ผ่าโครงสร้าง 24 ปี “ศาล รธน.” ผ่าน รธน. 3 ฉบับ ชี้ขาด “ขั้วอำนาจ” การเมืองไทย?

ผ่าโครงสร้าง 24 ปี “ศาล รธน.” ผ่าน รธน. 3 ฉบับ ชี้ขาด “ขั้วอำนาจ” การเมืองไทย?

ทั้งหมดคือโครงสร้างของ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” และบทบาท “ทางการเมือง” ตลอด 24 ปีที่ผ่านมา ในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ วินิจฉัยคดีสำคัญระดับ “พลิกโฉมหน้า” การเมืองไทยมาแล้วหลายครั้ง และปฏิเสธไม่ได้ว่าศาลแห่งนี้คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “การเมืองไทย” เป็นแบบปัจจุบัน?

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองกำลังระอุ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “องค์กรอิสระ” มีส่วนเกี่ยวข้องในความ “แตกแยก” ของสังคมตอนนี้ไม่มากก็น้อย

หนึ่งในนั้นคือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่เพิ่งมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า การปราศรัยของ 3 แกนนำ “ม็อบราษฎร” ได้แก่ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์) และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) ในวันที่ 10 ส.ค. 2563 บนเวทีปราศรัยที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เข้าข่าย “ล้มล้างการปกครอง” ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมีคำสั่งไม่ให้ “กลุ่มองค์กร” ลักษณะเดียวกันเคลื่อนไหวต่อในอนาคต ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ด้วย

คำวินิจฉัยดังกล่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์จาก “นักวิชาการฝ่ายซ้าย” และ “นักการเมืองฝ่ายค้าน” บางส่วนว่า อาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และอาจส่งผลให้ความขัดแย้งตอนนี้ “บานปลาย” ไม่สิ้นสุด?

อย่างไรก็ดีบทบาทของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ในช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการก่อตั้ง “องค์กรอิสระ” แห่งนี้ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 24 ปีก่อน มีส่วนสร้าง “แรงกระเพื่อม” ให้กับสังคมไทยอย่างมาก และหลายครั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรียกได้ว่า สร้างประวัติศาสตร์ “หน้าใหม่” บนกระดานการเมืองไทย เพราะคำวินิจฉัยของศาลแห่งนี้ มีผล “ผูกพัน” ทุกองค์กร เว้นแต่คำพิพากษาของศาลฎีกาที่สิ้นสุดไปแล้วก่อนหน้านี้

กรุงเทพธุรกิจ กางโครงสร้าง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ผ่านรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ตั้งแต่เมื่อปี 2540, 2550 จนถึง 2560 พบว่า มีรายละเอียดคุณสมบัติผู้มาเป็นตุลาการ รวมถึงอำนาจหน้าที่ แตกต่างกัน ดังนี้

หนึ่ง รัฐธรรมนูญปี 2540 ส่วนที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวม 15 คน มีสัดส่วนคือผู้พิพากษาโดยอาชีพ 7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว โดยมีที่มาจาก 4 แหล่ง ได้แก่ 

1.ผู้พิพากษาในศาลฎีกา 5 คน ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

2.ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด

3.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 5 คน ที่ผ่านการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 13 คน โดยมีประธานศาลฎีกา 1 คน คณบดีคณะนิติศาสตร์หรือเทียบเท่าของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่ง เลือกกันเองให้เหลือ 4 คน คณบดีคณะรัฐศาสตร์หรือเทียบเท่าของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่ง เลือกกันเองให้เหลือ 4 คน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่เป็น ส.ส. พรรคละ 1 คน เลือกกันเองให้เหลือ 4 คน เป็นกรรมการ หลังจากได้รายชื่อครบแล้ว จะต้องมีการนำชื่อเข้าที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อโหวตให้ความเห็นชอบ

4.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 3 คน ที่ผ่านการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากได้รายชื่อครบแล้ว จะต้องมีการนำชื่อเข้าที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อโหวตให้ความเห็นชอบ 

หลังจากนั้นประธานวุฒิสภา จะนำรายชื่อทั้งหมดทูลเกล้าฯ เพื่อทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป หลังจากนั้นให้ทั้ง 15 คนประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2540 หลัก ๆ คือ วินิจฉัยว่ามติหรือข้อบังคับของพรรคการเมืองใดขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย, วินิจฉัยร่างกฎหมายใด ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่, วินิจฉัยการกระทำของ ส.ส. หรือ ส.ว. ว่ามีการกระทำที่เป็นการใช้งบประมาณรายจ่ายโดยตรง หรือโดยอ้อมหรือไม่, วินิจฉัยปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจากการร้องเรียนของผู้ตรวจการแผ่นดิน, การวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ, วินิจฉัยชี้ขาดกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบพบว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเท็จ มีผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ เป็นเวลา 5 ปี เป็นต้น

โดยในช่วงทศวรรษ 2540-2550 ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทอย่างมากในการ “แก้ไข” ปัญหาทางการเมือง เช่น กรณี “ซุกหุ้น” ภาค 1 ของนายทักษิณ ชินวัตร (ว่าที่) นายกรัฐมนตรีสมัยแรกขณะนั้น ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลปกปิดทรัพย์สินในการถือครองหุ้น จนต้องหล่นวาทกรรมในตำนาน “บกพร่องโดยสุจริต” โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 7 ชี้ว่านายทักษิณ ไม่จงใจปกปิดทรัพย์สิน หรือช่วงรัฐบาลนายทักษิณยุบสภาเมื่อเดือน ก.พ. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง “โมฆะ” จนเปิดช่องให้มีการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในวันที่ 19 ก.ย. 2549 เป็นต้น

