เลือดเก่าไหลออก เลือดใหม่ไม่ไหลเข้า จับตาศึกชิง“หัวหน้าภาคใต้” ปชป.

เลือดเก่าไหลออก เลือดใหม่ไม่ไหลเข้า จับตาศึกชิง“หัวหน้าภาคใต้” ปชป.

ยุทธศาสตร์อำนาจในพรรคปชป. ของ “จุรินทร์ -เฉลิมชัย” จำเป็นต้องยึด ตำแหน่งหัวหน้าภาคใต้มาให้ได้ เพื่อคุมการสรรหาว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ออกตัวแรงก่อนพรรคใดๆ ประกาศความพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง แต่เนื้อในพรรคประชาธิปัตย์ ยังขัดแย้ง แบ่งฝ่าย ต่อรองกันหนัก จนคนเก่าแก่ เริ่มออกอาการทนไม่ไหว กับการบริหารงานพรรค ที่มีกัปตัน “อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคกุมทิศทาง

ปรากฏการณ์ “นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ” อดีต ส.ส.พัทลุง อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคใต้ 3 สมัย เป็นรายล่าสุด ที่ส่งสัญญาณขอแยกทาง หลังฝากชีวิตทางการเมืองกับประชาธิปัตย์มายาวนานถึง 29 ปี

วัตรปฏิบัติของประชาธิปัตย์ ที่ชูตัวเองเป็นสถาบันการเมือง กำลังถูกท้าทายอย่างหนัก เนื่องจากหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 แพ้ราบคาบในสนาม กทม. ภาคใต้ ฐานที่มั่นสำคัญก็เจาะไข่แดงไปหลายพื้นที่ 

การปรับเปลี่ยนทีมผู้บริหารพรรคจาก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” มาอยู่ในมือ “จุรินทร์” ที่หวังกอบกู้ศรัทธาพรรคให้กลับมาใหม่

โดยแนวทางของ “จุรินทร์” ไม่ใช่โมเดลเดิม ที่เคยใช้บริหารพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน ทำให้นักการเมืองรุ่นใหญ่ ต้องเก็บกระเป๋าออกจากพรรค พร้อมความชอกช้ำที่แตกต่างการออกไป
 

“จุรินทร์โมเดล” รวมศูนย์อำนาจการบริหารอยู่ที่หัวหน้าพรรคและ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ที่พยายามผลักดันคนรุ่นใหม่-เด็กในคาถาให้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนพรรค ทั้งงานด้านบริหาร งานด้านกฎหมาย รวมถึงการขยายฐานเสียงใหม่ โดยอาจจะหลงลืมความสำคัญของคนเก่าคนแก่

แม้จะมีหลายเสียงภายในพรรค โดยเฉพาะขั้วเก่าคอยทักท้วง แต่ “จุรินทร์-เฉลิมชัย” ใช้ยุทธวิธี รับฟังเสียงทักท้วง แต่ไม่ได้ปฏิบัติตาม

เมื่อตำแหน่งหัวหน้าภาคใต้ว่างลง ด้วยเหตุนิพิฎฐ์จากไปแล้ว นักสังเกตการณ์ในพรรค นอกพรรค รอจับตาการเลือกตั้งหัวหน้าภาคใต้คนใหม่ ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ ว่าใครจะเข้าวิน

ระหว่าง “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา คนรุ่นใหม่ไฟแรง เด็กในคาถาของ “เลขาฯต่อ” ที่ต้องวัดกำลังกับ “ชินวรณ์ บุญยเกียรติ” ส.ส.นครศรีธรรมราช ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากคนเก่าคนแก่ในพรรค

ว่ากันว่า ยุทธศาสตร์อำนาจในพรรค ของ “จุรินทร์ -เฉลิมชัย” จำเป็นต้องยึด ตำแหน่งหัวหน้าภาคใต้มาให้ได้ เพื่อคุมการสรรหาว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะโดยโครงสร้าง การบริหาร หัวหน้าภาคจะเป็นคนทำความเห็น ในการส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้ง ส.ส.เข้าสู่ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค

ดังนั้นโอกาสที่ “เดชอิศม์ ขาวทอง” จะเข้าวิน ได้นั่งเก้าอี้หัวหน้าภาคใต้ จึงมีสูงกว่า "ชินวรณ์ บุญยเกียรติ" อยู่มาก
 

เดชอิศม์ แม้เป็นส.ส.สมัยแรก แต่เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา 2 สมัย ทำให้บารมีในจังหวัดสงขลาเบ่งบานมานาน ยิ่งได้รับแรงหนุนจาก “ถาวร เสนเนียม” อดีต ส.ส.สงขลา หลายสมัย ยิ่งทำให้ชื่อชั้นเข้าขั้นติดลมบน

อีกด้านหากดูความเคลื่อนไหวของ “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย ที่ออกโรงปกป้อง อ้าแขนต้อนรับ “นิพิฏฐ์” ให้มีที่ยืนในพรรคประชาธิปัตย์ต่อ  ก็พออ่านทางกันออกว่า “นิพนธ์” ที่ไม่กินเส้นกับนายกชาย อาจหันมาสนับสนุน “ชินวรณ์” ให้ขยับเป็นหัวหน้าภาคใต้อีกแรง

 อีกทั้ง ความสัมพันธ์ระหว่าง "นิพนธ์-ถาวร" เดินคนละทางมาโดยตลอด จึงค่อนข้างชัดเจนว่า ปรากฎการณ์ “นิพิฏฐ์” สะท้อนไปถึงปัญหา การชิงเก้าอี้หัวหน้าภาคใต้ ที่ต่างฝ่ายต้องการครอบครองให้ได้ ก็เพื่อต่อยอดในการผลักดันคนของตัวเองเป็นผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ 

ประชาธิปัตย์อยู่ในห้วงความเปลี่ยนแปลง หากเป็นไปอย่างที่ "สาธิต ปิตุเตชะ" รมช.สาธารณสุข รองหัวหน้าพรรคภาคกลาง ส่งสัญญาณว่า “เร็วๆ นี้ พรรคประชาธิปัตย์จะมีการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของพรรค จากภาพลักษณ์ที่อาจจะเป็นความเก่า แต่เป็นความเก่าของความรอบคอบ เพื่อประโยชน์ของคนส่วนรวมมากที่สุด ส่วนเรื่องความใหม่นั้น ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เราจะเสนอคนที่คิดว่า มีความทันสมัยกับโลกในปัจจุบัน”

ดังนั้น นัยการเปลี่ยนจากเก่าไปใหม่ของประชาธิปัตย์ จึงอาจไม่ใช่ความใหม่เสียทีเดียว แต่ที่ต้องลุ้นไปจนถึงเลือกตั้ง ภายในพรรคคงต้องฟาดฟันกันอีกหลายยก เพื่อพยายามถ่วงดุลอำนาจ ไม่อยากให้ “จุรินทร์-เฉลิมชัย” คุมพรรคเบ็ดเสร็จ