3 ปี นารีตกม้าขาว นฤมล ปิดฉาก เลือกข้างผิด

3 ปี นารีตกม้าขาว นฤมล ปิดฉาก เลือกข้างผิด

เส้นทางทางการเมืองของ "นฤมล" ในช่วง 3 ปี ในสีเสื้อพรรคพลังประชารัฐ กราฟชีวิตของเธอขึ้นสุด ลงสุด เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ในระยะเวลาอันสั้น

ปฏิบัติการรุกรบจบเร็วของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในการปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ พ้นตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ พ้นตำแหน่งรมช.แรงงาน แบบฟ้าผ่า ทลายฐานอำนาจขาใหญ่อย่างไม่เหลือชิ้นดี

เส้นทางทางการเมืองของ ร.อ.ธรรมนัส และนฤมล ที่ผ่านมานับว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ นฤมล หรือ อ.แหม่ม อดีตอาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้าก่อนที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ยุค คสช. ดึงเข้าสู่เส้นทางทางการเมือง 

เริ่มต้นงานทางการเมืองอย่างเป็นทางการ ในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ขุนคลังยุค คสช. ถือเป็นเด็กปั้นอนาคตไกลของ นายสมคิด ที่สนับสนุนบทบาทใหม่ในเส้นทางนี้อย่างเต็มที่ 

มีโอกาสโชว์ผลงานอยู่พอสมควร โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมคิดนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน เป็นต้น

ในช่วงรอยต่อยุค คสช. ที่กำลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง พรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อ"พลังประชารัฐ" ก็ตั้งขึ้น โดยมีกลุ่ม 4 กุมาร นำโดย นายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค ช่วงก่อตั้งเวลานั้นแทบจะเห็น นางนฤมล ตามติดนายอุตตม ไปทุกที่ มีสัมภาษณ์นายอุตตมเมื่อใด ก็จะเห็นนางนฤมลยืนเป็นวอลเปเปอร์อย่างไรอย่างนั้น 

ด้วยแรงผลักดันสำคัญจากนายสมคิด ทำให้นางนฤมล มีชื่อเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ในลำดับที่ 5 ชนิดที่อยู่ในลำดับดีกว่านักการเมืองตัวเก๋าหลายคน มีส่วนร่วมในการคิดนโยบายหาเสียงของพรรค จนได้เป็น ส.ส.เข้าไปทำหน้าที่ในสภาอยู่ระยะหนึ่ง

อ่านข่าว : นายกฯเผยสบายใจ หลังปลดธรรมนัส-นฤมล เพื่อผลดีในการทำงาน

ชีวิตทางการเมืองของนางนฤมล ก็เรียกว่าพบกับจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อเป็น ส.ส. และเข้ามาอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ ได้รู้จัก สร้างความคุ้นเคยกับ ร.อ.ธรรมนัส ในขณะนั้น สะท้อนความสัมพันธ์การเมืองของทั้งคู่ได้ชัดเจน เมื่อนางนฤมลได้ร่วมติดตาม ร.อ.ธรรมนัส ไปช่วยปราศรัยหาเสียงให้นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้สมัครของพรรค ในการเลือกตั้งซ่อมที่จ.เชียงใหม่ เขต 8 ช่วงกลางเดือน พ.ค.62 

ทำให้ทั้งสองคนกลายเป็นมิตรในทางการเมือง จนถึงช่วงที่พล.อ.ประยุทธ์  ฟอร์มรัฐบาล และหาตัวคนเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คนในพลังประชารัฐบางส่วน รู้ดีว่า ร.อ.ธรรมนัสเห็นโอกาสส่งคนของตัวเองเข้าไปใกล้ชิดนายกฯ จึงสนับสนุนนางนฤมล จนคว้าตำแหน่งโทรโข่งรัฐบาลสำเร็จ แลกกับการทิ้งเก้าอี้ ส.ส. ชนิดที่แทบจะไม่ต้องคิด เพราะรู้แล้วว่าโฉมหน้าของครม.ประยุทธ์ ชุดแรกหลังเลือกตั้ง ไม่มีชื่อของเธอ

การเป็นโฆษกรัฐบาลของนางนฤมลไม่ค่อยราบรื่นนัก ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานอยู่เสมอกระแสกดดันเหล่านี้นอกจากจะพุ่งตรงไปที่ตัวพล.อ.ประยุทธ์ จนเริ่มออกอาการไม่ปลื้มในตัวลูกน้องคนนี้ และในช่วงท้ายๆ ของการเป็นโฆษกรัฐบาล ดูเหมือนนางนฤมลจะเจอลู่ทางได้เข้าไปใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ก่อนจะเข้าไปมีตำแหน่งในพลังประชารัฐ กระทั่งกลายเป็นคนโปรดของพี่ใหญ่ในที่สุด

ช่วงที่การเมืองภายในพลังประชารัฐร้อนระอุ มีการกดดันขับไล่กลุ่ม 4 กุมาร ให้พ้นจากพรรคเพื่อหวังครอบครองเก้าอี้เสนาบดีที่ว่างลง พร้อมๆ กับการขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคของพล.อ.ประวิตร ในเวลาต่อมา

ตอนนั้นนางนฤมล เปิดเผยตัวตนชัดเจนแล้วว่า เลือกอยู่กับขาใหญ่พลังประชารัฐ และชิ่งจากกลุ่ม 4 กุมาร และนายสมคิดที่ปลุกปั้นดึงเข้าสู่เส้นทางการเมือง