สอง รัฐธรรมนูญปี 2550 เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 โดยมีการ “ยกเครื่อง” เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญใหม่ โดยลดจำนวนประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมกัน 9 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี แบ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ  4  ผู้พิพากษาอาชีพ 5 คน มีที่มาจาก 4 แหล่ง ได้แก่

1.ผู้พิพากษาในศาลฎีกา 3 คน ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

2.ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

3.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 2 คน ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริง โดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 5 คน โดยมีประธานศาลฎีกา 1 คน ประธานศาลปกครองสูงสุด 1 คน ประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 คน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 1 คน และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน เป็นกรรมการ หลังจากได้รายชื่อครบแล้ว นำเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ 

4.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น 2 คน มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริง โดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากได้รายชื่อครบแล้ว นำเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ 

หลังจากนั้นประธานวุฒิสภา จะทูลเกล้าฯรายชื่อเพื่อทรงโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง หลังจากนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนโหวตเลือกกันเอง 1 คน เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ

อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคงหน้าที่หลักคือวินิจฉัยร่างกฎหมายใด ๆ ที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ, บทบัญญัติกฎหมายใดขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ, วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่ตัดหน้าที่ในการวินิจฉัยกรณีการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน โดยให้ ป.ป.ช. ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อยื่นฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทน

ในช่วงทศวรรษ 2550-2560 ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาท “สำคัญมาก” ที่มีการวินิจฉัยเกี่ยวพันกับ “การเมืองไทย” เช่น การให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีเป็นลูกจ้างเอกชนทำรายการอาหาร "ชิมไปบ่นไป" กรณีการยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคเล็กอื่น ๆ เมื่อปี 2549 ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค หรือที่เรียกกันว่า “บ้านเลขที่ 111” ถูกตัดสิทธิทางการเมือง การยุบพรรคพลังประชาชน และพรรคเล็กอื่น ๆ เมื่อปี 2550 ส่งผลให้ “บ้านเลขที่ 109” ถูกตัดสิทธิทางการเมือง และทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งถูกร้องเรียนกรณีใส่ร้ายพรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 2549 นั้น รอดพ้นทุกข้อหา 

ต่อมาในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. เป็นการ “ล้มล้างการปกครอง” ขัดต่อรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมถึงวินิจฉัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นต้น

สาม รัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2550 นั่นคือจำนวนตุลาการ 9 คน เช่นเดิม แบ่งเป็นสัดส่วน ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน ผู้พิพากษาอาชีพ 5 คน แต่ลดวาระการดำรงตำแหน่งเหลือ 7 ปี มีที่มาจาก 4 แหล่ง คือ

1.ผู้พิพากษาศาลฎีกา 3 คน มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือก

2.ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2 คน มาจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเลือก

3.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 2 คน จากคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 5 คน โดยมีประธานศาลฎีกา 1 คน ประธานศาลปกครองสูงสุด 1 คน ประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 คน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 1 คน และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน เป็นกรรมการ หลังจากได้รายชื่อครบแล้ว นำเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ

4.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น 2 คน จากคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 5 คน โดยมีประธานศาลฎีกา 1 คน ประธานศาลปกครองสูงสุด 1 คน ประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 คน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 1 คน และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน เป็นกรรมการ หลังจากได้รายชื่อครบแล้ว นำเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ

หลังจากนั้นประธานวุฒิสภา จะทูลเกล้าฯรายชื่อเพื่อทรงโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง หลังจากนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนโหวตเลือกกันเอง 1 คน เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ

อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญปี 2560 คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างไรก็ดีระหว่างปี 2560-2564 สังคมไทยมีความขัดแย้งในลักษณะ “แบ่ง 2 ขั้ว” อย่างชัดแจ้ง และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีสำคัญที่ส่งผลทางการเมืองครั้งใหญ่ อย่างน้อย 3 ครั้ง 

1.กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) จากการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค 

2.กรณียุบพรรคอนาคตใหม่ จากการปล่อยกู้เงินของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค จำนวน 191.2 ล้านบาท 

3.กรณีให้คำปราศรัยของ 3 แกนนำ “ม็อบราษฎร” เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และไม่ให้องค์กรเคลื่อนไหวลักษณะเดียวกันดำเนินการต่อในอนาคต

ทั้งนี้บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ 24 ปีที่ผ่านมา จากรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ มีข้อแตกต่างสำคัญในสภานิติบัญญัติด้วย กล่าวคือ ส.ว. ที่ให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ “สายผู้ทรงคุณวุฒิ” รวมถึงประธานวุฒิสภาที่นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯนั้น มีที่มาไม่เหมือนกัน ดังนี้ 

1.รัฐธรรมนูญปี 2540 ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน 

2.รัฐธรรมนูญปี 2550 ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 76 คน และ ส.ว.สรรหา 74 คน 

3.รัฐธรรมนูญปี 2560 ส.ว.มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. 194 คน เป็นโดยตำแหน่ง 6 คน และจากการเลือกตั้ง “แบบไขว้” 50 คน

ทั้งหมดคือโครงสร้างของ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” และบทบาททางการเมือง ตลอด 24 ปีที่ผ่านมา ในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ วินิจฉัยคดีสำคัญระดับ “พลิกโฉมหน้า” การเมืองไทยมาแล้วหลายครั้ง และปฏิเสธไม่ได้ว่าศาลแห่งนี้คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “การเมืองไทย” เป็นแบบปัจจุบัน?