งบ 980 ล้านบาทใช้ “จิตอาสา” ออกแบบ! “อัศวิน” เบี้ยวแจงโครงการ “คลองช่องนนทรี” รอบ 2

งบ 980 ล้านบาทใช้ “จิตอาสา” ออกแบบ! “อัศวิน” เบี้ยวแจงโครงการ “คลองช่องนนทรี” รอบ 2

“อัศวิน” เบี้ยวอีกรอบ! ส่ง 2 รอง ผอ.สำนักการโยธา-ระบายน้ำ แจง “อนุ กมธ.” ปมปรับปรุงภูมิทัศน์ “คลองช่องนนทรี” 98 ล้านบาท ใช้งบกลาง กทม. 79 ล้านบาท พบโครงการเฉียดพันล้านไร้ “ผู้ออกแบบ” อ้างใช้ “จิตอาสา” ส่วนงานวิศวกรรมใช้หน่วยงานภายในทำได้

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ทีมโฆษกพรรคก้าวไกลเผยแพร่ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 คณะอนุกรรมาธิการ (อนุ กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล เป็นประธาน ทำหนังสือเชิญ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เข้าชี้แจงรายละเอียดโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี งบประมาณรวม 980 ล้านบาท โดยใช้งบกลางของ กทม. อย่างน้อย 79 ล้านบาท ก่อสร้างช่วงแรก กำหนดเปิดภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2564 

สำหรับครั้งนี้เป็นการเชิญ ครั้งที่ 2 เนื่องจากการประชุมในครั้งแรก หน่วยงานที่มาชี้แจงแทนยังไม่สามารถตอบคำถามได้ครบถ้วน จึงจำเป็นต้องให้หัวหน้าโครงการมาเป็นผู้ชี้แจงด้วยตัวเอง แต่ พล.ต.อ.อัศวิน ในฐานะหัวหน้าโครงการยังคงไม่มาตอบคำถามด้วยตนเอง โดยมอบหมาย นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. และนายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำ  กทม. มาชี้แจงแทน

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งก่อนมีมติที่ประชุมว่า เพื่อเป็นการประหยัดเวลา ให้เวลาสองสัปดาห์แก่หน่วยงานตัวแทนจาก กทม.ตอบ 7 คำถามหลัก เป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า ได้แก่ 1. จุดประสงค์ของการดำเนินโครงการนี้คืออะไร 2. จะยังมีฟังก์ชันเป็นแก้มลิงป้องกันน้ำท่วมอยู่หรือไม่ 3. ประชาชนจะเข้าถึงสวนอย่างปลอดภัยอย่างไรและจะให้เกิดความติดขัดของการจราจรหรือไม่ 4. จะบำบัดน้ำเสียในคลองช่องนนทรีอย่างไร 5. ทำไมถึงต้องเร่งรีบทำโครงการในช่วงใกล้จะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 6. ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้านแล้วหรือไม่ 7. การจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสแค่ไหน ทำไมถึงเป็นเจ้าเดียวกันหมดในการออกแบบโครงการพัฒนาภูมิทัศน์ของ กทม. พร้อมกับให้ส่งข้อมูลเอกสารประกอบ เช่น  รายละเอียดสัญญา TOR  รายละเอียดงานระบบวิศวกรรม การคำนวณและแนวทางบำบัดน้ำ การดูแลรักษาระบบระยะยาว ระบบติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ผลการศึกษาแบบจำลองการจราจร ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ทาง กทม. ไม่ได้ส่งคำตอบและเอกสารประกอบแก่ อนุ กมธ.  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น อนุ กมธ. จึงขอให้ตอบเท่าที่ตอบได้ แต่พบว่าคำตอบส่วนใหญ่ยังวกวนไม่ชัดเจน และเป็นงานในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ไม่ใช่งานภายใต้โครงการช่องนนทรี รวมถึงไม่สามารถยืนยันความสำเร็จของโครงการในการแก้ปัญหาได้ หลายประเด็นเมื่อถูกบี้หนัก จึงยอมรับว่ายังไม่มีการศึกษาหรือศึกษาไม่แล้วเสร็จแต่ทำโครงการไปก่อน เช่น ยังตอบไม่ได้ว่าการเพิ่มทางม้าลายเพื่อเข้าไปใช้งานสวนสาธารณะกับปัญหาการจราจรที่จะตามมา เนื่องจากพื้นที่เป็นจุดที่มีการจราจรแออัดจะแก้อย่างไร เพราะโครงการไม่มีแบบจำลองการจราจร 

