“ปิยบุตร” ชำแหละคำวินิจฉัยศาล รธน.คดีล้มการปกครอง ห่วงผลผูกพัน-กระทบสื่อ

“ปิยบุตร” ชำแหละคำวินิจฉัยศาล รธน.คดีล้มการปกครอง ห่วงผลผูกพัน-กระทบสื่อ

“ปิยบุตร” ชำแหละคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดี “ล้มล้างการปกครอง” เปิด 6 ข้อวิจารณ์ ชี้อ้างหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภารดรภาพย้อนแย้ง-ไม่สมเหตุสมผล ออกข้อบังคับเกินอำนาจ ตั้ง 3 ข้อสังเกต ห่วงผลผูกพันทุกองค์กร-การใช้เสรีภาพรณรงค์ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์-เสรีภาพสื่อ

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการคณะก้าวหน้า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า แถลงข่าวความเห็นแย้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีวินิจฉัยว่า 3 แกนนำของกลุ่มราษฎร ใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ด้วยการชุมนุมปราศรัย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ซึ่งคดีนี้ศาลได้อ่านคำวิจฉัยและมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และล่าสุดได้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มออกมานั้น

นายปิยบุตร กล่าวว่า หลังจากได้อ่านโดยละเอียดแล้ว ไม่เห็นด้วยและมีข้อวิจารณ์หลายประเด็น จึงขอใช้เสรีภาพการวิจารณ์โดยสุจริตเพื่อประโยขน์ทางวิชาการและตรวจสอบถ่วงดุลย์การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 6 ข้อวิจารณ์คำวินิจฉัย และ 3 ข้อสังเกตซึ่งจะเป็นผลสืบเนื่องจากคำวินิจฉัยนี้ 

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ข้อวิจารณ์ที่ 1 คือ การดำเนินกระบวนการพิจารณาที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้ชี้แจงแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในศาลระบบกฎหมายมหาชน ใช้วิธีพิจารณาความแบบไต่สวนเป็นหลัก เป็นผู้เล่นหลักในกระบวนการพิจารณา มีอำนาจออกมาตรการ แสวงหาข้อเท็จจริง สั่งปิดกระบวนการพิจารณาได้ถ้าเห็นว่าพยานหลักฐานสมบูรณ์พร้อมตัดสินแล้ว  แต่ระบบไต่สวนนี้ก็จำเป็นต้องเคารพหลักการพื้นฐานวิธีการพิจารณาความด้วย และหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดก็คือหลักการรับฟังการต่อสู้โต้แย้งของคู่ความ ต้องเปิดโอกาสให้คู่ความได้ชี้แจงเต็มที่ แต่คดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญนำข้อเท็จริงหลากหลายเรื่องราวมาวินิจฉัยไปทางไม่เป็นคุณต่อผู้ถูกร้อง นำข้อเท็จจริงเรื่องอื่นที่ไม่อยู่ในเหตุการณ์ 10 สิงหาคม 63 มาอ้างหลายครั้ง และกรณีนี้ผู้ถูกร้องไม่มีโอกาสชี้แจงอย่างเพียงพอว่าการกระทำหมายความว่าอย่างไร มุ่งหมายปฏิรูปอย่างไร 

ข้อวิจารณ์ที่ 2 คือ ศาลรัฐธรรนูญได้นำการกระทำอื่นที่ไม่ใช่วัตถุแห่งคดีมาวินิจฉัย ซึ่งคดีนี้จะต้องเริ่มต้นว่าการกระทำใดเป็นการกระทำที่ถูกร้อง การกระทำใดเป็นวัตถุแห่งคดีที่จะนำมาพิจารณา ซึ่งในตัวคำวินิจฉัยก็ยืนยันเอาไว้ว่า รับคำร้องเฉพาะการกระทำในการชุมนุมปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ซึ่งพูดชัดว่าเฉพาะแค่นี้เท่านั้น ไม่สามารถนำการกระทำในวันอื่น เวลาอื่น ของบุคคลอื่นมาเป็นข้อเท็จจริงเพื่อใช้พิจารณาได้ แต่เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยพบว่า ศาลนำข้อเท็จจริงอื่นมาพิจารณา เช่นไม่ใช่ข้อเท็จจริงวันนั้น และบางเหตุการณ์ก็เป็นการกระทำของบุคคลอื่น ซึ่งหากระบุว่าผู้ร้องใช้เป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อแสดงเจตนาแบบนี้ก็ไม่ได้ เพราะการกระทำของผู้ถูกร้องนั้นจำกัดเฉพาะวันที่ 10 สิงหาคม 2563

