เปิดคำสั่งศาล ระบุ ไลฟ์สดวัคซีนโควิด 'ธนาธร' ไม่ชัดเจนผิด ม.112

เปิดคำสั่งศาล ระบุ ไลฟ์สดวัคซีนโควิด 'ธนาธร' ไม่ชัดเจนผิด ม.112

ศาลยกคำร้อง 'ดีอีเอส' ไม่ระงับคลิปไลฟ์สด 'ธนาธร' วิจารณ์รัฐบาลเรื่องวัคซีนโควิด พาดพิงสถาบันฯ ชี้ไม่ชัดเจนผิดมาตรา 112 

8 ก.พ. 2564 ที่ห้องพิจารณา 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำ พศ.76/2564 ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปวิดีโอไลฟ์สดทางเว็บไซต์ จำนวน 3 URL ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ผู้คัดค้าน ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐบาล โดยมีส่วนหนึ่งพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ 

คดีนี้เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ระงับ อ้างเนื้อหาเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม ป.อาญา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3) ศาลไต่สวนพยานผู้ร้องแล้วมีคำสั่งให้ระงับ ต่อมาผู้คัดค้านยื่นคำร้องลงวันที่ 1 ก.พ. 2564 ขอให้เพิกถอนคำสั่ง อ้างคำร้องของผู้ร้องไม่ชัดเจน เนื้อหาของข้อมูลมิได้เป็นความผิด ใช้สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ และการพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่และศาลมิได้มีการให้โอกาสผู้คัดค้านที่จะโต้แย้ง อันขัดต่อหลักการฟังความทั้งสองฝ่าย ศาลรับคำคัดค้านและเรียกไต่สวนคู่ความทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2564 เสร็จสิ้น 

ศาลนัดฟังคำสั่งในวันนี้ ซึ่งมีผู้แทนดีอีเอสและทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายธนาธรเดินทางมาศาล ส่วนนายธนาธรไม่ได้เดินทางมา 

ศาลพิเคราะห์แล้ว คดีมีเหตุให้รับคำคัดค้านไว้พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า การออกคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยชัดแจ้งและถาวร เมื่อสิ้นสุดกระบวนการแล้วไม่มีโอกาสให้ผู้ใดได้โต้แย้งอีกต่อไป การอนุโลมใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ถูกต้องแก่คำร้องเช่นนี้ สมควรที่จะรับพิจารณาเสมือนหนึ่งเป็นคดีอาญาคดีหนึ่ง ซึ่งต้องให้โอกาสคู่ความทุกฝ่ายได้ต่อสู้คดีเท่าที่จะเป็นไปได้

ทั้งนี้ การให้โอกาสดังกล่าวยังเป็นหลักการสำคัญสำหรับการทำงานขององค์กรตุลาการตามหลักนิติธรรม ดังนั้น สำหรับคดีนี้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลในวันที่ 29 ม.ค. 2564 และศาลไต่สวนพยานผู้ร้องฝ่ายเดียวแล้วมีคำสั่งในทันทีเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ จึงมีเหตุให้รับคำคัดค้านของผู้คัดค้านไว้เพื่อพิจารณา

ประเด็นมีเหตุสมควรระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์เรื่องนี้หรือไม่ เห็นว่า เมื่ออ่านถ้อยคำในมาตรา 14 (3) ซึ่งกำหนดความผิดสำหรับการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญานั้น เห็นว่าถ้อยคำที่ว่า “อันเป็นความผิด” แสดงว่ากฎหมายประสงค์จะลงโทษผู้ที่นำข้อมูลซึ่งได้มีการวินิจฉัยโดยชัดแจ้งแล้วว่าเป็นความผิดเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อมิให้ความผิดตามมาตรา 14 (3) ซ้ำซ้อนกับกับความผิดประมวลกฎหมายอาญาที่มีโทษสูงกว่าอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อยังไม่มีการฟ้องเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามคำร้องนี้ให้รับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา จึงไม่มีกรณีต้องวินิจฉัยตามมาตรา 14 (3) และไม่เข้าเหตุตามมาตรา 20 (1) 

มีข้อพิจารณาต่อไปว่ากรณีตามคำร้องจะเข้าเหตุตามตามมาตรา 20 (2) หรือไม่ สำหรับการพิจารณาในชั้นนี้ ศาลพิจารณาเฉพาะตัวข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏว่าเฉพาะข้อมูลนั้นว่าอาจกระทบต่อความมั่นคงอันสืบเนื่องจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ การวินิจฉัยคดีนี้จึงไม่เป็นการวินิจฉัยว่าผู้ใดจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 หรือไม่

ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องและศาลที่มีเขตอำนาจจักได้พิจารณาต่างหากไป และเมื่อมีคำพิพากษาให้บุคคลรับผิดทางอาญาแล้ว จึงมีผลให้ศาลอาจสั่งระงับ คดีมีข้อพิจารณาคำว่าอาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มีความหมายเพียงไร สมควรต้องแปลความโดยพิจารณากรอบของรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ซึ่งบัญญัติบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ย่อมมีความหมายว่าการห้ามหรือระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลเป็นข้อยกเว้น การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะทำได้เมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองประโยชน์อันชอบธรรมของรัฐ และการจำกัดสิทธิเสรีภาพต้องได้สัดส่วนกับความจำเป็น จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดและเป็นภาวะวิสัย การพิจารณาว่าข้อความใดจะเป็นข้อความที่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะต้องพิจารณาจากข้อความทั้งหมดมิใช่พิจารณาเฉพาะตอนหนึ่งตอนใด

จากข้อความที่ผู้คัดค้านนำเสนอนั้น เนื้อหาเกือบทั้งหมดมุ่งเน้นในเรื่องการกล่าวหารัฐบาลว่าบกพร่องในการจัดหาวัคซีน โดยมีการนำข้อมูลหลายอย่างมาสนับสนุน ซึ่งมีการบรรยายถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องหลายบริษัท รวมทั้งกล่าวถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นด้วย ข้อมูลที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ระบุเกี่ยวกับการถือหุ้นเป็นเพียงข้อมูลส่วนน้อยและไม่ใช่ประเด็นหลักของการนำเสนอ เมื่อพิจารณาถึงข้อความที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะเจาะจง ในส่วนแรกเป็นการกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งความข้อนี้ผู้คัดค้านนำสืบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเอกสารราชการและผู้ร้องไม่ได้คัดค้าน จึงฟังว่าเป็นความจริง ข้อเท็จจริงเพียงว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือหุ้นบริษัทดังกล่าว มิได้ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง หรือไม่เป็นที่เคารพสักการะแต่อย่างใด

สำหรับในส่วนที่สอง เป็นส่วนเสริมจากข้อมูลส่วนใหญ่ของการนำเสนอที่กล่าวหารัฐบาลว่าผิดพลาดในการให้วัคซีนเกือบทั้งหมดถูกผลิตในบริษัทเดียว การกล่าวอ้างถึงคำถามต่อประชาชนต่อสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งอาจกระทบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นการชักชวนให้ประชาชนกล่าวโทษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่โดยลักษณะของข้อความที่สืบเนื่องกันมามีลักษณะเป็นการกล่าวหาว่า การกระทำของรัฐบาลจะกระทบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้คนฟังรู้สึกว่าความบกพร่องของรัฐบาลเป็นเรื่องร้ายแรง ด้วยลักษณะของการนำพระมหากษัตริย์มาอ้างเพื่อให้รัฐบาลรับผิดชอบมากขึ้น จึงไม่ได้มีการกล่าวถึงกรรมการผู้จัดการของบริษัท เพราะไม่ได้มุ่งเน้นความรับผิดของบริษัท คดีนี้มิใช่การพิจารณาความผิดของผู้คัดค้าน และจักต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัด คือข้อความที่สมควรถูกห้ามนั้นต้องมีความชัดแจ้งที่จะเป็นความผิด ซึ่งเมื่อพิจารณาแต่เฉพาะถ้อยคำตามตัวอักษรข้อความที่ผู้คัดค้านกล่าวสืบเนื่องมาทั้งหมดของเรื่องนี้ ยังไม่สามารถเห็นได้อย่างกระจ่างชัดเจน ว่าจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด 

ในส่วนการนำเสนอของผู้คัดค้านมีข้อความหัวเรื่องว่า“ วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย” ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นคำพูดที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดทำนองนี้ และหน่วยงานของรัฐบาลเคยใช้คำนี้ ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ผู้ร้องมิได้โต้แย้ง ข้อเท็จจริงจึงฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่ผู้คัดค้านนำสืบ ทั้งนี้ แม้ว่าถ้อยคำอาจไม่ตรงกันทั้งหมด แต่น่าจะแสดงว่าก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลได้มีการใช้ถ้อยคำที่แสดงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประกอบการจัดหาวัคซีนแล้ว การที่ผู้คัดค้านนำข้อความดังกล่าวมานำเสนอจึงมิใช่ความเท็จ และลำพังข้อความดังกล่าวหากมิใช่ความเท็จก็ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระองค์ จึงไม่ใช่การใส่ความ 

เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดแล้ว แม้ว่าผู้คัดค้านจะบรรยายว่าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด แต่ก็มิได้มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นชัดเจนเป็นการกล่าวหา หรือตำหนิติเตียน หรือกล่าวให้สงสัยในความสุจริตต่อพระองค์ไม่ว่าในทางใดๆ จึงไม่มีลักษณะชัดเจนและเห็นได้ในทางภาวะวิสัยที่แสดงว่าข้อความนี้อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันจะเป็นเหตุให้ศาลสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การไต่สวนและมีคำสั่งของศาล ซึ่งย่อมมีผลให้คำสั่งศาลในวันที่ 29 ม.ค. 2564 เป็นอันสิ้นผล และมีคำสั่งยกคำร้อง