 

 

นับว่าช่วงนั้น นางนฤมลขึ้นหม้อสุดๆ เมื่ออยู่ข้างกาย พล.อ.ประวิตร ด้วยความที่ดูแลเอาใจใส่พล.อ.ประวิตร แทบจะทุกฝีก้าว ประกบติดไม่ห่าง โดยเฉพาะในมูลนิธิป่ารอยต่อฯ เป็นเหมือนยิ่งกว่าเลขาฯส่วนตัว เห็นความเคลื่อนไหวทุกฝีก้าวของนักการเมืองในพรรค และใครต่อใครที่เข้านอกออกใน ถึงขนาดคอยจัดคิวเข้าพบ 

ถึงขนาดมีเสียงเล่าลือว่า คนระดับคีย์แมนหลายระดับที่เข้ามาพบพล.อ.ประวิตร เพื่อคุยธุระส่วนตัว หรือคุยเรื่องสำคัญใดๆ ก็ตาม ก็มักจะมีนางนฤมล นั่งร่วมอยู่ด้วยในวงสนทนา ชนิดที่ไม่ยอมลุกหนีไปไหน 

กระทั่ง นางนฤมลได้เป็นรมช.แรงงาน ด้วยการสนับสนุนของ พล.อ.ประวิตร และ ร.อ.ธรรมนัสซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ "กลุ่ม 4 ช." ที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการ 4 คน ทั้งที่ ใจลึกๆ ของนางนฤมล หมายมั่นปั้นมืออยากนั่งในตำแหน่ง รมช.คลัง ตั้งแต่หลังเลือกตั้ง เพราะมั่นใจในผลงานที่มีส่วนร่วมคิดนโยบายให้กับรัฐบาลประยุทธ์ตั้งแต่ยุค คสช.

ทว่าด้วยชื่อชั้นและฝีไม้ลายมือ ที่ยังห่างชั้นกับกลุ่ม 4 กุมารหลายขุม จึงเป็นได้แค่แถวสองที่แทบจะถูกมองข้าม แต่เมื่อมาอยู่กับ พล.อ.ประวิตร ทุกอย่างจึงเปลี่ยนไป 

การก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ของร.อ.ธรรมนัส ขุมกำลังของกลุ่ม 4 ช. ก็แผ่อิทธิพลกว้างขวางจนอาจเรียกว่าคับพรรค ทำให้มีความฮึกเหิมเต็มเปี่ยมในกำลังต่อรองกับพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเขย่าเก้าอี้อัพเกรดเป็นรัฐมนตรียกแผง 

เป้าใหญ่คือ รมว.มหาดไทย ที่ร.อ.ธรรมนัส หมายตา ส่วนนางนฤมล เล็งอัพขึ้นเป็นรมว.ศึกษาธิการ 

การเปิดเกมรุกเคลื่อนไหวแบบชัดเจนนี่เอง ที่ทำให้หลายคนเห็นเจตนาที่แท้จริงของคนกลุ่มนี้ ที่ใช้จังหวะอภิปรายไม่ไว้วางใจ สร้างเงื่อนไขต่อรอง แอบอ้างในเรื่องที่ไม่สมควร รวมถึงพฤติกรรมอื่นๆ ก่อนหน้านั้น ที่ผู้ใหญ่หลายคนไม่ปลื้ม

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ที่เคยเป็น 1 ใน กลุ่ม 4 ช. ไหวตัวทัน ชิงสละเรือจาก 4 ช. มาพักใหญ่ และออกตัวช่วยนายกฯ ในการล็อบบี้เสียงโหวตสนับสนุนในการอภิปรายฯ 

ในที่สุด ปฏิบัติการตอบโต้ดั่งสายฟ้าฟาด หวดลงมาที่ ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล แบบตัดขาดเยื่อใย นายกฯ ปลดพ้นรัฐมนตรีกลางอากาศ เบื้องหลังสำคัญที่ทำให้ทั้ง 2 คนเจอบทสรุปเช่นนี้ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าเจ้าตัว ว่าที่ผ่านมา คิดและทำอะไรลงไป และหวังผลอะไร 

ทุกความเคลื่อนไหวของ ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล ถูกลิสต์เอาไว้ในบัญชีแค้นทั้งหมด และได้รับการชำระสะสางอย่างรวดเร็ว

เรียกว่า เส้นทางทางการเมืองของนางนฤมล ในช่วง 3 ปี ในสีเสื้อพลังประชารัฐ กราฟชีวิตของเธอขึ้นสุด ลงสุด เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ในระยะเวลาอันสั้น ทุกย่างก้าวที่ผ่านมา คนที่รู้จักเธอคงสัมผัสได้ถึงความมุมานะ ทะเยอทะยาน เพื่อสิ่งที่ดีกว่าเสมอ

จากที่ประเดิมชิมลางเป็นนักการเมืองได้เพราะนายสมคิด ได้ขึ้นชั้นเป็นรัฐมนตรี เพราะพล.อ.ประวิตร และร.อ.ธรรมนัส

สุดท้าย โชคชะตาพลิกผัน ตกเก้าอี้รัฐมนตรี ด้วยคนชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ 

ชื่อที่ ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล จะไม่มีวันลืมไปตลอดชีวิต พร้อมๆ กับบทเรียนทางการเมืองที่ต้องจดจำ ไม่มีวันลืม