เกมยื้อ “แก้รัฐธรรมนูญ” ฉบับ “เพื่อพวกเรา”

เกมยื้อ “แก้รัฐธรรมนูญ” ฉบับ “เพื่อพวกเรา”

208เสียงที่เห็นชอบ กับ "ร่างรัฐธรรมนูญ" วาระสาม ไม่เพียงพอ ถนนของ "ส.ส.ร." ได้ก่อร่างสร้าง ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สิ่งที่สะท้อนในภาพอย่างแจ่มชัด คือ กลไกข้างมาก ขวางการแก้กติกาที่เอื้อเพื่อพวกเรา

แม้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" จะยืนยันหน้าที่ และอำนาจของรัฐสภา ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าทำได้ แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ “ต้องทำประชามติ” ถามประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเสียก่อน

แต่สิ่งที่ “รัฐสภา” พิจารณาตีความเนื้อหา แจ่มชัดในประเด็นที่ ตัวแทน “วุฒิสภา” ​ระดับคีย์แมนฝ่ายเคลื่อนไหวแปลความว่า ด้วยกระบวนการใดๆ ของรัฐสภาไม่มีทางที่จะโอนอำนาจการแก้ไขไปให้กับ “ตัวแทนของประชาชน” ในนามของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ" หรือ ส.ส.ร. ได้โดยง่าย

ตามที่เนื้อหาร่างแก้ไขกำหนดไว้ ดังนั้นการลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่สมควรเดินหน้าต่อด้วยเหตุผลใดๆ ทั้งปวง

  

161599955793

จึงมองเป็นภาพเชิงประจักษ์จาก “ฝ่ายค้าน” ได้ว่า เป็นความต้องการรวบอำนาจ-คุมการแก้ไข โดยฝั่ง เสียงข้างมากในรัฐสภา เพื่อปกป้องกติกาและกลไกต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐเชื่อมั่นว่า ทำให้พวกเขาได้เปรียบในเกมการเมืองมากที่สุด

นับตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” โดยเฉพาะ “ประชาธิปัตย์” ทวงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในนโยบายรัฐบาลเร่งด่วน และเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเข้าร่วมรัฐบาล ผสมโรงกับพรรคฝ่ายค้านที่ต้องการเดินหน้าแก้ไข

ในครั้งนั้นรัฐบาลไฟเขียวให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และส่ง “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานเพื่อคุมเกม

  

161599946092

รอบนั้น "ยื้อกระบวนการได้รวมๆ 4 เดือน" ก่อนจะได้รายงานที่ไร้ทิศทางซึ่งเป็นบทสรุปที่สังคมคาดหวัง มีเพียงแค่ศึกษาประเด็นที่เป็นปัญหาและสรุปเป็นการแก้ไขรายมาตรา

ในการศึกษาครั้งนั้นต้องยอมรับว่าทำให้สภาฯ คิกออฟประเด็นแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านการยื่นญัตติของ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล กระทั่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา วันที่ 23 -24 กันยายน 2563

ทว่าขณะนั้น การอภิปรายและแนวโน้มการรับหลักการของร่างแก้ไขของรัฐสภาถูกเตะเบรกโดย “วุฒิสภา” ที่มองว่าควรให้เวลาได้ศึกษาเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติให้รอบด้านก่อนลงมติ

ผลที่ออกมาคือ การได้กรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ก่อนรับหลักการ ที่มี “วิรัช รัตนเศรษฐ" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน

สามารถ “ยื้อเวลาออกไปได้อีกเดือนครึ่ง” ก่อนที่รัฐสภาจะลงมติรับหลักการ 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหา แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.

ซึ่ง กมธ.ใช้เวลาพิจารณาเกือบ 3 เดือน ก่อนจะผ่านพิจารณาวาระสอง แต่ต้องมาสะดุดเพราะญัตติของ “ฝ่ายเสียงข้างมาก” ที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอำนาจ และหน้าที่ของรัฐสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

กระทั่งกลายเป็นประเด็นที่ทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาต้องสะดุด เพราะคำวินิจฉัยมีเนื้อหาที่แปลความได้หลากหลายมุม

หากนับเวลาที่กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญถูกยื้อตั้งแต่ต้นมาจนถึงปัจจุบัน กินเวลาไปแล้ว 1 ปี 3 เดือน

 

1615999761100

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกมยื้อแก้รัฐธรรมนูญตลอดเส้นทางที่ผ่านมา ฝ่ายที่ได้ประโยชน์เชิงบวกมากที่สุดคือ “รัฐบาล” ที่มี "พรรคพลังประชารัฐ” เป็นแกนนำ ในเมื่อ “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา”