รีเฟอร์บิช “ยุทโธปกรณ์”   “เหล่าทัพ” รัดเข็มขัดยุคโควิด

รีเฟอร์บิช “ยุทโธปกรณ์”   “เหล่าทัพ” รัดเข็มขัดยุคโควิด

อาจต้องใช้เวลา 3-4 ปี กว่าสถานการณ์ด้านงบประมาณของประเทศจะกลับมาดีขึ้น ก็เป็นเรื่องต้องคิดว่าแต่ละ "เหล่าทัพ" จะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ข้างหน้านี้อย่างไร

เริ่มนับถอยหลังเข้าสู่การเปิดประเทศภายใน 120 วัน ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประกาศไว้เมื่อ 16 มิ.ย. 2564 จนถึงขณะนี้ (4 ต.ค.2564) ผ่านไปแล้ว 110 วัน สถานการณ์ “โควิด-19” เริ่มมีทิศทางที่ดี แม้ยอดผู้ติดเชื้อจะอยู่ในระดับหลักหมื่น แต่ผู้ป่วยที่รักษาหายเพิ่มสูงขึ้น ส่วนผู้เสียชีวิตลดลง เหลือตัวเลขสองหลัก

จากนี้ “รัฐบาล” จะเดินหน้าเต็มสูบในการฟื้นฟูประเทศ พลิกพื้นเศรษฐกิจที่ซบเซามาเกือบ 2 ปีเต็ม ในขณะที่การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผ่านมาตรการต่างๆ ของรัฐก็ยังดำเนินการอยู่ ควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพการรักษาพยาบาล ดูแลผู้ติดเชื้อรายวัน และฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งหมายถึงการใช้งบประมาณอีกมหาศาล

สัปดาห์ที่ผ่านมา “กองทัพบก” แถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลและช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด พร้อมเล็งเห็นถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณของประเทศ จึงมีแนวทางยกเลิก หรือ ลดจำนวนโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ราคาสูงจากต่างประเทศ และเปลี่ยนมาซ่อมบำรุงยืดอายุใช้งานหลายรายการ

ทั้งการซ่อมดัดแปลงรถยนต์บรรทุกขนาด 2 ตันครึ่ง รุ่น M 35 A2 โดยดัดเแปลงเป็น M 35A21 จำนวน 259 คัน ทดแทนการซื้อใหม่ 169 คัน ราคาซ่อมคิดเป็น 36% ของราคาซื้อใหม่ การซ่อมปรับปรุงรถยนต์บรรทุกยูนิม๊อกซ์ ขนาด 1.1/4 ตัน จำนวน 201 คัน ราคาซ่อมคิดเป็น 24% ของราคาซื้อใหม่

การซ่อมปรับปรุง รถถัง M113 ยืดอายุการใช้งาน โดยดัดแปลงเพิ่ม เปลี่ยนเครื่องยนต์ ปรับปรุงระบบไฟฟ้า ได้ทยอยซ่อมมาทุกปี ตั้งแต่ปี 2555-65 ปีละ 3-10 คัน ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว 50 คัน รวมถึงสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการ อาทิ จักรเย็บผ้า อุปกรณ์เครื่องสนาม รถยก โดยใช้งบประมาณซ่อมตามแผนประจำปี ทั้งหมดจะมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 10 ปี

พล.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการทหารบก ในฐานะโฆษกกองทัพบก ระบุว่า กองทัพบกสนับสนุนรัฐบาลและช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นนั้นกองทัพบกยังคงดำเนินพัฒนาองค์กร ตามแผนพัฒนากองทัพบก เพื่อให้เป็นหน่วยเบา ประหยัด มีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพสูง

"จึงมีแนวทางยกเลิกหรือลดจำนวนโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ราคาสูงจากต่างประเทศให้มากที่สุด และสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศมาใช้มากขึ้น ภาพรวมคือเราจะพยายามรักษาสภาพยุทโธปกรณ์ให้ใช้งานได้ดีที่สุด โดยเน้นการซ่อมบำรุงรักษาสิ่งอุปกรณ์นั้นเพื่อใช้งานได้ดีที่สุดและนานที่สุดเพื่อให้ใช้งานได้ แต่หากเราไม่สามารถรักษาได้ก็ซื้อจากต่างประเทศ แต่เป็นจำนวนน้อย"

รีเฟอร์บิช “ยุทโธปกรณ์”   “เหล่าทัพ” รัดเข็มขัดยุคโควิด

แม้ “กองทัพบก” จะยกเลิกการจัดหายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศหลายรายการ แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อความพร้อมรบ และการปกป้องอธิปไตย เพราะนับตั้งแต่ปี 2549 ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร หรือ รัฐบาลพลเรือน ยุค “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หรือ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก็ไม่มีรัฐบาลใดเข้ามาแตะงบกองทัพ ทำให้การจัดซื้อจัดหาโครงการต่างๆ เป็นไปตามแผน

