ใครเป็นใคร? 6 กรรมการฯ “ไทยภักดี” ส่องฐานทุน-คอนเนคชั่น “สามมิตร”

ใครเป็นใคร? 6 กรรมการฯ “ไทยภักดี” ส่องฐานทุน-คอนเนคชั่น “สามมิตร”

โพรไฟล์ 6 กรรมการบริหารพรรค “ไทยภักดี” ก่อนตั้งพรรคทางการ “หมอวรงค์” มือปราบ “จำนำข้าว” ทรัพย์สินรวมคู่สมรส 70 ล้าน “วิชัย ล้ำสุทธิ” อดีต “กลุ่มสามมิตร” ที่ปรึกษา รมว.อุตสาหกรรม “พุฒิพงศ์ สงวนวงศ์ชัย” อดีต ส.ว.ชัยภูมิ “วสันต์ มีวงษ์” อดีตที่ปรึกษา “หม่อมสุขุมพันธุ์”

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคไทยภักดี มีเนื้อความว่า ด้วยนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามมติในการประชุม ครั้งที่ 77/2564  เมื่อวันที่ 24  สิงหาคม 2564 ได้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ชื่อพรรคไทยภักดี ตามมาตรา 17  แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560  ไว้ในทะเบียนพรรคการเมือง เลขที่ 10 /2564  ตั้งแต่วันที่ 24  ส.ค. 2564

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคไทยภักดี จำนวน 6 คน ประกอบด้วย

1. นพ.วรงค์  เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรค

2. นายวิชัย ล้ำสุทธิ เลขาธิการพรรค

3. นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ เหรัญญิกพรรค

4. นายปฏิยุทธ ทองประจง นายทะเบียนสมาชิกพรรค

5. นายพุฒิพงศ์ สงวนวงศ์ชัย กรรมการบริหารพรรค

6. นายวสันต์ มีวงษ์ กรรมการบริหารพรรค

อ่านข่าว: ราชกิจจาฯ ประกาศ รับรองจดทะเบียนจัดตั้ง "พรรคไทยภักดี"

หลายคนอาจรู้จักชื่อของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยเป็น ส.ส.หลายสมัยใน จ.พิษณุโลก สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และเป็น “มือปราบจำนำข้าว” ผู้ขุดคุ้ยการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และการทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ช่วงสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นอกจากนี้ยังเคยเป็น “แคนดิเดต” คู่ชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แข่งกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายอลงกรณ์ พลบุตร ช่วงปลายปี 2561 อีกด้วย แต่พ่ายแพ้ให้กับ “เดอะมาร์ค” ไป หลังจากนั้นเจ้าตัวลดบทบาทภายในพรรคประชาธิปัตย์ลง กระทั่งพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี 2562 

สุดท้ายจึงลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปร่วมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. และผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะลาออกมาก่อตั้ง “กลุ่มไทยภักดี” เพื่อปกป้องสถาบันฯ ท่ามกลางการชุมนุมของ “เยาวรุ่น-ประชาชน” เรียกร้องข้อเสนอ “ทะลุเพดานปฏิรูปสถาบันฯ กระทั่งมาก่อตั้ง “พรรคไทยภักดี” ดังกล่าว

ในมุมทรัพย์สิน นพ.วรงค์ แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีพ้นจาก ส.ส. ครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 ระบุตำแหน่งขณะนั้นว่า “ว่างงาน” 

มีทรัพย์สิน 17,426,450 บาท ได้แก่ เงินฝาก 31,377 บาท เงินลงทุน 1,651,373 บาท ที่ดิน  9 แปลง 14,993,700 บาท ยานพาหนะ 2 คัน 750,000 บาท มีหนี้สิน 23,818,210 บาท ขณะเดียวกันแจ้งว่า มีรายได้รวม 268,884 บาท แต่ไม่มีเงินเดือนและค่าตอบแทน มีเงินดอกเบี้ย 1 แสนบาท เงินจากกองทุนผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา 168,884 บาท

ส่วนนางสุวรี เดชกิจวิกรม คู่สมรส ระบุว่าเป็น “กุมารแพทย์” ประจำโรงพยาบาลพิษณุโลก มีทรัพย์สิน 52,804,069 บาท ได้แก่ เงินฝาก 174,759 บาท เงินลงทุน 32,629,310 บาท โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง 2 แห่ง 19,200,000 บาท ยานพาหนะ 1 คัน 800,000 บาท ไม่มีหนี้สิน มีรายได้รวม 2,480,940 บาท เป็นเงินเดือนและค่าตอบแทน 1,780,940 บาท ที่เหลือเป็นรายได้จากคลินิก 7 แสนบาท

รวมทั้งคู่มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 70,230,519 บาท หนี้สินรวม 23,818,210 บาท

มาทำความรู้จักกรรมการบริหาร “พรรคไทยภักดี” ยุค “ตั้งไข่” กันบ้าง?

นายวิชัย ล้ำสุทธิ เลขาธิการพรรค ก่อนหน้านี้เป็นอดีต ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นนักการเมืองชื่อดังในระยอง เคยเป็น ส.ส.หลายสมัย โดยก่อนการเลือกตั้งปี 2562 เคยมีกระแสข่าวว่าถูก “กลุ่มสามมิตร” ทาบทามมาร่วมพรรคพลังประชารัฐ แต่เจ้าตัวปฏิเสธ ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2562 ถูกพรรคประชาธิปัตย์วางไว้เป็นปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 57 ทำให้ไม่พอใจอย่างมาก และยื่นหนังสือลาออกจากพรรค ก่อนไปร่วมงานกับ “กลุ่มสามมิตร” โดยไปเป็นที่ปรึกษา รมว.อุตสาหกรรม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) กระทั่งในปี 2564 ไปร่วมกับ “หมอวรงค์” ตั้ง “พรรคไทยภักดี”

ในมุมธุรกิจ นายวิชัย ล้ำสุทธิ เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 9 แห่ง โดยยังดำเนินกิจการอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ระยองรีไซเคิล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำธุรกิจการผลิตเม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้น และบริษัท สยามบิลเล็ต จำกัด ทำธุรกิจการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น

นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ เหรัญญิกพรรค เป็นนักธุรกิจ โดยก่อนหน้านี้เคยเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ไทฆีส์ จำกัด (ปัจจุบันมิได้เป็นกรรมการแล้ว) โดยบริษัท ไทฆีส์ จำกัด คือผู้เข้าไปจัดทำระบบระบบลงคะแนนเลือกตั้ง และนับคะแนนการเลือกตั้งกรรมการศาลยุติธรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดีเกิดปัญหาภายในขึ้น ส่งผลให้คณะกรรมการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ดำเนินการสอบสวน และมอบหมายสำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการแจ้งความกับบริษัท ไทฆีส์ จำกัด ฐานฉ้อโกง ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการดำเนินการของตำรวจ

ปัจจุบันนายพันธุ์เทพ เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 2 แห่ง เท่าที่ตรวจสอบพบ ได้แก่ บริษัท ซานต้า คิวบ์ จำกัด ทำธุรกิจกิจกรรมการบริหารจัดการด้านการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า (นำส่งงบการเงินปี 2563 รายได้รวม 1,400 บาท ขาดทุนสุทธิ 11,830 บาท) และบริษัท แม็คมิลเลี่ยน (ไทยแลนด์) จำกัด ทำธุรกิจกิจกรรมการบริหารจัดการด้านการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า (นำส่งงบการเงินล่าสุดปี 2563 รายได้รวม 53,359,678 บาท กำไรสุทธิ 3,659,369 บาท)

นายปฏิยุทธ ทองประจง นายทะเบียนสมาชิกพรรค ก่อนหน้านี้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานและเครือข่ายสถาบันทิศทางไทย เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 2 แห่ง (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ได้แก่ บริษัท รักษาความปลอดภัย กรีน การ์ด จำกัด ทำธุรกิจรับจ้างโฆษณา และประชาสัมพันธ์ (นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2563 มีรายได้รวม 4 บาท ขาดทุนสุทธิ 5,046 บาท) และบริษัท เซ็นเตอร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ทำธุรกิจให้บริการรักษาความปลอดภัย (นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2558 รายได้รวม 3,170,607 บาท กำไรสุทธิ 640,833 บาท)

นายพุฒิพงศ์ สงวนวงศ์ชัย กรรมการบริหารพรรค เป็นอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ว.ชัยภูมิ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2564 ยังไม่พบว่าเป็นกรรมการบริษัทแห่งใด

นายวสันต์ มีวงษ์ กรรมการบริหารพรรค เป็นอดีตที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร) และอดีตโฆษก กทม. ปัจจุบันเป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท แบงค็อก ฟุตซอล จำกัด ทำธุรกิจ อบรม ฝึกสอน ให้การสนับสนุน (นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2563 รายได้รวม 15,400,174 บาท ขาดทุนสุทธิ 653,254 บาท)

ทั้งหมดคือข้อมูลโดยสังเขปของ 6 กรรมการบริหาร “พรรคไทยภักดี” โดยมี “คอนเนคชั่น” เดิมกับกลุ่ม “อดีต ส.ส.” พรรคประชาธิปัตย์ ความสัมพันธ์กับ “กลุ่มสามมิตร” ในพรรคพลังประชารัฐ ก่อนเดินหน้า “ปกป้องสถาบันฯ” อย่างเต็มตัวในตอนนี้