“ปิยบุตร” ชำแหละคำวินิจฉัยศาล รธน.คดีล้มการปกครอง ห่วงผลผูกพัน-กระทบสื่อ

ข้อวิจารณ์ที่ 3 คือ การเขียนคำวินิจฉัยที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ เช่น ศาลอธิบายการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี 2475 แล้วสรุปว่าคณะราษฎรเรียกรูปแบบการปกครองระบอบนี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งไม่ตรงตามประวัติศาสตร์ คือ คณะราษฎรไม่เคยเรียกแบบนี้ เพราะถ้าไปดูรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับแรก ไม่เคยมีถ้อยคำว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพิ่งมามีปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ ปี 2492  และเชื่อมด้วยคำว่า "อัน" ในรัฐธรรมนูญ 2534 และถ้าอย่างนั้น ในช่วงคณะทหารยึดอำนาหลายครั้ง ห้วงเวลาคณะรัฐประหารปกครองหลายๆ ช่วง คงไม่มีใครพูดกันว่าการปกครองภายใต้ทหารจะเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ศาลบรรยายความมาผิด ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เสมือนศาลรัฐธรรมนูญได้เขียนประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างเสียใหม่

ข้อวิจารณ์ที่ 4 คือ ศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างหลัก เสรีภาพ เสมอภาค และภารดรภาพอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งคำนี้เกิดจากการปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อประเทศเข้าสู่ระบอบสาธารณรัฐก็นำหลักการนี้มารับรองในรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ และต่อมาก็รับรองว่าเป็นคำขวัญของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งต้นกำเนิดคำนี้เป็นเรื่องของสาธารณรัฐ เป็นหลักการที่เกิดขึ้นของสาธารณรัฐ จึงเป็นส่วนที่ย้อนแย้งมากในการเอามาใช้อธิบายของศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินในพระปรมาภิไธย ซึ่งบรรยายความเกี่ยวพระมหากษัตริย์มากมาย แต่กลับนำหลักการพื้นฐานสาธารณรัฐมาใช้ปกป้องระอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และก็ใช้ไม่ถูกต้องด้วย เพราะคำว่า "ภารดรภาพ" ไม่ได้หมายความสามัคคี แต่หมายถึงการเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ การร่วมทุกข์ร่วมสุขของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ข้อวิจารณ์ที่ 5 คือ การให้เหตุผลอย่างไม่สมเหตุสมผลว่า ข้อเรียกร้องบางข้อนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ ซึ่งศาลพูดบ่อยว่า การใช้สิทธิเสรีภาพเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยสถานะพระมหากษัตริย์ ม.6 และให้มีการยกเลิกกฎหมาย ป.อาญา ม.112 ส่งผลให้สถาบันกษัตริย์ไม่อยู่ในความเคารพ อันนำไปสู่ความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ต่อสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดี และบ่อนทำลายการปกครอง ซึ่งตรงนี้ผิดข้อเท็จจริงอย่างยิ่ง เพราะการอ้างว่า ม.6 เป็นส่วนหนึ่งประเพณีปกครองที่ยึดถือตลอดมา ถ้าไปดูในรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับแรกพบว่าไม่ใช่ หรือการอ้างเรื่องการบริจาคและรับบริจาคของพระมหากษัตริย์นั้น ก็ไม่เกี่ยวข้องกับประเพณีการปกครองเลย การเรียกร้องยกเลิกแสดงความเห็นต่อสาธารณะ ก็ไม่เกี่ยวข้องกับประเพณี และจะยิ่งทำให้สถานะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมือง ในตำราของ อ.หยุด แสงอุทัย ซึ่งเป็นอาจารย์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายคนเวลานี้ก็บอกชัดว่า การแสดงความคิดเห็นของพระมหากษัตริย์ จำเป็นต้องให้รัฐมนตรีรับรู้รับทราบ พระมหากษัตริย์ไม่ควรแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยเพราะกระทบความเป็นกลางทางการเมือง และกระทบสถานะเรื่องเป็นที่เคารพสักการะใครจะละเมิดมิได้ และนอกจากนี้ การยกเลิกหรือแก้ไข ม.6 หรือ การยกเลิกหรือแก้ไข ป.อาญา ม.112 ก็ไม่ได้ทำให้สถานะพระมหากษัตริย์เปลี่ยนไป ตรงกันข้ามจะยิ่งทำให้ได้รับการเคารพมากยิ่งขึ้นอีก ถ้ามีการระบุไปให้ชัดว่ารัฐมนตรีจะเป็นผู้รับผิดชอบ 