ทั้งเฮลิคอปเตอร์ “แบล็กฮอล์ก” ถูกจัดหามาเป็นระยะๆ ตลอดจนเฮลิคอปเตอร์ รุ่นต่างๆ เช่น MI-17 ที่จัดหาเข้ามาต่อเนื่อง รถเกราะ BTR จากยูเครน ยานเกราะลำเลียงพลล้อยาง หรือสไตรเกอร์ จากสหรัฐ   รถยานเกราะล้อยางแบบ VN-1 จากจีน  VT-4 รถถังจากจีน

เช่นเดียวกัน “กองทัพอากาศ” หากดูตามสมุดปกขาวเผยแพร่แผนพัฒนากองทัพในช่วง 10 ปี จะเห็นได้ว่าในช่วง 1-2 ปี นี้ ต้องดำเนินการจัดหาเครื่องบินรบหลักทดแทนฝูง 102 ที่ใกล้ปลดประจำการ รวมไปถึงการริเริ่มโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ เพื่อใช้ทดแทน C-130 ที่ปฏิบัติภารกิจมาอย่างยาวนาน

โดย “กองทัพอากาศ” ก็ต้องชะลอโครงการที่ใช้งบประมาณสูงระดับหมื่นล้านเอาไว้ก่อน โดยเลือกการซ่อมบำรุงคืนสภาพ ด้วยการเปลี่ยนอะไหล่สำคัญ ถนอมชั่วโมงการบิน และปรับปรุงขีดความสามารถเครื่อง C-130 ที่มีทั้งการซ่อมอัพเดต และอัพเกรดเครื่องเพื่อยืดอายุใช้งานไปอีก 5-10 ปี

ควบคู่ไปกับการควบรวมฝูงบิน 102 ไปอยู่กับฝูงบิน 103 เนื่องจากเครื่องบิน F-16 ADF ถูกปลดประจำการหลายเครื่อง และเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ จึงต้องนำมาบริหารจัดการใหม่ โดยนำเครื่องที่เหลือมาประจำการที่ฝูงบิน 103 ซึ่งมีเครื่องบิน F- 16 AB ประจำการอยู่ด้วยเช่นกัน

ด้าน “กองทัพเรือ” เป็นเหล่าทัพที่ได้รับผลกระทบหนักสุด หลังถูกเฉือนงบการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2 ออกไป (งบตั้งโครงการในปีแรก) บวกกับงบโครงการอื่น ก็ไม่สามารถตั้งโครงการใหม่ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลได้

ส่วนงบการพัฒนากองทัพเรือ ก็ตกอยู่ที่เงินงวดผ่อน ใน 2 โครงการใหญ่ ทั้ง “เรือดำน้ำจีน-เรือฟริเกตเกาหลี” โดยต้องจัดสรรงบประมาณซ่อมบำรุง เพื่อยืดอายุใช้งานยุทโธปกรณ์แบบอื่นให้สามารถดำรงความพร้อมได้ในระดับต่ำ และใช้งบอย่างระมัดระวังที่สุด

โดย “กองทัพเรือ” กำลังจะปลดระวางประจำการเรือรบประมาณ 10 ลำ และเตรียมส่งมอบให้กับหน่วยงานหรือเอกชนที่ต้องการเนื่องจากต้องการลดภาระงบประมาณในการดูแลรักษาในแต่ละเดือน ประมาณ 3 แสนบาท และเลื่อนแผนการจัดหาเรือลำใหม่ทดแทนออกไปก่อน พร้อมกับซ่อมบำรุงเรือที่มีอยู่ นำไปปฏิบัติหน้าที่แทนเรือทั้งหมดที่ถูกปลดประจำการ

จะเห็นได้ว่า “เหล่าทัพ” เริ่มประสบปัญหาด้านงบประมาณเพื่อเดินหน้าแผนพัฒนากองทัพ หลังถูกตัดงบไปแก้ปัญหา “โควิด-19” ในช่วงที่ผ่านมา และจากนี้รัฐบาลจะเข้าสู่โหมดการฟื้นฟูประเทศ ซึ่งคาดกันว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี กว่าสถานการณ์ด้านงบประมาณของประเทศจะกลับมาดีขึ้น ก็เป็นเรื่องต้องคิดว่าแต่ละเหล่าทัพจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ข้างหน้านี้อย่างไร โดยเฉพาะการเผชิญอุปสรรคจากฝ่ายการเมืองที่ตรวจเข้มกองทัพในยุคนี้