หลังจากนั้นอนุ กมธ.ถามประเด็นการบำบัดน้ำเสียในคลองช่องนนทรี ให้จะเป็นไปได้อย่างไร โดยตัวแทนสำนักระบายน้ำ ชี้แจงว่า สามารถทำให้น้ำสะอาดปลอดภัยแค่ไหนก็ได้เพราะเทคโนโลยีไปถึง แต่ต้องใช้งบประมาณ ทว่างบนี้ไม่มีอยู่ในงบประมาณของโครงการคลองช่องนนทรี 

ทำให้ นายธีระ วงศ์สมุทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะอนุ กมธ. กล่าวว่า สิ่งที่ทางอนุ กมธ. ห่วงมากสุดคือ เรื่องน้ำเสีย เพราะโครงการจะเป็นพื้นที่ ที่คนเข้าไปใช้งานใกล้ชิด ดังนั้น แค่ กทม. ยืนยันโดยวิชาชีพ และรับรองได้ว่า น้ำในคลองช่องนนทรีจะไม่เสียหลังมีโครงการนี้ก็พอ แต่ปัญหาที่ทางหน่วยงานต้องตอบคำถามต่าง ๆ ยืดยาวเป็นเพราะ กทม. ไม่ได้ศึกษามาก่อน จึงมีแต่คำตอบว่าจะไปดู จะไปปรับปรุงไม่จบไม่สิ้น ดังนั้น กทม.จะยืนยันเรื่องนี้ได้หรือไม่ 

นอกจากนี้อนุ กมธ. ยังถามถึงประเด็นโครงการใหญ่ขนาดนี้กลับไม่มีผู้ออกแบบ ทั้งที่เป็นหัวใจของโครงการขนาดใหญ่จะต้องมีสถาปนิกและวิศวกรเซ็น และต้องเป็นผู้มาตอบคำถามเชิงเทคนิคทั้งหมดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญญา การจราจร หรือการบำบัดน้ำ แต่กลับไม่มีใครแสดงตัวต่ออนุ กมธ. โดยอ้างว่าใช้วิธีจิตอาสา มีหลายหน่วยช่วยกันทำ ส่วนงานวิศวกรรมสามารถใช้หน่วยงานภายในของ กทม.ทำเองได้  

นอกจากนี้ ยังมีคำถามว่า เอางบกลางมาใช้ได้อย่างไร เพราะแม้จะเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. แต่มีข้อกำหนดการใช้งบกลางว่า ต้องเรื่องจำเป็นเร่งด่วน หรือเป็นเรื่องที่ถ้าไม่ดำเนินการก่อให้เกิดความเสียหายต่อพี่น้องประชาชน โครงการนี้เข้าข่ายอย่างไร โดยนายจิระเดช ตอบว่า ตรงนี้มีคณะกรรมการพิจารณาตนจึงตอบแทนไม่ได้ แต่ก็อย่างที่รับทราบกัน เขาอาจจะเห็นว่ามีน้ำเน่าเหม็นอยู่ก็ได้

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเวลามีจำกัดและมีการเรียกชี้แจงจาก กทม. ในเรื่องนี้มา 2 ครั้งแล้ว แต่เมื่ออนุ กมธ.ยังมีข้อสงสัยต่อโครงการนี้อีกมาก นายสุรเชษฐ์ ในฐานะประธาน จึงหารือที่ประชุมและมีมติให้ ทาง กทม. กลับไปชี้แจงมาเป็นลายลักษณ์อักษรและส่งเอกสารตามที่อนุ กมธ.ขอไว้อีกครั้ง และจะพิจารณาจากข้อมูลที่ได้รับว่าเพียงพอแล้ว หรือจำเป็นต้องมีการเชิญมาชี้แจงอีก และยืนยันว่าเรื่องนี้จะมีความชัดเจนกว่านี้ก็ต่อเมื่อ พล.ต.อ.อัศวิน ในฐานะหัวหน้าโครงการมาชี้แจงด้วยตนเอง

“ขอให้หน่วยงานส่งเอกสารตามมติอย่าให้เหมือนครั้งก่อน และฝากเรียน ท่านอัศวิน ว่า ตัดสินใจทำอะไรไม่ใช่ให้ลูกน้องมาแบก อย่าหนีสภา อย่ากลัวการตรวจสอบ วันนี้ท่านบอกไม่ว่างไม่เป็นไร แต่ถ้าท่านอยากมาเมื่อไหร่ ติดต่อ อนุ กมธ. มาได้ตลอด เราประชุมกันทุกวันจันทร์เวลาบ่ายสอง จากวันนี้ไปจนสิ้นเดือน ม.ค.ปี ท่านต้องว่างสักจันทร์หนึ่ง ถ้าทำอย่างโปร่งใสก็ต้องชี้แจงได้ ถึงตอนนั้นถ้าท่านยังไม่มาก็คงต้องบอกว่าท่านตั้งใจหนีสภา” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์