"ผมเห็นว่าหลายท่อนหลายตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ อ้างเรื่องการแก้ 112 แล้วมาเชื่อมโยงว่าจะนำมาไปสู่การบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ จะเป็นการล้มล้างการปกครองประชาธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั้น เห็นว่าเชื่อมโยงไปไกลเกินกว่าเหตุมาก การเชื่อมโยงในการวินิจฉัยต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลที่ใกล้ชิดกัน ไม่ใช่ไกลกันราวเด็ดดอกฟ้าสะเทือนถึงดวงดาวแบบนี้ และการเอาข้อเรียกร้องบางข้อจาก 10 ข้อมาแล้วบอกว่าล้มล้าง ประเด็นคือนี่เป็นเพียงข้อเรียกร้อง นี่เป็นเพียงข้อเสนอ เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นจริงเสมอไป เรามีข้อเสนออีกร้อยแปดพันประการที่ไม่ไดรับการตอบสนองจากสภา นี่คือข้อเสนอ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะบุกก่อการยึดอำนาจแล้วปฏิวัติ คือผู้มีอำนาจจะทำตามข้อเสนอหรือไม่ทำก็ได้ แต่ไม่ใช่อย่างที่ศาลเอามาปะติดปะต่อและหาว่าล้มล้างแบบนี้" นายปิยบุตร กล่าว 

ข้อวิจารณ์ที่ 6 ออกคำบังคับเกินอำนาจ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการกระทำใดเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างฯ ศาลก็มีอำนาจออกคำบังคับคือวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ คดีนี้หากศาลเห็นว่าการกระทำในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ของผู้ร้องทั้ง 3 เป็นการล้มล้าง ก็สั่งเลิกการกระทำนั้น แต่กลายเป็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 รวมทั้งองค์กรเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าวรวมถึงการกระทำในอนาคตด้วย กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งเกินกกว่าอำนาจ 2 ข้อ คือ 1 สั่งไปถึงกลุ่มองค์กรเครือข่าย เป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ถูกร้องทั้งสามคน  และ 2 สั่งการให้เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งเกินขอบเขต ไม่เฉพาะการกระทำเมื่อ 10 สิงหาคม 2563 ซึ่งหากถือปฏิบัติตามคำบังคับนี้ จะสับสนอลหม่านมาก เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดชัดเจนว่ากลุ่มองค์กรเครือข่ายคือใครบ้าง สั่งเลิกการกระทำในอนาคตเป็นการกระทำแบบไหนบ้างก็ไม่ได้บอก และคำว่าต่อไปในอนาคตคือจนถึงเมื่อไหร่ นิจนิรันด์เลยหรือไม่

“ปิยบุตร” ชำแหละคำวินิจฉัยศาล รธน.คดีล้มการปกครอง ห่วงผลผูกพัน-กระทบสื่อ

"ด้วยเหตุผลทั้ง 6 ข้อ ผมจึงเห็นว่า คำวินิจจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ น่าจะมีความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น มาตรา 211 วรรค 4 ที่ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันทุกองค์กรนั้น จะต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วย ถ้าไม่ชอบ มันจะไม่มีผลผูกพันทุกองค์กร ซึ่งหากบอกว่า คำวินิจฉัยที่ไม่ชอบให้ผูกพันนั่นจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยเกินรัฐธรรมนูญแล้วมีผลบังคับทุกคนได้ และหากเป็นอย่างนี้ จะเป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจเกินรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจะอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ และนานวันเข้าจะผูกขาดการตีความรัฐธรรมนูญแต่เพียงผู้เดียว หากวันหนึ่งเกิดเขียนให้พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตกและตกทางทิศตะวันออก แบบผิดธรรมชาติ มันจะต้องมีผลผูกพันทุกองค์กรอย่างนั้นเหรอ" นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า สำหรับข้อสังเกตุจากผลสืบเนื่องของคำวินิจฉัยดังกล่าว แม้ตนจะยืนยันว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบรัฐธรรมนูญและไม่มีผลผูกพัน แต่ตนก็เป็นเพียงปัจเจกบุคคล เป็นคนธรรดาไม่มีอำนาจอะไร ซึ่งกรณีนี้ก็อาจมีองค์กรของรัฐยึดถือไปใช้และหากใช้มีผลในทางกฎหมาย คาดว่าจะมีผลสืบเนื่องตามข้อสังเกตุ 3 ประการ คือ

ข้อ 1 การใช้คำวินิจฉัยนี้เป็นฐานดำเนินคดีอาญา หรือยุบพรรคการเมืองต่างๆ จะมีการร้องรับกันไปเป็นลูกระนาด ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้นที่ว่าผูกพัน จะผูกพันเฉพาะผล เฉพาะคำบังคับ และเหตุผลหลักของคำวินิจฉัยเท่านั้น ไม่ได้หมายความเหตุผลประกอบเล็กๆ น้อยๆ ที่พรรณามาทั้งหมดผูกพันด้วย ไม่ใช่ทุกตัวอักษรผูกพันด้วย และการพิจารณาคดีอาญาก็คนละเรื่องกับคดีรัฐธรรมนูญ คดีอาญาต้องเริ่มต้นองค์ประกอบความผิด ต้องพิสูจน์กันอีก หากจะอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญพูดไว้แล้วว่ามีความผิดผูกผันทุกองค์กร ก็จะเป็นตรรกะที่ประหลาดที่สุด และประเทศนี้ก็ไม่ต้องมีศาลอะไรเลยก็ได้ มีศาลรัฐธรรมนูญเพียงศาลเดียวพอ 

ข้อ 2 การใช้เสรีภาพในการรณรงค์ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จะมีความคลุมเครือ การเรียกร้องยกเลิก 112 มีปัญหาว่าจะทำได้หรือไม่ ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจะทำได้หรือไม่ ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม หากไปดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จะมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมการปราศรัยในการชุมนุม ไม่ใช่เฉพาะเจาะจงข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ และไม่ได้พูดแม้แต่ประโยคเดียวว่าปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทำไม่ได้ ดังนั้น รณรงค์ต่อไปได้ แต่ทำแล้วมีใครไปร้องก็อีกส่วนหนึ่ง แต่ทว่าหากขยายความไปจนว่าคำวินิจฉัยนี้รวมถึงห้ามเลิก ห้ามแก้ 112 หรือห้ามแก้รัฐธรรมนูญหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ นี่จะเป็นการตีความที่ขยายความเกินความเป็นจริง ตีความเหมือนศาลรัฐธรรมนูญเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่

ข้อ 3 การใช้เสรีภาพของสื่อสารมวลชนในการนำเสนอประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กรณีนี้สืบเนื่องจาก กสทช. เชิญตัวแทนสื่อพบเพื่อหารือทำความเข้าใจ และขอความร่วมมือระมัดระวังนำเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์  มีปัญหา คือ 1.ที่จริงแล้วนี่คือ กสทช.ขอความร่วมมือแกมขู่ ไม่ได้ออกคำสั่งทางปกครองใดๆ  ไม่ได้ออกระเบียบใดๆ ซึ่งใช้แบบนี้บ่อยตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา ไม่ยอมมีคำสั่งชัดเจนออกมาเพราะกลัวฟ้องศาลปกครองได้ แต่ใช้วิธีนี้ให้สื่อไปคิดกันเอง ผลักภาระให้สื่อ 2.สิ่งที่กังวลเกินความเป็นจริงมาก หลายเรื่องไม่ได้อยู่ในคำวินิจฉัย ตนเชื่อว่าเสรีภาพสื่อมวลชนยังทำได้อยู่ และยิ่งสถานการณ์แบบนี้สื่อยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องแสดงบทบาท ทำให้ความเห็นต่างคลี่คลาย นั่นคือเปิดเสรีภาพให้มีการพูดคุยอย่างสันติ