.สำนักโยธา กทม. กล่าวว่า การประมูลดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ e-Bidding เมื่อดูจากเงื่อนไขการประมูล มีผู้ยื่นซองเพียงรายเดียว และผ่านคุณสมบัติ แต่ข้อเท็จจริงทุกคนมีสิทธิ์ซื้อซองหรือยื่นซอง ต้องสังเกตว่าในช่วงการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงคลองช่องนนทรีเฟส 1 นั้น ไม่มีใครมายื่นเสนอราคาเลย เพราะอาจไม่ผ่านเงื่อนไข ยืนยันว่าการประมูลระมัดระวังอย่างมาก กระบวนการคำนวณราคากลางปฏิบัติตามระเบียบราคากลางของกรมบัญชีกลางเคร่งครัด ทุกอย่างเปิดเผยได้หมด

กทม.ตั้งโต๊ะแจงปม “คลองช่องนนทรี” ปัดเอื้อเอกชน-ใช้งบกลางตามข้อบัญญัติฯ

  • รับออกแบบฟรีจริง ไม่ได้คิดว่าต้องได้ค่าตอบแทนเป็นสิ่งแรก

เมื่อถามว่า กรณี น.ส.กชกร วรอาคม ที่ปรึกษาออกแบบโครงการปรับปรุงคลองช่องนนทรีให้ฟรีนั้น ก่อนหน้านี้บริษัทของตัวเองเคยชนะการประมูลจ้างออกแบบปรับปรุงสวนลุมพินีในวาระครบรอบ 100 ปี วงเงิน 49 ล้านบาทของ กทม. ทำไมถึงมาออกแบบโครงการคลองช่องนนทรีให้ฟรีนั้น น.ส.กชกร กล่าวว่า เคยทำงานกับ กทม.มาหลักสิบปี ช่วย กทม.ผ่านสมาคมสถาปนิก เคยทำงานร่วมกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้คิดว่าค่าตอบแทนคือสิ่งแรกที่จะมาทำงานตรงนี้ เพราะเป็นเรื่องยากในการเปลี่ยนเมือง โครงการนี้เป็นโครงการแรกที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ก่อนหน้านี้เคยทำมาหลายโครงการกับ กทม. ทำมาหลายปี ไม่ได้รู้สึกว่า กทม.ต้องมาจ่ายเงินอะไรให้เรา วันแรกที่ทำงาน หรือรูปแบบไหนก็ตาม 

น.ส.กชกร กล่าวอีกว่า ส่วนการประกวดออกแบบปรับปรุงสวนลุมพินีครบรอบ 100 ปีนั้น เป็นการชนะประกวดแบบปกติ ถ้า กทม. หรือหน่วยงานรัฐใด ๆ ที่เปิดโครงการพื้นที่สีเขียว เราก็เข้าประกวดอย่างถูกต้อง และไม่ได้คิดว่าความสามารถเราจะน้อยกว่าทีมอื่น ๆ มีการแข่งขันกันเต็มที่

“รู้สึกว่าในฐานะประชาชนคือ ไม่ไหวแล้ว เรียนเรื่องเมืองมา เรื่องการออกแบบสิ่งแวดล้อม ถ้าทุกอันที่จะต้องทำ ต้องได้สตางค์ อาจไม่มีมิติในการคิดอย่างนั้น ต้องทำให้คนรู้จักเราก่อน ทำให้โลกรู้จักเราว่า เราไม่ได้มีหน้าที่อย่างที่หลายคนเข้าใจว่าแค่จัดสวน” น.ส.กชกร กล่าว

  • ทุกภาคส่วนช่วยกันอยู่แล้ว ไม่ต้องเปิดประกวดราคาออกแบบ

ส่วนประเด็นทำไมถึงไม่มีการเปิดประกวดราคาว่าจ้างการออกแบบนั้น รอง ผอ.สำนักการโยธา กล่าวว่า เรื่องนี้มีหลายภาคส่วนทำงานร่วมกัน เราเดินแบบมา ทำโชว์ ร่วมกันออกแบบ สำรวจความเห็นประชาชน แต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 อยากจัดสถานที่ปิดแต่ทำไม่ได้ เงื่อนไขไม่เอื้ออำนวย จึงให้ประชาชนร่วมกันติดโพสต์อิทไว้ และมีการรวบรวมโพสต์อิทดังกล่าว พบว่ามีประชาชนกว่า 90% เห็นด้วยกับโครงการ เดินทางมาถูกทาง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการไปจ้างออกแบบอะไร นอกจากนี้การประกวดแบบ กทม.พิจารณาได้ว่า มีผลการศึกษามากพอดำเนินการได้ หลายโครงการมีภาคประชาสังคมมาช่วยเยอะ เช่น การสร้างสวนลอยฟ้า สะพานเขียว เป็นต้น ไม่ได้มีการประกวดออกแบบ มีภาคประชาสังคมมาช่วยกันหมดเลย โครงการคลองช่องนนทรีก็เช่นกัน